จับชีพจรไวรัสเมอร์สในไทย “อย่าตระหนกแต่ต้องตระหนัก”
2015-06-20 13:43:58
Advertisement
คลิก!!!

นำเสนอข่าวโดยทีมงาน Sanook.com

จากเมื่อวานนี้ที่ตื่นตระหนกกันพอสมควร หลังจากทีมแพทย์ออกมาแถลงว่าพบผู้ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ MERS (เมอร์ส) และในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็มีรายงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้ มีแต่ตั้งแต่บนเครื่องบินมาจนถึงสถานที่พำนักในประเทศไทย

คำถามที่สำคัญ ณ เวลานี้ คงไม่ใช่ตัวเลขจำนวนผู้เสี่ยงติดเชื้อ แต่เราควรถามว่า ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับวิกฤตินี้ ซึ่งถ้าจะนับกันจริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องรับมือกับโรคติดต่ออันตราย

ทางทีมข่าว Sanook! News ได้สอบถามไปยัง นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป (อดีตผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่) เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับข้อมูลที่ทำให้วางใจได้ว่ายังไม่ต้องตกใจจนเกินเหตุ

นพ. รุ่งเรือง อธิบายว่า โรคเมอร์สไม่ได้แพร่ระบาดได้ง่ายอย่างที่คนทั่วไปกำลังกลัว ถ้าจะเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นโรคติดต่อเหมือนกัน ก็ต้องบอกว่าไข้หวัดติดต่อได้ง่ายกว่า เพียงแต่มีความรุนแรงมากกว่า

"ในทางแพทย์เราจะมองอยู่ 2 เรื่อง คือติดต่อง่ายหรือยาก และความรุนแรงของโรคครับ ถ้าเทียบกับโรคติดต่ออื่นๆ ก่อนหน้านี้ ในทางวิชาการแล้วอีโบล่าติดต่อง่ายกว่า และรุนแรงมากกว่า" นพ.รุ่งเรืองกล่าว

สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยรายแรกที่พบในตอนนี้ จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เพราะหลังจากนั้นร่างกายก็จะฟื้นตัว สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค เป็นระบบตามปกติของร่างกาย ดังนั้น เมื่อติดเชื้อแล้วไม่ได้แปลว่าจะเสียชีวิตเสมอไป 
ทั้งนี้ ตามข้อมูลรายงานสถานการณ์ไวรัสเมอร์สในระดับโลก อัตราการป่วยตายอยู่ที่ 10-40% ไม่ใช่ 100% แม้แต่ในประเทศที่มีการระบาดมาก่อน ก็ยังมีอัตราผู้เสียชีวิตที่ไม่สูงมากนัก ที่เกาหลีใต้อยู่ที่ร้อยละ 10-20 ส่วนตะวันออกกลางและทั่วโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 35-40

โดย นพ.รุ่งเรืองได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในไทยเราเองถือว่ามีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เพราะทำได้อย่างรวดเร็ว พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 วันแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ในขณะที่เกาหลีใต้ กว่าจะระบุตัวผู้ป่วยรายแรกได้ก็ต้องใช้เวลาถึง 9 วัน และผู้ป่วยก็เดินทางไปรับการรักษาในหลายๆ แห่ง ทำให้เชื้อแพร่ไปได้ง่าย

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังที่ทำอยู่ ณ ขณะนี้ จะมีตั้งแต่บนเครื่องบิน ลงมาพื้นราบ จนถึงโรงพยาบาล โดยที่สนามบินจะมีการจับตรวจวัดอุณหภูมิ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการที่จะทำให้ตรวจพบผู้ป่วยได้ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยอาจจะไม่แสดงอาการไข้ตั้งแต่วันแรก แต่มันเป็นการสร้างความตระหนัก ทั้งกับคนทั่วไปและผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะป่วยให้รีบไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มของโรคนี้ นพ.รุ่งเรืองยืนยันว่า สถานการณ์จะอยู่ภายใต้การควบคุม เพราะบุคลากรของเรามีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคอื่นๆ ที่แพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้

"ถ้าถามความเห็นหมอที่ทำงานเรื่องนี้มา 10 กว่าปีนะ มันเหมือนไข้หวัดนก เหมือนโรคซาร์ส ประเทศเราจะเจอเชื้อโรคแบบนี้เจนเนอเรชั่นเดียว เราคุมอยู่ อย่างซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ อีโบล่า จนถึงเมอร์สนี่ก็เป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งที่เราต้องเผชิญกับมัน อันนี้มันคือหนังม้วนเดิมที่กลับมาฉายซ้ำ"

ทั้งนี้ โรคเมอร์สถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วในประเทศซาอุดิอาระเบีย และนพ.รุ่งเรืองเองก็คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพร่ระบาดมายังบ้านเรา เพียงแค่รอว่าจะมาถึงเมื่อไรเท่านั้นเอง

"มันเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และเรียนรู้บทเรียน ทั้งหมดมันเป็นวงจรแบบนี้อยู่แล้ว และเราก็ผ่านมาได้ทุกโรค ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องที่ต้องตื่นตระหนก แล้วพอผ่านโรคนี้ไปก็อาจเจอโรคใหม่ มันก็เป็นวัฏจักรของมัน" นพ.รุ่งเรืองอธิบาย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดจะไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพ แต่มันยังส่งผลกับเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศ นอกจากทางสาธารณสุขจะต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้นแล้ว ความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ และประชาชนทั่วไปก็สำคัญไม่แพ้กัน

"เราจะผ่านมันไปได้ด้วยความร่วมมือ อย่างกรณีล่าสุด เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินในการติดตามผู้สัมผัสกับผู้ป่วย เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของหมออย่างเดียว ประชาชนก็ต้องเข้าใจ ไม่กลัวจนเกินเหตุ ผมเพิ่งให้สัมภาษณ์กับรายการหนึ่งไป ก็ถูกถามว่าจะเดินออกไปข้างนอกได้มั้ย ผมบอกว่าโรคมันยังไม่ได้ระบาดเลย คนไม่สบายเขาก็อยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกมาเดินกับเรา"

"ผมแนะนำอย่างแรกคือต้องตั้งสติกันให้ดี อย่าตื่นตระหนก แต่ต้องตระหนัก และติดตามข่าวสาร อย่าไปเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อกันมาในโซเชียลมีเดียที่มันดูไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีที่มาที่ไป ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้คนจะอ่อนไหวง่าย" นพ.รุ่งเรืองกล่าวทิ้งท้าย

 

ขอขอบคุณที่มา  http://www.sanook.com/

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X