เรื่องเล่าสุดประหลาดของ "ยอนมิ พาร์ค" ดราม่าเผด็จการเกาหลีเหนือ เรื่องจริงหรือคำโกหก?
2014-12-14 12:39:50
Advertisement
คลิก!!!

แปล-เรียบเรียงจาก รายงานข่าวของแมรี่ แอน โจลลีย์ เว็บไซต์http://thediplomat.com/

 

เมื่อผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือวัย 21 ปี ยอนมิ พาร์ค ปรากฏตัวบนเวทีระดับโลกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโดยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตแสนรันทด ภายใต้การจำกัด เสรีภาพของระบอบเผด็จการเกาหลีเหนือ และการหลบหนีที่เสี่ยงอันตรายเพื่ออิสรภาพ ทำให้ผู้ฟังหลายคน, ทั้งนักสิทธิมนุษยชน และนักข่าวต้องน้ำตาซึม

 

เธอปรากฏตัวในชุดประจำชาติเกาหลีในการกล่าวปาฐกถาในงานประชุม"วันยังเวิล์ด" ที่กรุงดับลิน ขณะที่เธออยู่บนเวทีเธอต้องหยุดพูดกลางคันหลายครั้ง   เพื่อซับน้ำตาจากใบหน้าของเธอและรวบรวมสติเพื่อเล่าเรื่องราวของการถูกล้างสมองเธอ, การได้ชมการประหารชีวิต, ความอดอยาก และแสงสว่างรำไร

 

ท่ามกลางความมืดเมื่อเธอได้ชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดซึ่งทำเงินมหาศาลอย่าง "ไททานิค" ซึ่งทำให้เธอรับรู้ถึงโลกภายนอกที่ความรักเป็นเรื่องที่เป็นไปได้, รวมถึงการได้เห็นแม่ของเธอถูกข่มขืน, การต้องฝังศพพ่อของเธอเมื่อเธออายุ ได้เพียง 14 ปี และการที่เธอขู่ว่าจะฆ่าตัวตายแทนที่จะยอมให้ทหารมองโกเลียส่งตัวเธอกลับเกาหลีเหนือ เธอเล่าถึงการเดินทางตามดวงดาวเพื่อแสวงหาเสรีภาพ และปิดท้ายด้วยประโยคทองของเธอ "เมื่อฉันต้องเดินข้ามทะเลทรายโกบี ด้วยความหวาดกลัวต่อความตาย ฉันคิดว่าคงไม่มีใครสนใจฉัน แต่คุณได้ฟังเรื่องราวของฉัน, คุณได้เหลียวแลฉันแล้ว"

 

คุณคงไม่ใช่มนุษย์ถ้าไม่รู้สึกอะไรกับเรื่องราวของเธอแต่ (และคุณจะได้ยิน คำว่า "แต่" อีกหลายครั้ง) เรื่องราวของเธอในเกาหลีเหนือมีความจริงเท็จแค่ไหน ยิ่งฉันได้อ่านและชมการให้สัมภาษณ์ของเธอฉันยิ่งพบความไม่สอดคล้องของ เรื่องราวอย่างร้ายแรง เรื่องนี้จะสำคัญสำหรับท่านผู้อ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณ 

 

แต่ฉันคิดว่าหากคนดังเช่นเธอบิดเบือนเรื่องราวเพื่อให้สอดคล้องกับ "เรื่องเล่า" ที่พวกเราคาดหวังที่จะได้ยินจากผู้แปรพักตร์ของเกาหลีเหนือ ทัศนคติของเราต่อเกาหลีเหนือจะเอนเอียงจนเป็นปัญหา เราจะต้องได้รับรู้ภาพการมีชีวิตในเกาหลีเหนืออย่างแท้จริงและถูกต้อง หากเราต้องการจะช่วยเหลือ พวกเขาจากนรกภายใต้ระบอบที่ทารุณ และช่วยเหลือผู้ที่พยายามจะ หลบหนีจริงๆ

