มาดูกัน! 5 อันดับ ตั๋วหนังสุดแพงของไทย
2013-03-07 16:07:52
Advertisement
คลิก!!!

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ถ้าคิดว่าค่าตั๋วหนังของไทยในปัจจุบันที่มีราคาระหว่าง 180-200 บาท เป็นราคาที่แพงแล้วละก็ วันนี้เรามีค่าตั๋วชมภาพยนตร์ที่นั่งพิเศษซึ่งแพงกว่านั้น โดย คุณเซียวเล้ง สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกัน ไล่จากอันดับแพงน้อยสุดไปถึงอันดับแพงมากที่สุด ส่วนจะแพงจริงหรือไม่ ราคาสูงแค่ไหน ลองมาดูกันค่ะ


 อันดับ 5 โรงภาพยนตร์ The Porch SFX Central Pattaya Beach

ที่นั่ง : ทุกที่นั่ง

ราคา : ที่นั่งละ 600 บาท สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์

จำนวนโรง : 1 โรง

เครือ : SF Cinema

ราคานี้เฉพาะ เสาร์ อาทิตย์ วันธรรมดาอยู่ที่ 500 บาท โดย ราคา 600 บาท รวมเครื่องดื่มค็อกเทล และสแน็ก ระหว่างรับชมภาพยนตร์ด้วย


 อันดับ 4 โรงภาพยนตร์ BSC Diamond Screen - Esplanade รัชดาภิเษก


ที่นั่ง : ทุกที่นั่ง

ราคา : ที่นั่งละ 600 บาท

จำนวนโรง : 2 โรง

เครือ : Major Cineplex

สำหรับโรงนี้มีราคาเดียว ทุกวัน ทุกรอบ โดยจุดเด่นอยู่ที่เก้าอี้พิเศษแบบคู่ และมีผนังกั้นโดยรอบเก้าอี้เพื่อความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ ก่อนเข้าโรงหนังยังมีบริการเครื่องดื่มและอาหาร รวมถึงเก้าอี้นวดไว้บริการลูกค้าที่บริเวณล็อบบี้ด้วย




5 อันดับ ตั๋วหนังสุดแพงของไทย

 อันดับ 3 โรงภาพยนตร์ SF First Class

ที่นั่ง : ทุกที่นั่ง

ราคา : ที่นั่งละ 690 บาท

จำนวนโรง : มีที่สาขา SF World Cinema, SFX แจ้งวัฒนะ, SFX ลาดพร้าว, SFX พระราม 9, SFX Pattaya Beach และ SFX ภูเก็ต สาขาละ 1 โรง

เครือ : SF Cinema

สำหรับโรงภาพยนตร์ดังกล่าว จะมีการตกแต่งอย่างโอ่โถง เน้นความหรูหรา ทั้งบริเวณล็อบบี้ไปจนถึงในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเก้าอี้จะใช้ระบบไฟฟ้าในการปรับเอนได้ถึง 180 องศา นอกจากนี้ ตรงล็อบบี้ยังมีบริการค็อกเทล และสแน็ก แบบเติมไม่อั้นอีกด้วย


 อันดับ 2 โรงภาพยนตร์ Bangkok Airway Blue Ribbon Screen - Paragon Cineplex

ที่นั่ง : ทุกที่นั่ง

ราคา : ที่นั่งคู่ 1,700 บาท เฉลี่ยแล้วตกคนละ 850 บาท

จำนวนโรง : 3 โรง

เครือ : Major Cineplex

สำหรับจุดเด่นของโรงนี้คือ การตกแต่งห้องรับรองที่เน้นความหรูหราและบริการที่เหนือระดับ โดยมีบริการอาหารและเครื่องดื่มให้เลือกอย่างหลากหลาย รวมทั้งมีบริการไวน์ด้วย แต่ที่เด็ดที่สุดคือ มีบริการสปาให้คนขี้เมื่อยถึงในโรงภาพยนตร์



