ร้อนฉ่าสมรภูมิอาหารญี่ปุ่น 2 หมื่นล้าน จุดขายวันนี้ต้อง "ดั้งเดิม-(บริการ)ด้วยใจ"
2015-06-10 17:45:02
Advertisement
คลิก!!!

อาหารญี่ปุ่น ทุกวันนี้มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ทั้งระดับแมส ระดับบน กลายเป็นอาหารประจำวันของคนไทยไปแล้ว ทำให้รู้ว่าธุรกิจนี้อยู่ได้ ขณะเดียวกันก็เริ่มเป็นทะเลเดือด (RED OCEAN) ผู้ประกอบการเลยต้องหาความโดดเด่นมาเพื่อเรียกลูกค้า

- นาทีนี้ต้องญี่ปุ่นแท้

นายวิเชียร อินไกรดี กรรมการผู้จัดการ เมกุมิ กรุ๊ป ผู้บริหารมาสเตอร์แฟรนไชส์ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ KACHAKACHA  Tepanyaki, FUJIYAMA GO-GO และ TSUKEMEN GO-GO กล่าวถึง โอกาสของขุมทรัพย์ตลาดอาหารญี่ปุ่น (รวมอาหาร, ขนมหวาน, เครื่องดื่ม) ในปี 2557 อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท และมีการเติบโต 17-20% ต่อปี คาดว่าภายในสิ้นปี 2558 จะเติบโตไปถึง 20,000 ล้านบาท

ยิ่งญี่ปุ่นเปิดประเทศ คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม และอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น เทรนด์ผู้บริโภคจะเริ่มโหยหาที่จะได้สัมผัสอาหารญี่ปุ่นรสดั้งเดิม สรรหาเมนูใหม่ ๆ ที่เคยมีขายเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันเรียกว่า เป็นอาหารญี่ปุ่น ที่ไม่แท้ ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่น แบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก เตรียมนำแบรนด์ใหม่ ๆ เข้าไทย ไม่ต่ำกว่า 230 แบรนด์ภายในปีนี้ จากจำนวนเดิมที่มีอยู่กว่า 2,400 ร้าน เพื่อแย่งชิงผู้บริโภคกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ไปญี่ปุ่น ซึ่งมีกำลังซื้อ



ซึ่งเมกุมิ กรุ๊ป ของนายวิเชียรเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ของ บริษัท Bloom Dining Service ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังอันดับ 2 ของนาโกย่า มองเห็นโอกาสในการนำร้านอาหารที่มีความเป็นออริจินอลแบบญี่ปุ่นมาเปิด เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยนำแบรนด์ออริจินอล อย่าง KACHAKACHA Tepanyaki, FUJIYAMA GO-GO และ TSUKEMEN GO-GO มานำเสนอโดยเป็นแนวอาหารแบบอิซากาย่า ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เปิดเพื่อบริการกลุ่มคนทำงานที่ต้องการผ่อนคลายในยามค่ำ เป็นแนวสังสรรค์ แต่ทั้งนี้เมื่อนำมาเปิดในไทยก็มีการปรับให้เป็นร้านเพื่อครอบครัวมากขึ้น มีเมนูที่เป็นชุดใหญ่เข้ามา ซึ่งที่ผ่านมาการตอบรับจากลูกค้าเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และนักท่องเที่ยวที่ต้องการทดลองร้านอาหารสไตล์ที่แตกต่างจากในห้าง

- ส่ง 3 แบรนด์ ทำตลาด

จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจร้านอาหารของนายวิเชียรเริ่มขึ้นเมื่อปี 2555 เปิดแบรนด์แรกคือ KACHAKACHA Tepanyaki ที่เอเชียทีค เป็นสินค้ากลุ่มอาหารที่ทานในตอนเย็น เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยทำงานมานั่งทานอาหาร หรือแนวครอบครัวที่มานั่้งสังสรรค์ยามเย็น มีเมนูโอโคโนมิยากิ หรือพิซซ่าญี่ปุ่น ชุดยากิโทริ หรือชุดเนื้อ/ผักย่างเสียบไม้ มีการขนเอาดีไซเนอร์ และทีมก่อสร้างมาจากญี่ปุ่น เพื่อมาออกแบบร้าน และมีการนำเข้าวัสดุตกแต่งจากญี่ปุ่นทั้งหมด รวมมูลค่าลงทุนกว่า 10 ล้านบาท ปัจจุบัน KACHAKACHA มีสาขาทั้งสิ้น 3 สาขา คือ ที่เอเชียทีค กรุงเทพฯ ที่โครงการพรอมเมนาดา เชียงใหม่ และสาขาล่าสุดที่ขอนแก่น โครงการ ฮัก มอลล์ โดยเป็นสาขาที่ขยายเองทั้งหมด ซึ่งในรูปแบบแฟรนไชส์จะมีค่าแฟรนไชส์ 2 ล้านบาท ไม่รวมค่าตกแต่งร้าน มีค่ารอยัลตี้ ฟี 6% ต่อเดือนของยอดขาย ค่าการตลาด 15,000 บาท/เดือน สัญญา 6 ปี



