วิกฤต “รุนแรง” ในสังคมไทยที่ต้องเปลี่ยนลำดับแรกคือทัศนคติ !!
2014-11-02 13:19:16
Advertisement
คลิก!!!

        ภายหลังอ่านข่าวผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ถึงหัวข้อ “มาช่วยกันคิด เพื่อพิชิตความรุนแรงในสังคมไทย” โดยสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศรวม 1,819 คน  ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.80 เห็นว่า ความรุนแรงในสังคมไทยอยู่ในขั้นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน อันดับ 2 ยังไม่วิกฤตนักแต่ก็ต้องแก้ไข 23.62% อันดับ 3 ยังไม่วิกฤตและยังไม่ต้องเร่งแก้ไข 1.58%


        ต้องถือเป็นข่าวดี..!! เพราะที่ผ่านมาปัญหาเรื่องความรุนแรงในบ้านเรามีอยู่จริง และนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังจะกลายเป็นสังคมอันตราย แต่ดูเหมือนปัญหานี้ยังเคยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
       
        ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากผลโพลชิ้นนี้ มีรายละเอียดการพยายามหาทางออกด้วย ดิฉันขอนำเฉพาะผลสรุปสำรวจอันดับแรกของทุกข้อมาเป็นตัวอย่างในการนำเสนอครั้งนี้ เพื่อความกระชับของพื้นที่บทความ (สามารถอ่านข่าวผลโพลฉบับเต็มได้ที่ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000140475 ค่ะ)
       
        ข้อหนึ่ง ความคิดเห็นกรณี “ความรุนแรงในสังคมไทย” ทั้งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายฆ่าอย่างโหดเหี้ยม รวมทั้งคดีอาชญากรรมต่างๆ อันดับ 1 เป็นปัญหาสังคมที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
       
        ข้อสอง “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทย อันดับ 1 ขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ไม่ได้รับความอบอุ่น พ่อแม่ไม่มีเวลา ขาดแบบอย่างที่ดี
       
        ข้อสาม “วิธีการ” ที่จะช่วยลดความรุนแรงในสังคมไทยในวันนี้ มี 4 สถาบันที่ต้องช่วยกัน เริ่มจากครอบครัว ควรให้ความรักความอบอุ่น ดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด ตามมาด้วยโรงเรียน/สถานศึกษา อาจารย์ต้องดูแลเอาใจใส่ ตั้งใจอบรมสั่งสอนเพื่อให้เด็กเป็นคนดีของสังคม จากนั้นก็เป็นชุมชน ควรมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดูแลสอดส่องบุตรหลานอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายคือหน่วยงานภาครัฐ/รัฐบาล ควรมีกฎหมาย มาตรการ บทลงโทษที่เด็ดขาด เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้มงวดไม่ละเลยต่อหน้าที่
       
        ข้อสี่ ใคร หรือ หน่วยงานใด? ที่จะช่วยลดความรุนแรงในสังคมไทยได้ อันดับ 1 ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง 

       
        นับเป็นผลโพลที่น่าชื่นใจที่มีความพยายามนำเสนอถึงสาเหตุ วิธีการ และหน่วยงานใดช่วยลดความรุนแรงได้ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการทำผลสำรวจของสำนักต่างๆ มักนำเสนอแต่ปัญหา โดยไม่ได้สำรวจหรือพยายามหาทางแก้ไขหรือทางออกให้สังคมด้วย
       
        และทั้งสี่ข้อ ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหา แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าปัจจุบันนี้สภาพสังคมไทยที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ วิกฤตสังคมเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องยอมรับว่าปัญหาความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขได้เพียงระดับครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องมีสถาบันอื่นๆ เข้ามาร่วมมือและช่วยกันแก้ไขปัญหาในทุกภาคส่วน
       
        อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวสิ่งที่ดิฉันอยากจะเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็นใหญ่ที่เป็นสาเหตุหลักและเป็นสาเหตุใหญ่ในการทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านเราทวีความรุนแรงหนักมากขึ้นไปอีก
       
        นั่นก็คือ สื่อ กับทัศนคติของผู้คน
       
        เราต้องยอมรับว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะสื่อในยุคปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ถ้าผู้ผลิตสื่อ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการผลิตสื่อในทุกแขนง ขาดจิตสำนึก จรรยาบรรณในวิชาชีพ มีเป้าหมายทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ได้กำไรสูงสุดเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก


        ในขณะที่อีกปัญหาใหญ่ที่น่าจะเป็นปัญหาหลักสำคัญที่สุดและอยากเน้นคือเรื่องทัศนคติของผู้คนต่อความรุนแรง
       
        ก่อนหน้านี้ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยข้อมูลจาก UN Women ในหัวข้อ “2011-2012 Progress of the World's Women: in Pursuit of Justice” พบว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเฉพาะในครอบครัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2544-2553) โดยประเด็นความรุนแรงทางเพศต่อคู่ของตนเอง จาก 71 ประเทศ ไทยอยู่ลำดับที่ 7 หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ที่ผู้หญิงถูกทำร้ายจากคนรัก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุด
       
        ที่น่าตกใจก็คือ ความเชื่อที่ว่าสามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นอันดับ 2 จาก 49 ประเทศ 
       
        นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2553 เด็กและสตรีถูกทำร้ายแล้วมารักษาที่โรงพยาบาลมีจำนวน 25,744 ราย เฉลี่ย 71 รายต่อวัน เท่ากับว่าทุก 20 นาทีจะมีเด็กหรือสตรี 1 รายถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือคนในครอบครัว
       
        สะท้อนชัดเจนว่า สภาพปัญหาความรุนแรงในบ้านเราส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ก็คือเรื่องทัศนคติของผู้คนต่อการกระทำความรุนแรง จนกลายเป็นความเคยชิน
       
        ทัศนคติใดที่เป็นอันตรายต่อความรุนแรง ?
       
        หนึ่ง ทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมที่ฝังรากลึกว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ สามารถกระทำความรุนแรงได้ เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว
       
        สอง ทัศนคติที่ว่าไม่ใช่เรื่องของตน ด้วยความที่ปัจจุบันเป็นสังคมตัวใครตัวมัน หลายครั้งที่ผู้คนเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในที่ปิดและที่สาธารณะ แต่ด้วยทัศนคติที่ว่าไม่อยากยุ่ง ไม่ใช่เรื่องของตน ธุระไม่ใช่ หรือเกรงว่าตัวเองจะเดือดร้อน ก็เลยเพิกเฉยดีกว่า
       
        สาม ทัศนคติที่ยอมจำนน เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้เชื่อฟังพ่อแม่ เชื่อฟังคุณครู เชื่อฟังผู้นำ เชื่อฟังเจ้านาย ฉะนั้น เมื่อผู้นำเหล่านั้นไม่ดีหรือกระทำความรุนแรงต่อเด็กๆ ที่เติบโตมาเช่นนี้ เด็กเหล่านี้ก็มักจะไม่ตอบโต้ มีแนวโน้มยอมจำนนต่อสถานการณ์ จนกว่าจะมีผู้พบว่าถูกกระทำ เราจึงมักพบเห็นข่าวคราวในท่วงทำนองลูกศิษย์ถูกกระทำความรุนแรงจากคุณครู หรือลูกน้องถูกทำร้ายจากเจ้านาย
       
        สี่ ทัศนคติและเจตคติของผู้คนในสังคมมีแนวโน้มประณามผู้หญิงและเด็กว่าเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง จนผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเพราะรู้สึกอับอาย ต้องทนรับสภาพปัญหาเพียงลำพัง และถูกกระทำซ้ำๆ แบบหาทางออกไม่ได้ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็น
       
        ห้า ทัศนคติต่อการสร้างสังคมที่ดีที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้คนยังขาดความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในสังคม มองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา และการเพิกเฉยนั่นแหละสุดท้ายก็กลายเป็นซ้ำเติมปัญหาไปในที่สุด 

       
        ในโอกาสที่เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เราควรต้องเร่งหาทางรณรงค์และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังในทุกภาคส่วนเสียที แม้จะช้าไปบ้างแต่ก็ดีกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย
       
        แต่..สิ่งที่สามารถทำได้ทันทีที่ตัวเราท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงระดับวิกฤตเยี่ยงนี้ ก็คือ เปลี่ยนทัศนคติของตัวเองต่อความรุนแรงให้ได้เป็นลำดับแรก..!!


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X