5 อันดับ ตั๋วหนังสุดแพงของไทย

 อันดับ 1 โรงภาพยนตร์ Enigma The Shadow Screen

ที่นั่ง : ทุกที่นั่ง

ราคา : ที่นั่งคู่ 3,000 บาท เฉลี่ยตกคนละ 1,500 บาท

จำนวน : 1 โรง

เครือ : Major Cineplex

นอกจากจะมีการตกแต่งสถานที่อย่างหรูหราแล้ว ที่นี่ยังเป็นโรงภาพยนตร์แห่งเดียว ที่มีที่นั่งเป็นเตียงนอน สำหรับ 2 คน โดยมีผ้าห่มและหมอนให้ นอกจากนี้ ในระหว่างการฉายภาพยนตร์ยังมีบริการเสิร์ฟอาหารจานหลักรวมถึงเครื่องดื่ม และของขบเคี้ยวต่าง ๆ อีกด้วย

และนอกจากราคาตั๋วภาพยนตร์สุดไฮโซเหล่านี้แล้ว ชาวเน็ตก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาตั๋วภาพยนตร์ของประเทศไทยในรอบหลายปีนี้เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อบัญชี @khajochi ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับราคาตั๋วภาพยนตร์ในเมืองไทย โดยระบุว่า

"รู้หรือไม่: ค่าตั๋วหนังไทยโดยเฉลี่ยปี 2009 : 131 บาท, 2010 : 134 บาท, 2011 : 145 บาท, 2012 : 155 บาท !! เราดูหนังแพงขึ้นเกือบ 10 บาททุกปี"

งานนี้ ทำให้คอหนังต่างพูดคุยถึงประเด็นนี้กันยกใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ประเด็นเรื่องราคาตั๋วภาพยนตร์นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้ว อย่างเช่น เมื่อปี 2550 คุณอืม สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้โพสต์ข้อความเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วภาพยนตร์ของต่างประเทศกับราคาค่าตั๋วภาพยนตร์ของไทยไว้ หลังจากหลายฝ่ายถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว บ้างก็บอกว่าค่าตั๋วภาพยนตร์ของไทยถือว่าถูกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในขณะที่บางฝ่ายก็แย้งว่า หากเทียบกับค่าครองชีพถือว่าตั๋วภาพยนตร์ในบ้านเรามีราคาค่อนข้างแพง




5 อันดับ ตั๋วหนังสุดแพงของไทย
 

ดังนั้น คุณอืมจึงนำลิงค์เว็บไซต์ natoonline.org มาเผยแพร่ พร้อมวิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกา พบว่า เมื่อเปรียบเทียบเป็นเงินบาทแล้ว ค่าตั๋วภาพยนตร์ในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ประมาณ 230 บาท

ขณะที่ เว็บไซต์ whatprice.co.uk พบข้อมูลว่า ราคาตั๋วภาพยนตร์ในอังกฤษเฉลี่ยออกมาได้ ประมาณ 370 บาท ซึ่งหากเทียบกับค่าตั๋วภาพยนตร์ของสองประเทศนี้ จะเห็นได้ว่าค่าตั๋วหนังในเมืองไทยถูกกว่าประมาณสองถึงสามเท่า

ทั้งนี้ คุณอืม ได้สรุปว่า เมื่อดูสถิติเวลาที่ต้องทำงานเพื่อจะได้มาซึ่งรายได้เพื่อที่จะไปดูหนังหนึ่งเรื่อง จะเห็นถึงผลที่ต่างออกไป โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ afc.gov.au ชี้ให้เห็นว่า คนอเมริกาต้องทำงาน 23.86 นาที เพื่อจะได้เงินไปซื้อตั๋วหนังเรื่องนึง ขณะที่คนอังกฤษต้องทำงาน 35.36 นาที ส่วนคนไทยต้องทำงาน 108.73 นาที ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังเผยว่า จำนวนเวลาที่ต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้ไปดูหนังหนึ่งเรื่องของคนไทยสูงเป็นอันดับที่สามจากการสำรวจ 53 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่เจ้าของกระทู้สรุปมาให้อ่านกันอย่างคร่าว ๆ และเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเก่าแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลองทำศึกษาหรือประเมินผลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าแต่เพื่อน ๆ คิดเห็นอย่างไรกับราคาตั๋วชมภาพยนตร์ในบ้านเราบ้างเอ่ย ลองมาแชร์ความคิดเห็นกันดูนะคะ

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X