 

"คนแปรพักตร์ผู้โด่งดัง"  

 

ฉันพบกับยอนมิ พาร์ค เมื่อสองสามเดือนก่อน ตอนที่ฉันใช้เวลาสองสัปดาห์ ในการถ่ายทำเรื่องราวของเธอและครอบครัว สำหรับรายการของโทรทัศน์เอสบีเอสประเทศออสเตรเลีย เราเรียกชื่อตอนนี้ว่า "คนแปรพักตร์ผู้โด่งดัง" ที่เกาหลีใต้บ้านของเธอในปัจจุบัน พาร์คเป็นหนึ่งในดาราของรายการโทรทัศน์ที่ดำเนินเรื่องโดยสาวๆ เกาหลีเหนือในชื่อ "ขณะนี้ฉันอยู่ระหว่างทาง ที่จะไปเจอเธอ" ซึ่งโจมตี "ราชวงศ์คิม" แห่งเกาหลีเหนืออย่างร้ายแรง สาวๆ  เหล่านี้เล่าเรื่องราวส่วนตัวของพวกเธอขณะที่ใช้ชีวิตในเกาหลีเหนือ และเรื่องราวการเดินทางของพวกเธอสู่เกาหลีใต้ หลายคนบอกพวกเราว่าพวกเขาเป็น คนไร้บ้านและอยู่อย่างอดอยากซึ่งทำให้พวกเธอตัดสินใจหนีมา

 

ท่ามกลางบันทึกเก่าๆ ของรายการมีภาพบางส่วนในวัยเด็กของพาร์คขณะใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้เป็นที่รู้ว่าทำไมเธอจึงถูกเรียกในรายการว่า "ปารีส ฮิลตัน แห่งเกาหลีเหนือ" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ขัดแย้งกับที่เธอได้พูดบนเวทีนานาชาติ

 

ตอนหนึ่งของรายการที่ออกอากาศช่วงต้นปี2013 ได้แสดงภาพของเธอพร้อมกับแม่โผล่ขึ้นมากลางรายการและเธอเล่นมุขว่า "นั่นแม่ฉัน เธอสวยใช่มั้ย ฉันไม่ใช่ปารีส ฮิลตันหรอก แม่ฉันต่างหาก"

 

จากนั้นเธอได้ชี้ไปที่เสื้อและกางเกงลายหมากรุกที่แม่เธอสวมอยู่และพูดว่า"นี่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นหมดเลยนะ" และเสริมว่า "แม่ฉันยังถือถุงชาเนลเดินไปเดินมาในเกาหลีเหนืออีกด้วย" ซึ่งทำให้ผู้ดำเนินรายการอุทานด้วยความประหลาดใจ

 

"มันมีถุงชาเนลในเกาหลีเหนือด้วยรึ" พาร์คตอบว่ามีสิ เขาจึงได้หันไปถามผู้หญิงอีกคนว่าครอบครัวของพาร์คถือว่ารวยรึเปล่า เธอตอบกลับมาว่า "ใช่ ถูก แล้ว" พาร์คบอกกับเราในการสัมภาษณ์ว่าพ่อของเธอเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน เช่นเดียวกับผู้ชายคนอื่นๆ ในครอบครัว เธอตั้งใจที่จะเรียนแพทย์และแต่งงานกับชายที่มีฐานะเสมอกันหรือสูงกว่า เธอเล่าถึงพ่อ โดยบอกว่าพ่อของเธอเป็นคนที่ "เป็นเสรีนิยมมากๆ" และมักจะวิจารณ์การปกครองของประเทศ

 

 

