ไทยกระอัก! นักบิน-วิศวกรสมองไหลไปต่างประเทศ แนะเร่งแก้ไข
2016-03-15 23:16:13
Advertisement
คลิก!!!

 น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวถึงปัญหานักบินสมองไหลออกไปทำงานต่างประเทศว่า เกิดจากสายการบินในต่างประเทศให้ค่าตอบแทนสูงกว่า หากจะแก้ปัญหาสายการบินในไทยต้องปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้เท่ากับคู่แข่งทั้งเงินเดือนและสวัสดิการ

 

 

 

 ส่วนการแก้ไขปัญหานักบินขาดแคลนในระยะยาว ควรดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือระยะสั้นเปิดรับนักบิน ส่วนระยะยาวคือเตรียมการด้านบุคลากร ให้ทุนการศึกษาสำหรับเรียนนักบิน ซึ่งสายการบินต้องสร้างบุคลากรขึ้นเองและต้องใช้เวลา เพราะการผลิตนักบินไม่สามารถเพิ่มแบบก้าวกระโดดได้ การเรียนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเป็นนักบินฝึกหัดและใช้เวลาอีก 2-3 ปีเพื่อเป็นนักบินผู้ช่วย จากนั้นใช้เวลาอีก 5-10 ปีเพื่อเป็นกัปตัน


 ด้าน น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ สบพ. กล่าวว่า นักบินเริ่มขาดแคลนทั่วโลก เพราะนักบินยุคแรกเริ่มเกษียณและคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะเป็นนักบินลดลง เนื่องจากอาชีพอื่นๆ รายได้ดีกว่า เช่น แพทย์ ส่วนในไทยยังมีความต้องการเรียนด้านการบินสูงแต่ค่าเรียนแพง


 ขณะที่การผลิตมีมาตรฐานที่เข้มงวดตามหลักสากล โดยการฝึกอบรมด้านการบินครูการบิน 1 คนสามารถดูนักเรียนได้ไม่เกิน 6 คน รวมทั้งเรื่องอาคารสถานที่ในการฝึกอบรม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันสบพ.สามารถผลิตนักบินได้ปีละ 100-120 คน ขณะที่ความต้องการนักบินสูงถึงปีละ 400-500 คน


 “บริษัท โบอิ้ง คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศในอาเซียนมีความต้องการนักบินอีก 57,000 คน โดยอินโดนีเซียต้องการมากที่สุด ขณะที่ไทยมีความต้องการรองลงมา เพราะสายการบินโลว์คอสต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น สายการบินของประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนสร้างบุคลากรด้านการบินเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแย่งซื้อตัวนักบินในอนาคต”


 สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีนักบินรวมทั้งสิ้น 2,500-3,000 คน ซึ่งในแต่ละปีธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบิน และช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000-9,000 คน ไทยสามารถผลิตได้เพียง 300-400 คน/ปี จากความต้องการมากกว่า 400 คน/ปี

 

ที่มา  ข่าวสดออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X