ออฟฟิศสุขภาพดี..ห้องนี้คุณสร้างได้
2012-10-14 20:33:49
Advertisement
คลิก!!!
ออฟฟิศ
 


ออฟฟิศสุขภาพดี..ห้องนี้คุณสร้างได้ (Health&Cuisine)

แม้ว่างานจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาจำนวนมากในแต่ละวันเพื่อทำงานและอยู่ในที่ทำงาน ที่ซึ่งสามารถส่งเสริมและบั่นทอนสุขภาพของคุณได้มากพอ ๆ กัน

การมีพื้นที่ทำงานและบรรยากาศที่ดี ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่สมบูรณ์และสร้างสรรค์ แต่สถานที่ทำงานอาจมีผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า โรคแพ้ตึก หรือ Sick Building Syndrome ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับแล้วว่า กำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนทำงานทั่วโลกมากขึ้นทุกวัน ซึ่งเกิดจากระบบการระบายอากาศไม่ดี แสงไฟที่ไม่เป็นธรรมชาติ อุณหภูมิที่สูงและต่ำเกินไป รวมถึงสารพิษและไอระเหยจากวัสดุอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ เช่น จอคอมพิวเตอร์ ตู้ โต๊ะทำงานที่ทำจากพาร์ติเคิลบอร์ด พรมสังเคราะห์ เครื่องถ่ายเอกสาร น้ำยาทำความสะอาด

อาการของโรคแพ้ตึกจะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานที่ทำงาน หรือห้องพักอาศัย (ที่มีปัญหา) แต่เมื่อออกมาจากสถานที่นั้นก็รู้สึกดีขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้ได้แก่ ปวดศีรษะ วิงเวียน ระคายเคืองตา จมูก คอ หายใจขัด อ่อนเพลีย เซื่องซึม บางครั้งจะเกิดขึ้นพร้อมกับอาการหมดเรี่ยวหมดแรง ง่วงเหงาหาวนอน บางรายมีอาการเรื้อรังอื่นๆ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ไซนัส จนถึงขั้นที่ระบบประสาทผิดปกติ

เมื่อระบบอากาศภายในอาคารเป็นแบบปิด ซึ่งต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียว จึงเป็นโอกาสที่ทำให้สารระเหยเหล่านี้สะสมตัวมากยิ่งขึ้น และงานวิจัยจำนวนมากก็ยืนยันว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารที่ใช้เครื่องปรับอากาศ มีโอกาสป่วยมากกว่าผู้ที่ทำงานในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือใช้พัดลมหลายเท่า เพราะเครื่องปรับอากาศจะทำให้ประจุไฟฟ้าในอากาศลดลง และส่งผลต่อร่างกาย เช่น เม็ดเลือดแดงแข็งตัว หอบหืด โรคทางเดินหายใจ ไขข้อ นอนไม่หลับ ติดเชื้อง่าย ซึมเศร้าและเครียด หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมเหล่านี้ให้ดีขึ้น
คุณภาพชีวิตของพนักงานก็จะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ และมีสุขภาพย่ำแย่ตลอดเวลา

ชวนสร้างออฟฟิศสุขภาพดี

คุณฤาชา รัชชนันท์ อุปนายกฝ่ายวิชาชีพ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้คำแนะนำเรื่องหลักการออกแบบอาคารสำนักงานที่ดี และมีประสิทธิภาพไว้ว่า "การออกแบบอาคารควรคำนึงถึงทิศและทางของแสงแดด เพราะอุณหภูมิในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 38 องศาเซลเซียส ทิศตะวันตกจึงเป็นทิศที่ร้อนที่สุด จึงควรจัดให้เป็นอาคารที่จอดรถ เพื่อช่วยบังแสงและเป็นร่มเงาให้กับสำนักงานที่อยู่ด้านหน้า หรือจัดวางให้เป็นห้องน้ำ เพื่อให้ความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรค ส่วนทิศใต้ซึ่งจะมีแสงย้อนจากพระอาทิตย์ ควรมีที่บังแดดกันความร้อน หรือจัดให้เป็นส่วนแกนของอาคาร เช่น ลิฟท์ บันไดหนีไฟที่ไม่ต้องการความเย็นมาก"

"การปรับอุณหภูมิควรตั้งไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องเย็นจนเกินไป เพราะอุณหภูมิที่เย็นมากจะทำให้อากาศแห้งมาก เมื่อเปิดประตูห้องความชื้นจากภายนอกไหลเข้ามา ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำตกลงบนพรม ซึ่งเป็นกลายที่สะสมของเชื้อรา และพนักงานก็เจ็บป่วย

"แสงและสีก็มีผลต่อการทำงาน แสงอ่อน ๆ หรือสีเขียวของต้นไม้จะช่วยสร้างความรู้สึกสดชื่นตื่นตัว และช่วยกรองแสงแรง ๆ จากหน้าต่างโดยที่เราไม่ต้องปิดม่านตลอดเวลา หากต้องการความโปร่งสบายก็ใช้ผนังกระจกเป็นตัวกั้นแทนพาร์ติชั่น ใช้กลาสบล็อคช่วยเพิ่มแสงสว่าง หรือใช้กระจกเงาเพื่อแก้ปัญหาห้องที่อึดอัดคับแคบ"

ส่วนการเลือกใช้อุปกรณ์สำนักงาน ก็ควรใช้ชนิดที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เช่น ทาสีด้วยสีที่ปลอดสารตะกั่วที่อาจสะสมในร่างกาย และทำอันตรายต่อระบบสมอง เลือกใช้อุปกรณ์สำนักงาน ที่ทำจากธรรมชาติแทนชนิดที่ทำจากพาร์ติเคิลบอร์ด ที่ปล่อยสารระเหยที่เป็นพิษ ใช้สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศที่ปลอดสาร CFC (ก๊าซที่ทำลายโอโซนและกักความร้อนไว้ในบรรยากาศ ทำให้อากาศร้อนขึ้น) เลือกใช้คอมพิวเตอร์ชนิดที่มีแผ่นกรองแสงหรือติดตั้งเพิ่ม เพื่อลดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อาจมีผลต่อสุขภาพ รวมทั้งเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้สารเคมี

ออฟฟิศในฝัน

แสงสว่างเพียงพอสำหรับโต๊ะทำงาน

ฉนวนกันความร้อนเพื่ออยู่อย่างเย็นสบาย

อุปกรณ์เครื่องใช้ทำจากวัสดุธรรมชาติเพื่อลดสารระเหยที่เป็นพิษ

สีทาผนังปลอดสารตะกั่ว

เครื่องใช้ในห้องน้ำปลอดสารซีเอฟซีและสารเคมีอันตราย

ท่อระบายของเสียและบ่อบำบัดน้ำเสีย

แยกส่วนเครื่องถ่ายเอกสารเป็นสัดส่วนป้องกันผงหมึกกระจาย

ถังขยะแยกประเภทเพื่อนำไปรีไซเคิล

ตั้งความเย็นเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส

ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน

แผ่นกรองแสงลดความจ้าของคอมพิวเตอร์

มีร้านอาหาร ห้องออกกำลังกาย สถานพยาบาลเพื่อสุขภาพ

มีห้องเลี้ยงเด็ก

จัดสัดส่วนบริเวณสำหรับการสูบบุหรี่

มีเครื่องกรองน้ำที่ดีมีประสิทธิภาพและทำความสะอาดสม่ำเสมอ

ปลูกไม้ประดับดูดสารพิษ

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X