บ่อยครั้ง  เธอบอกว่าเวลามีรายงานกิจกรรมประจำวันของคิม จอง อิล ทางโทรทัศน์ และผู้ประกาศพูดว่า "ด้วยความกรุณาจากท่านผู้นำ พวกเราจึงได้มีชีวิตอันแสนสุขเช่นนี้" พ่อของเธอบางครั้งพูดขึ้นมาว่า "เฮ้ย หุบปากสักที, ใครก็ได้ปิดทีวีหน่อย" แม่ของเธอมักจะด่าเขาประจำเวลาพูดแบบนี้ต่อหน้าเธอและพี่สาวของเธอ  เธอจึงได้เรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องอันตราย ที่จะวิจารณ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของท่านผู้นำ รวมทั้งการนำเอาความไม่จงรักภักดีของพ่อเธอไปบอกเล่าให้คนอื่นฟัง

  

แม่ของพาร์คเล่าให้เราฟังว่าวันหนึ่งสามีของเธอได้ชี้ไปที่รูปของคิม อิล ซุง และ คิม จอง อิล ที่แขวนบนกำแพงบ้านของพวกเขาและพูดว่า "ปัญหาของประเทศมาจากไอ้สองคนนี่แหละ" เธอบอกว่าเธอกลัวเหลือเกินว่าสามีของเธอ จะไปพูดเช่นนี้นอกบ้าน แต่ก็บอกว่าเธอรู้จักคนอื่นสักสองสามคนที่คิดเหมือนกับสามีเธอเช่นกัน   ผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือรายอื่นๆ จากเมืองเฮซัน ทางเหนือของประเทศติดกับประเทศจีน ที่ซึ่งพาร์คและครอบครัวหนีจากมาเช่นกัน กล่าวว่าหลัง เกิดสภาวะอดอยากในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 เกิดความไม่พอใจไปทั่วบ้านทั่ว ฃเมือง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่แพร่งพรายและพูดคุยเรื่องนี้กับเฉพาะคนในครอบครัว

 

พาร์คเกิดในปี1993 เธอโตขึ้นมาในช่วงที่สภาวะอดอยากอยู่ในจุดสูงสุด เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาในกรุงโซล ณ งานซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มอิสรภาพเกาหลีเหนือ   กลุ่มเอ็นจีโอที่คอยช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เธอได้กล่าวกับผู้ฟังในงานว่า เธอไม่ได้สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวของตระกูลคิม ตอนเธอยังเป็นนักเรียนในโรงเรียน และกล่าวว่า "มันไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจสำหรับฉัน เพราะฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ เล่นสนุกกับเพื่อนๆ อย่างการไปปีนเขา, ไปเที่ยวริมแม่น้ำ ว่ายน้ำเล่นกัน...."

 

ตอนที่เธออายุ 9 ขวบ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงปี 2002 เธอบอกว่าเธอเห็นแม่ของเพื่อนรักของเธอถูกประหารกลางสนามกีฬาในเมืองเฮซัน แต่จากการสอบถามผู้แปรพักตร์หลายคนจากเมืองเฮซัน ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการเปิดเผยตัวเนื่องจากกลัวถูกปองร้ายกล่าวว่า การประหารในที่สาธารณะจะมีขึ้นในเขตนอกเมืองซึ่งส่วนใหญ่จะมีขึ้นที่สนามบิน ไม่เคยมีการประหารในสนามกีฬาหรือบนท้องถนน และไม่เคยมีการประหารในสาธารณะอีกเลยนับแต่ปี 2000 ครั้งสุดท้าย ที่พวกเขาจำได้คือการประหารหมู่ 10-11 รายในปี 1999

 

ในการเล่าเรื่องนี้ของพาร์ค เธอได้เปลี่ยนสาเหตุที่แม่ของเพื่อนเธอถูกประหารไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าเธอเล่าให้ใครฟัง ในยุโรปเมื่อไม่นานมานี้เธออ้างว่าสตรีรายนี้ถูกประหารเพราะดูหนังเรื่องเจมส์ บอนด์ บางครั้งไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้ง เพียงแต่บอกว่าเป็นหนังฮอลลีวูด แต่เมื่อเธอไปพูดที่ฮ่องกงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เธอบอกกับผู้ฟังว่าสตรีรายนี้ถูกจับกุมเพราะดูหนังเกาหลีใต้ นักข่าวจากไอริช   อินดิเพนเดนท์ นิโคลา แอนเดอร์สัน ถึงกับสับสนเมื่อสัมภาษณ์เธอผ่านระบบ  ออนไลน์โดยถามเธอว่า "มันเป็นหนังจากเกาหลีใต้ใช่มั้ย" พาร์คตอบกลับไปว่า "ไม่ใช่ หนังฮอลลีวูด, เจมส์ บอนด์ ต่างหาก"