ส่วนแบรนด์ FUJIYAMA GO-GO ซึ่งเป็นร้านนั่งทานที่เน้นเมนูเด่น คือ ราเมง ซึ่งใช้น้ำซุปที่เคี้ยวนานถึง 48 ชม. เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นนักศึกษา และวัยทำงาน  ปัจจุบันมี 5 สาขา คือ ที่สุขุมวิท 39, โครงการเดอะ เซ้นส์ ปิ่นเกล้า, โครงการพรอมเมนาดา เชียงใหม่ และสาขาล่าสุดที่ขอนแก่น โครงการ ฮัก มอลล์ และกำลังจะเปิดสาขาเพิ่มเติมที่ เซ็นทรัล เวสต์เกต และเซ็นทรัล ศาลายา มีค่าแฟรนไชส์ 1 ล้านบาท ไม่รวมค่าตกแต่งร้าน มีค่ารอยัลตี้ ฟี 6% ต่อเดือนของยอดขาย ค่าการตลาด 15,000 บาท/เดือน สัญญา 6 ปี

และภายในเดือนมิถุนายนนี้เตรียมนำแบรนด์ใหม่อย่าง Gaburi Chicken ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแนวฟาสต์ฟู้ด โดดเด่นที่เมนูไก่ทอด แต่เป็นไก่คาราเกะสไตล์ญี่ปุ่น เจาะกลุ่มลูกค้าที่เน้นทานเร็ว หรือซื้อกลับไปทานที่บ้าน เข้ามาทำตลาดเพิ่ม โดยจะเปิดสาขาแรกที่เอเชียทีค

ทั้งสามแบรนด์ จะเจาะกลุ่มบีบวกทั้งหมด แต่เน้นกลุ่มผู้บริโภคคนละกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 250 -500 บาท/หัว มีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ย 3,000 -5,000 คน/เดือน
    
- สาขาไม่เยอะ แต่ได้ใจ

รูปแบบการเลือกร้านที่จะเข้ามาเปิดในไทยนั้น นายวิเชียรกล่าวว่า เน้นร้านที่เป็นญี่ปุ่นแท้ ๆ ทั้งเรื่องรสชาติที่นำเข้าวัตถุดิบส่งตรงมาจากญี่ปุ่น รูปแบบการบริการที่เน้นการบริการด้วยใจ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของคนญี่ปุ่น ซึ่งตลาดแมสกับพรีเมี่ยมจะแข่งขันกันที่เรื่องของบริการนี่เอง ซึ่งในส่วนงานบริการทางญี่ปุ่นจะส่งคนมาตรวจคุณภาพทุกเดือน เพื่อคงมาตรฐานของแบรนด์ไว้ และในทุก ๆ ร้านจะมีเชฟชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมดูแลในส่วนของอาหารประจำทุกร้านด้วย

ส่วนแนวทางการขยายสาขานั้นทางแบรนด์ไม่เน้นขยายจำนวนมาก และยังใช้รูปแบบบการขยายระหว่างเจ้าของแบรนด์ กับแฟรนชไส์แบบ 50-50 เพื่อง่ายแก่การควบคุมคุณภาพ และเพื่อให้ง่ายต่อการทดลองแนวทางใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย

โดยภายในปีนี้ จะขยายสาขาแบรนด์ KACHAKACHA จำนวน 2 สาขา แบรนด์ FUJIYAMA GO-GO จำนวน 10 สาขา และแบรนด์ใหม่ Gaburi Chicken ตั้งเป้าภายใน 3 ปี ขยาย 30 สาขา เนื่องจากเห็นว่าการเติบโตของแบรนด์ช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ 10% หรือมีรายได้ต่อปี ประมาณ 100 ล้านบาท และในปีนี้จากการขยายสาขา และเพิ่มร้านใหม่เข้ามา บวกกับการเข้ามาของร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ จะยิ่งผลักดันให้มีการเติบโตคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 16% สามารถทำยอดขายได้ที่ 116 ล้านบาทในปีนี้

ร้านอาหารญี่ปุ่นวันนี้ไม่ใช่แค่เห็นซูชิ หรือปลาดิบอีกต่อไป เพราะผู้บริโภครับรู้มากขึ้นทั้งจากประสบการณ์ตรง และจากสื่อต่าง ๆ ร้านค้าจึงต้องมีความชัดเจนว่าจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น หรือจะเป็นร้านที่ฟิวชั่นเพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ที่ประทับใจและเลือกจะกลับมาทานต่อในครั้งต่อไป

 

ขอขอบคุณที่มา  http://www.prachachat.net/

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X