คนเมืองสุขภาพจิตแย่ลงในรอบปี 52
2012-09-29 14:02:53
Advertisement
คลิก!!!
คนทำงาน


คนเมืองสุขภาพจิตแย่ลงในรอบปี 52 (ข่าวสด)

          เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต เพื่อสุขภาวะสังคมไทย กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สำรวจสุขภาพจิตคนไทยตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2551 พบว่า ความผูกพันในครอบครัวทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีขึ้น แสดงให้เห็นว่าท่ามกลางวิกฤติทางสังคม ประชาชนสามารถปรับตัวและหันมาดูแลกันในครอบครัวมากขึ้น

          แต่ ที่น่าห่วงยังเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีสุขภาพจิตลดลง เนื่องจากประชาชนตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสาร และอยู่ใกล้เหตุการณ์ความรุนแรงมากกว่าคนต่างจังหวัด จึงทำให้คนกรุงเทพฯ มีความสุขน้อยลงตามไปด้วย หากดูจากผลสำรวจความสุขของคนไทยปี 2551 ในช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 75 คนไทยมีความสุขมาก ที่เหลือร้อยละ 25 เท่านั้นที่มีความสุขน้อย

          นพ.ประ เวช กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ จากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบกับประชาชนแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันไป เพราะธรรมชาติคนเราเมื่อเผชิญกับปัญหา ร่างกายและจิตใจจะแสดงอาการของความเครียดออกมา เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ทานอาหารน้อย หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง หากมีความเครียดมาก จะกระทบต่อความสามารถในการดำเนินชีวิต การเรียนและการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตลอดจนความสุขในชีวิต วิกฤติดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นรากฐานสำคัญของปัญหาสังคม อาชญากรรม ความรุนแรงต่าง ๆ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

          นพ.ประเวช แนะนำว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต้องรู้จักจัดการกับปัญหาด้วยการปล่อยวาง ทำใจให้สบาย ไม่คิดมาก ที่สำคัญไม่ควรแก้ปัญหาด้วย การดื่มสุรา สูบบุหรี่และเล่นการพนัน สำหรับวิธีคิดในการรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในปี 2553 นี้ ซึ่งมีหลักง่าย ๆ 3 ประการ คือ

          1. ให้มองว่าปัญหาที่เลวร้าย จะสามารถผ่านไปได้

          2. หลีกเลี่ยงจากการคิดวนเวียนอยู่กับปัญหา หรือจมอยู่กับความคิด เพราะจะทำให้เกิดความทุกข์ การรับมือกับปัญหาที่ดี คือรู้จักมองหาสิ่งดี ๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ปล่อยให้ปัญหาขยายวงกว้างมากระทบชีวิต

          และ 3.ค้นหาว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง แล้วลงมือทำ และใช้โอกาสที่ต้องพบกับปัญหา มาตั้งเป้าหมายการพัฒนาตัวเองให้ชัดเจน

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X