 

หนึ่งในผู้ที่รู้เรื่องราวของเกาหลีเหนือมากที่สุดในโลกคือ อังเดร ลานคอฟ    จากมหาวิทยาลัยกุกมินในกรุงโซลเกาหลีใต้ เขาเกิดในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เคยเรียนที่เกาหลีเหนือในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนในช่วงทศวรรษ  1980 และได้สัมภาษณ์ผู้แปรพักตร์นับร้อยรายในการทำงานวิจัยของเขา กล่าวว่า "ผมรู้สึกข้องใจอย่างมากที่มีคนพูดว่า การดูหนังตะวันตกจะมีโทษถึงประหาร การถูกจับกุมผมว่าเป็นไปได้ แต่ก็ไม่น่าจะเกิดเรื่องเช่นนั้นได้"

 

เขาบอกว่าการก่ออาชญากรรมที่นำไปสู่การประหารในที่สาธารณะคือ "ฆาตกรรม, โจรกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการโจรกรรมต่อทรัพย์สินของรัฐ,  บางครั้งเป็นกรณีการค้าของเถื่อนครั้งใหญ่ รวมถึงการค้ามนุษย์"

 

สตรีวัย 59 ปี จากเมืองเฮซัน ซึ่งหลบหนีออกมาเมื่อปี 2009 ถึงกับกลั้นหัวเราะไม่อยู่เมื่อเราถามว่าเคยมีใครถูกประหารเพราะดูหนังอเมริกันหรือไม่ 

 

"จะมีคนถูกประหารเพราะดูหนังอเมริกันได้ยังไง แค่พูดออกมาได้ก็บ้าแล้ว  มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉันไปโบสถ์กับพวกแปรพักตร์อีก 350 คน เธอจะไปถามคนพวกนี้ก็ได้ ใครๆ ก็คงตอบเหมือนฉัน" เธอบอกกับเราทางโทรศัพท์จากเกาหลีใต้ ผู้แปรพักตร์รายอื่นๆ ก็ยืนยันเช่นกัน เธอบอกว่าใครก็ตามที่ถูกจับได้ว่าดูหนังเกาหลีใต้ไม่มีใครถูกประหารแต่จะถูกคุมขัง 3-7 ปี ในศูนย์ปรับพฤติกรรมซึ่งควบคุมนักโทษด้วยวิธีการที่ทารุณ "คุณไม่รู้หรอกว่าคุณจะตายเมื่อไหร่" เธอกล่าว

 

ในปี 2003 เมื่อเธออายุได้ 10 ปี พาร์คได้เล่าถึงโลกอันสวยงามของเธอซึ่งล่มสลายลงเมื่อพ่อของเธอถูกจับในกรุงเปียงยางจากการทำการค้าโดยผิดกฎหมายจากคำสัมภาษณ์ของแม่ของพาร์ค สามีของเธอเริ่มทำการค้าโดยผิดกฎหมายกับจีนในปี 1999 หลัง คิม จอง อิล ยุติการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคและยกเลิกการจารกรรมทางธุรกิจ โทษของเขาทำให้ครอบครัวของเขาทั้งครอบครัวต้องกลายเป็นอาชญากรเช่นกัน และทำให้สถานะทางสังคมของพวกเขาต้องดิ่งเหว "ชะตากรรมของพวกเรามันชัดเจน ฉันคงต้องไปทำนา ฉันคงไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนในมหาวิทยาลัยอีก" พาร์คบอกกับเรา

