เรืออพยพล่มที่ลิเบีย-คาดตาย700ชีวิต กลางเมดิเตอร์เรเนียน ระดมกู้ภัย-เร่งค้นหา
2015-04-20 15:03:05
Advertisement
คลิก!!!

 

เรือผู้อพยพจากลิเบียล่มกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คาดตายกว่า 700 ชีวิต พบผู้รอดเพียง 28 คนกับ 24 ศพลอยเกลื่อนผิวน้ำ เจ้าหน้าที่สิ้นหวังไม่พบผู้รอดชีวิต เผยจุดเกิดเหตุห่างชายฝั่งลิเบีย 27 ก.ม. โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์เผยเรือเกิดปัญหากลางทะเล เลยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้เรือจากโปรตุเกสมาช่วย ก่อนผู้อพยพพากันหนีตายจนเรือเอียงทำให้อับปางลง ชี้เป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผู้นำฝรั่งเศสเรียกประชุมรมว.มหาดไทย-ต่างประเทศอียู ด้านนายกฯ มอลตา-อิตาลี อยากให้สมาชิกอียูสนับสนุนในการรับมือวิกฤตผู้อพยพ ขณะที่โป๊ปฟรานซิสวอนผู้นำชาติยุโรปร่วมมือหยุดยั้งความสูญเสีย



เมื่อวันที่ 19 เม.ย. เอเอฟพีรายงานว่า เกิดเหตุเรือที่มีผู้อพยพจากประเทศลิเบียกว่า 700 ชีวิต อับปางลงกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนห่างจากชายฝั่งประเทศลิเบียไปราว 27 กิโลเมตร ห่างจากเกาะลัมเปดูซาไปทางใต้ราว 210 กิโลเมตร โดยทางการประเทศอิตาลีและมอลตาสนธิกำลังเข้าช่วยเหลือ ซึ่งพบผู้รอดชีวิตเพียง 28 คน และพบร่างผู้เสียชีวิต 24 ราย ส่วนที่เหลือคาดว่าเสียชีวิตจมลงสู่ท้องทะเลหมดแล้ว ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในวิกฤตผู้อพยพแถบทะเลเมดิเตอร์ เรเนียน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากวิกฤตดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,500 รายแล้วในปีนี้ โดยประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำประเทศฝรั่งเศส เรียกประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและต่างประเทศของสหภาพยุโรปหรืออียู ต่อกรณีโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น



นางคาร์ล็อตตา ซามี โฆษกหญิงแห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชา ชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวว่า เรือที่อับปางเป็นเรือประมง ความยาว 20 เมตร บรรทุก ผู้อพยพมากว่า 700 คน และเกิดปัญหากลางทะเล ก่อนจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพเรือของมอลตา ในเวลาประมาณ 24.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยทางการมอลตาได้ติดต่อขอให้เรือพาณิชย์ของโปรตุเกสเดินทางไปช่วยเหลือ เนื่องจากอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด แต่เมื่อผู้อพยพเห็นเรือที่กำลังเข้ามา ช่วยเหลือ ก็พากันผลักดันและมุ่งหน้าไปยังกราบเรือด้านหนึ่งทั้งหมด ทำให้ผู้อพยพจำนวนมากหล่นลงจากเรือและทำให้เรือเอียง จนกระทั่งอับปาง ส่งผลให้ทั้งสองชาติระดมเรือ 21 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 3 ลำ เข้าช่วยเหลือ แต่แทบไม่พบผู้รอดชีวิต ทั้งนี้ ผู้รอดชีวิตและร่างของผู้อพยพที่พบ จะถูกลำเลียงไปที่เมืองคาตาเนียของอิตาลี เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติและอัตลักษณ์ต่อไป



ด้านนายโจเซฟ มัสแก็ต นายกรัฐมนตรีมอลตา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องควานหา ผู้รอดชีวิต ท่ามกลางร่างไร้วิญญาณของ ผู้อพยพนับร้อยๆ คนที่ลอยเกลื่อนผิวน้ำ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสลดใจที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นในทะเลเมดิเตอร์ เรเนียน และสะท้อนให้เห็นว่าอิตาลีและมอลตา ต้องการแรงสนับสนุนจากสมาชิกอียูมากกว่านี้ ในการรับมือวิกฤตผู้อพยพ



ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก กล่าวเรียกร้องให้ผู้นำชาติยุโรป ร่วมมือกันแก้ไขสาเหตุของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียชีวิตในรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทรงระบุว่า "ผู้อพยพทั้งหมดก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเราทุกคน" และว่า "พวกเขาเป็นผู้ที่หิวโหย บาดเจ็บ และถูกฉกฉวยโอกาส รวมทั้งเป็นเหยื่อของสงคราม พวกเขาเพียงต้องการความสุขและชีวิตที่ดีกว่า"



รายงานระบุว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ให้หลัง เหตุการณ์เรือ ผู้อพยพ 2 ลำ อับปางนอกชายฝั่งลิเบีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 450 ราย ขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมา มี ผู้อพยพเดินทางไปยังอิตาลีกว่า 170,000 คน โดยอาศัยเรือเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร บางส่วนเป็นเรือของกลุ่มค้าแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีขนาดเล็กและมักบรรทุกผู้โดยสารเกินพิกัด ทำให้เสี่ยงต่อการอับปาง ซึ่งกองทัพเรือของชาติยุโรปสามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้กว่า 11,000 คน



ส่วนองค์กรสากลที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เคยเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันปฏิรูประบบกู้ภัยทางทะเลให้ดีขึ้น เพื่อรับมือกับจำนวนผู้อพยพจำนวนมากจากทั้งทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่จะเดินทางเข้าสู่ยุโรป



นายมาร์ก มิคัลเลฟ ผู้สื่อข่าวบีบีซี กล่าวว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเรือผู้อพยพมักอับปางลง ก่อนที่เรือพาณิชย์จะแล่นเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการที่ทางการมอบหมายให้เรือพาณิชย์ร่วมภารกิจกู้ภัยทางทะเล ทั้งๆ ที่เรือประเภทดังกล่าวขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในภารกิจด้านนี้

 
 
ขอขอบคุณที่มา  ข่าวสดออนไลน์
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X