 

พาร์คบอกว่า โทษจำคุกของพ่อเธอคือ 17-18 ปี ขณะที่แม่ของเธอเปิดเผยว่า โทษจำคุกของเขาตอนแรกอยู่ที่ 1 ปี ก่อนที่จะถูกเพิ่มเป็น 10 ปี ความแตกต่างในจำนวนปีที่ต้องรับโทษของเขาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่เรื่องราวต่อจากนี้ไปของพวก เธอเริ่มที่จะมืดมนกลับขาดความต่อเนื่องกลมกลืน

 

แม่ของพาร์คบอกกับเราว่าอัยการทำการสืบสวนเธอครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลากว่าหนึ่งปี บางครั้งในบ้านที่เฮซันบางครั้งต้องไปสอบสวนที่อื่น เนื่องจากเธอมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจกันสามีของเธอ แต่จากการให้สัมภาษณ์ของพาร์คกับ บีบีซีเรดิโอวัน พาร์คอ้างว่าแม่ของเธอถูกจำคุกหกเดือนเนื่องจากแม่ของเธอเดินทางกลับบ้านเกิดหลังจากพ่อของเธอถูกจองจำ "ด้วยเหตุที่เกาหลีเหนือไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการแสดงออก การเดินทางกลับบ้านของแม่ฉันจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำให้เธอต้องติดคุกถึงครึ่งปี"

 

เมื่อเธอให้สัมภาษณ์กับเรา เธอได้บอกเรื่องราวการเอาชีวิตรอดของเธอและพี่สาวตามลำพัง ซึ่งขณะนั้นทั้งสองยังมีอายุเพียง 9 ปี และ 11 ปีว่า "เราไม่ได้ไปโรงเรียน...เราต้องไปที่ริมแม่น้ำ อาบน้ำและซักผ้าที่นั่น และต้องขึ้นภูเขาเพื่อไปหาหญ้ากิน" แต่เมื่อให้สัมภาษณ์กับบีบีซี พาร์คอ้างว่าพี่สาวของเธอย้ายไปอยู่บ้านลุง และเธอก็ไปอยู่กับป้าในย่านชนบทราวสามปี เธอเล่าถึงการที่เธอต้องกินอาหารป่าขณะอยู่กับป้าว่า "ฉันต้องกินอะไรบางอย่างคล้ายกับหญ้า  บางครั้งก็พวกแมลงปอ....อะไรก็ตามที่จะหากินได้ในตอนนั้น" 

 

เพียงสองวันหลังจากนั้น เธอบอกกับไอริช อินดิเพนเดนท์แบบเดียวกับที่บอกกับเราว่าเธอและพี่สาวต้องอยู่กันสองคนต้องเรียนรู้ที่จะหาอาหารและปรุงอาหารด้วยตัวเอง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า "มีผู้ใหญ่สักคนมั้ยที่รู้ว่าพวกคุณสองคนต้องอยู่กันตามลำพัง" พาร์คตอบว่า "ไม่เลย ผู้คนกำลังจะตาย ไม่มีใครมาสนใจพวกเราหรอก  ฉันเห็นคนตายมากมายบนท้องถนนและก็ไม่มีใครที่จะสามารถช่วยเหลือใครได้"

 

แต่เมื่อกับไปดูบันทึกของรายการทีวีของเกาหลีใต้ที่เคยกล่าวข้างต้นในตอนเดียวกัน เมื่อผู้ดำเนินรายการพูดขึ้นว่า "เวลาเราพูดถึงเรื่องราวของคนต้องถึงกับต้องกินหญ้า หรือประสบปัญหาที่จะหาอะไรประทังชีวิตตามที่คุณพาร์คบอก..." แม่ของพาร์คพูดขึ้นมาว่า "มันไม่เคยมีเรื่องแบบนั้นหรอก...."ผู้ดำเนินรายการพูดต่อว่า "ทำไมล่ะ ลูกของคุณไม่เคยต้องเจอเรื่องแบบนี้เหรอ"

 

แม่ของพาร์คตอบว่า "เราไม่ได้เจอเรื่องแย่ขนาดนั้น เราไม่เคยอยู่ในสภาพที่จะต้องเจอกับความอดอยากมาก่อน" เรื่องที่เธอพูดต่อก็ทำให้เรื่องราวมันชัดเจนขึ้น  แม่ของพาร์คกล่าวว่า "หลังจากที่เธอ (พาร์ค) ได้เข้าร่วมรายการนี้ คงทำให้เธอตระหนัก ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือมากขึ้น"


ผู้ดำเนินรายการตอบรับว่า "คุณพาร์คคงได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากทางรายการ" แม่ของพาร์คกล่าวว่า "เธอโทรมาหาฉันทั้งก่อนและหลังจบรายการ ถามฉันว่านี่ฉันเป็นคนเกาหลีเหนือจริงๆ รึเปล่า เธอบอกว่า เธอไม่เคยรู้เรื่องที่ผู้หญิงคนอื่นๆ ในรายการพูดเลย เธอคิดว่าทุกคนในรายการกำลังโกหก"

 

พาร์คยังได้เป็นพิธีกรร่วมในรายการที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับเกาหลีเหนือให้กับองค์กรแสวงหากำไรซึ่งส่งเสริมเสรีภาพในกรุงโซลที่ชื่อ "ฟรีดอม แฟคตอรี่" ในรายการประจำวันที่ 18 สิงหาคม เคซี่ ลาร์ทีค พิธีกรร่วมได้ถามเธอถึง  ช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดตอนเป็นเด็กขณะอยู่ที่เกาหลีเหนือ ในการตอบคำถาม  เธอมิได้กล่าวถึงการกินหญ้าหรือแมลงปอ เพียงแต่บอกว่าเธอมีข้าวให้กินเพียงสองมื้อต่อวัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ต้องใช้ชีวิตข้างถนนกิน  ทุกอย่างที่หาได้ ความลำบากของเธอแทบจะกลายเป็นชีวิตตามปกติธรรมดาไป เลย เธอกล่าวว่า "ฉันรู้สึกเวทนาเมื่อได้เห็นพวกเขา"

 

เมื่อเล่าถึงการหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือพาร์คมักจะบอกว่า เธอต้องข้ามภูเขาสามถึงสี่ลูกยามค่ำคืนเพื่อที่จะข้ามพรมแดน และบรรยายถึงความเจ็บปวดที่เธอต้องฝืนทนเพราะรองเท้าของเธอนั้นขาดเป็นรู แต่ว่าเฮซันบ้านเกิดของเธอตั้งอยู่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซึ่งกั้นกลางทั้งสองประเทศโดยไม่มีภูเขาขวางกั้นให้เห็นแม้แต่น้อย

 

พาร์คบอกเราและสถานีวิทยุในซานฟรานซิสโก้เมื่อช่วงต้นปีว่าหลังจากที่พี่สาวของเธอได้หนีออกนอกประเทศได้สี่วัน เธอพร้อมด้วยพ่อและแม่พากันหนีไปประเทศจีนด้วยกัน คำพูดที่ถอดออกมาจากการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุคือ "ฉันหนีออกมากับแม่และพ่อสามคน" ในการให้สัมภาษณ์กับเราเธอนึกถึงความรู้สึกเมื่อครั้งข้ามแม่น้ำว่า "ฉันจะต้องรอด ฉันจะต้องอยู่ต่อไป ด้วยความ รู้สึกนั้น ฉันจึงวิ่ง, วิ่งให้เร็วที่สุด โดยพ่อและแม่ตามมาข้างหลัง ทำให้เราหนีมาได้ และมีรถมารับด้วยอาศัยความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่พ่อของเธอมีกับชาวจีน และทำให้เธอเข้าประเทศจีนได้โดยตรง"

 

แต่เมื่อเธอไปพูดที่เวที "ยังวันเวิล์ดซัมมิท" ที่กรุงดับลิน เธอได้เล่าถึงเรื่องราวที่น่าตกตะลึงเมื่อเธอและแม่ของเธอหนีออกมากันสองคนและเธอต้องมองแม่ของเธอถูกข่มขืนโดยนายหน้าชาวจีน เพื่อที่จะปกป้องเธอไม่ให้ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

 

จากนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการศพของพ่อของเธอในประเทศจีนพาร์คบอกกับเราว่าตอนนั้นเธออายุเพียง 14 ปี ด้วยความกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จีนจับกุม เธอต้องฝังร่างของพ่อเธอกลางดึก "เราต้องย้ายศพของเขา ทุกคนหลับกันหมดฉันต้องนำศพของเขาไปฝังราวๆ เที่ยงคืนด้วยตัวเอง ฉันอยู่ที่นั่นมันทั้งหนาวและเปล่าเปลี่ยว" เธออธิบายพร้อมกับปาดน้ำตา แม่เธอเสริมรายละเอียดว่า "เราจ้างชาวบ้านอีกสองคนแบกศพเขาขึ้นภูเขา ยอนมิไปกับพวกเขา มันเป็นวันที่ลมแรง และพวกเราก็กลัวว่าจะมีใครมาเห็น"

 

แต่เธอบอกกับผู้สื่อข่าวรายอื่นว่าพ่อของเธอถูกเผา และเธอต้องนำอัฐิไปฝังด้วยตัวเอง ขณะที่ยังมีเรื่องเล่าที่ต่างออกไปอีกจากแหล่งข่าวในชุมชนชาวเกาหลีเหนือ, เมื่อไม่กี่ปีก่อน พาร์คบอกพวกเขาว่า เธอไม่สามารถที่จะจัดการฌาปนกิจพ่อของเธอได้อย่างเหมาะสม ญาติของเธอในเมืองจีนจึงได้ช่วยเธอจัดการเผาศพพ่อของเธอ และพวกเขาจึงได้ไปฝังอัฐิร่วมกันบนภูเขา

 

และสุดท้าย ในบทความของเดลี่ บีสต์ พาร์คอ้างว่า เมื่อเธอและแม่ถูกคุมขังในศูนย์กักกันในประเทศมองโกเลีย เธอถูกบังคับให้แก้ผ้าทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน "ฉันเป็นเด็กผู้หญิง มันทำให้ฉันรู้สึกอับอายมากๆ ฉันได้แต่คิดว่าคน   พวกนี้มีสิทธิอะไรมาทำกับฉันแบบนี้ ฉันก็เป็นคนเหมือนกัน แต่ถูกทำราวกับไม่ใช่คน" เธอกล่าวถึงประสบการณ์เมื่อครั้งอายุราว 15 ปี

 

เธอไม่ได้พูดเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์กับเรา แต่จากการตรวจสอบกับแหล่งข่าวซึ่งรู้จักเธอดี เขากล่าวว่าเธอถูกกักตัวในมองโกเลียประมาณเดือนครึ่ง และบ่นว่าเธอถูกใช้ให้ทำงานในไร่และทำความสะอาดศูนย์กักกัน แต่ไม่ได้พูดถึงการถูกจับแก้ผ้าทุกวันแต่อย่างใด ศาสตราจารย์ ชิ-อึน ยู   ที่ปรึกษาศูนย์ "ฮานา วัน" ซึ่งเป็นศูนย์จัดการผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือของเกาหลีใต้เป็นเวลาสองปีในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 และ ศาสตราจารย์ คิม ยุน-อา ซึ่งทำงานที่นี่เป็นเวลา  5 ปี ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 ต่างบอกกับเราว่า พวกเขาไม่เคยได้ยินว่ามีใครเคยถูกจับแก้ผ้าในศูนย์กักกันในมองโกเลีย

 

ศาสตราจารย์ยูกล่าวว่า "ในอดีต เกาหลีใต้ได้ส่งที่ปรึกษาไปยังมองโกเลียเพื่อช่วยเหนือผู้แปรพักตร์ในศูนย์กักกันแห่งนี้......แล้วคนพวกนี้จะถูกแก้ผ้าทุกวันได้ยังไงมันมีแต่จะสร้างสภาวะกดดันทางจิต มันเป็นไปไม่ได้" ศาสตราจารย์คิมกล่าวว่า เมื่อเทียบกับประเทศอย่างรัสเซียหรือไทย มองโกเลียถือว่าให้ความช่วยเหลือผู้แปรพักตร์เหล่านี้เป็นอย่างดี และมันเป็นไปไม่ได้ที่ผู้แปรพักตร์เหล่านี้จะถูกจับแก้ผ้าได้เป็นเวลาหลายเดือน

 

แล้วอะไรเป็นที่มาของเรื่องเล่าที่ไม่สอดคล้องเหล่านี้ของพาร์คมันจะเป็น เพราะความหลงลืม หรือปัญหาทางด้านภาษา หรือมีเหตุผลอื่นมาเกี่ยวข้อง
 

ยอนมิ พาร์คได้รับการสนับสนุนโดย"กองทุนแอตลาส" องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งเน้นการส่งเสริมเสรีภาพของสหรัฐฯ เธอเป็นหนึ่งในตัวแทนขององค์กรที่เรียกว่า "ยังวอยซ์" และตอนนี้เธอได้ตั้งกองทุนของเธอเองในนิวยอร์ค  คุณสามารถบริจาคออนไลน์ผ่านเพย์พาล แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเงินของคุณจะถูกใช้ไปเพื่ออะไร ที่แน่ชัดคือ "ยอนมิอยู่ในช่วงการเดินทางเพื่อบอกเเล่าเรื่องราวของเธอ ในปี 2014 นี้" และ "พร้อมที่จะออกแสดงปาฐกาถาระดับนานาชาติ"

 

"ฉันอยากให้โลกได้รู้เรื่องราวของฉัน แล้วพวกเขาจะได้จดจำเรื่องราวของ เกาหลีเหนือ" ข้อความที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของกองทุน

 

แต่โลกจะสามารถเชื่อถือในความทรงจำของหญิงวัย21 ปี ซึ่งหนีออกจากเกาหลีเหนือตอนอายุ 13 ปี ได้แค่ไหนกัน และผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรหากเรื่องเล่าผ่านความทรงจำที่บกพร่องของเธอทั้งเรื่องชีวิตของเธอในเกาหลีเหนือและการหลบหนีสู่เกาหลีใต้ไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

ชาวเกาหลีเหนือที่ถูกสัมภาษณ์ในบทความนี้ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวของพวกเขาที่ยังอาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการเกาหลีเหนือ หรือกลัวจะถูกคว่ำบาตรจากการวิจารณ์พวกเดียวกันเอง แต่พวกเขาต้องการเรื่องราวของเขาเป็นที่รับรู้ การที่ปัญหาของพวกเขาถูกบิดเบือน

 

ผลกระทบจากการเล่าเรื่องราวเกินจริง และ การสร้างเรื่องเท็จจะกลายเป็นปัญหาต่อผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ และจะทำลายโอกาสของพวกเขาในอนาคต พวกเขากลัวว่าเรื่องราวที่ขาดความสอดคล้อง และข้ออ้างที่เต็มไม่ด้วยความบกพร่องจะทำให้โลกสงสัยในเรื่องราวของพวกเขา เขาต้องการให้ความจริงได้รับความเชื่อถือและจดจำ เช่นเดียวกับที่ ยอนมิ  พาร์ค เคยบอกกับบีบีซีว่า "คำโกหกไม่อยู่ทนถาวร"

 

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X