พ่อเชื่อในเลือดตัวเอง คำ ถวัลย์ ดัชนี ถึงลูกชายคนเดียว ดอยธิเบศร์
2014-09-12 18:25:57
Advertisement
คลิก!!!

คอลัมน์ Hello เซเลบ
ที่มา นสพ.มติชน 

 

"ผมเองยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าพ่อกับแม่คืออะไร แต่พอโตขึ้นมามีลุงคนหนึ่งที่แบบว่าใจดี เวลาเจอเรา แล้วแกชอบพาเราไปกินของดีๆ เช่น หมูสะเต๊ะที่กินแบบเปล่าๆ ไม่ต้องกินกับข้าว นั่นคือความรู้สึกแรกๆ ที่ได้เจอกับพ่อ เพราะยังไม่คุ้นกัน" 

น้ำเสียงเรียบๆ ของ "ม่องต้อย" ดอยธิเบศร์ ดัชนี เล่าถึงช่วงเวลาระหว่างเขากับพ่อ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ในช่วงที่เขายังอยู่ในวัยเยาว์


วันนี้แม้ "ลมหายใจ" ของพ่อจะสิ้นลงแล้ว หากความทรงจำระหว่างเขากับพ่อยัง "ตราตรึง" ประทับอยู่ในหัวใจของลูกชายคนเดียวคนนี้ไม่ลบเลือน 

ในวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ก่อนพิธีสวดพระอภิธรรม ก่อนที่แขกเหรื่อจะมาร่วมแสดงความเสียใจกับการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ดอยธิเบศร์ย้อนเล่าถึงวันวานระหว่างเขากับพ่อที่เขาจดจำได้อย่างแม่นยำ 

"ผมเป็นลูกที่มีเวลาอยู่กับพ่อแม่น้อย เพราะเราต่างคนต่างอยู่คนละที่กัน อย่างตั้งแต่เด็กผมจะใช้ชีวิตอยู่กับย่า เพราะพ่อจะมีภารกิจตลอด ทำให้ผมกับพ่อมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยมาก" 

แต่เมื่อดอยธิเบศร์โตขึ้นเขาเริ่มมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดพ่อมากขึ้น เพราะในบางวันหยุด พ่อจะพาเขาไปอยู่ด้วยกันที่ "บ้านดำ" พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย

"เรามีเวลาเขียนรูปด้วยกันบ้าง พ่อเขียนรูปไป ส่วนผมก็เขียนรูปอยู่ข้างๆ หรือไม่ก็วาดบนหลังพ่อ ยังได้เล่นขี่หลังพ่อบ้าง ต่อยมวยด้วยกันบ้าง ซึ่งก็เป็นความประทับใจช่วงเวลาสั้นๆ ตอนที่ผมเป็นเด็กจนพอโตขึ้นมาอีกประมาณ 10 กว่าขวบ เราได้ทำงานร่วมกัน แต่ก็ไม่มีเวลามานั่งเล่นเหมือนคู่พ่อลูกทั่วไป"

ลูกชายโทนในวัย 38 ปี ได้เลือดศิลปินของพ่อมาทุกหยาดหยด เขาไม่คิดจะทำอะไรนอกเหนือจาก "ศิลปะ" ขณะนี้กำลังศึกษาปริญญาเอกคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากจบปริญญาตรีสาขาศิลปกรรมจิตรกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และปริญญาโทสาขาบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปัจจุบันยังดูแลบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ เป็นอาจารย์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ





"ผมค้นพบตัวเองว่า ศิลปะเป็นสิ่งเดียวที่ทำแล้วผมมีความสุขที่สุด ทำได้ดีที่สุด นั่นเพราะเราพ่อลูกเคยทำอะไรด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก วาดรูปด้วยกัน และพ่อจะเอารูปภาพที่ผมวาดเหล่านั้นมาบอกว่าวาดเป็นยังไง ช่วงทำงานกับพ่อตอน 12-13 ขวบ เวลาที่พ่อไปวาดรูปหรือไปทำอะไร พ่อจะให้ผมเป็นลูกมือ เช่น ให้ผสมสี หรือทำโน่นทำนี่ ฉะนั้นจึงเรียนรู้และซึมซับศิลปวัฒนธรรมตลอดเวลา ขณะที่ท่านจะไม่แตะต้องอะไรผมทุกเรื่อง ให้อิสระทางความคิดและตัดสินใจเอง และผมก็เลือกทางนี้"

เวลามีคนมาถามว่าพ่อสอนอะไร สอนลูกแบบไหน ดอยธิเบศร์จะบอกว่า วิธีสอนของพ่อคือ "ไม่สอน"

"พ่อผมจะเลี้ยงลูกแบบสิงโต คือ ให้เรียนรู้และให้ใช้ชีวิตด้วยตนเอง ประมาณว่าหากไม่แกร่งก็ปล่อยให้มันตายไป เหมือนกับธรรมชาติมันคัดสรรความแข็งแรงของมันเอง

"พ่อจะบอกเสมอว่า พ่อเชื่อในเลือดตัวเอง" 


"วิธีการเลี้ยง พ่อจึงเอาผมไปจุ่มกับวัฒนธรรมกับสิ่งที่พ่อเคยเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กคือ การเอาไปให้ย่าเลี้ยง เพราะว่าย่าเลี้ยงด้วยวิธีแบบโบราณที่ปากว่ามือถึง ใช้วิธีที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งพ่อเชื่อว่า หากเอาผมไปให้ย่าเลี้ยง ก็น่าจะออกมาได้ดีระดับหนึ่ง ก็เป็นวิธีคิดที่อยากให้ผมดำเนินรอยตาม"

ด้วยตัวตนของจิตรกรเอกผู้นี้ "ผู้ลึกซึ้งในพุทธปรัชญา" ที่สามารถรังสรรค์ผลงานศิลปะออกมาเป็นผลงาน "พุทธศิลป์" ได้อย่างล้ำลึก ถวัลย์ ดัชนี "ผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น" แม้ใกล้สิ้นใจ เขาก็มิได้สั่งเสียอะไรกับบุตรชายถึงผลงานอันล้ำค่าสักคำ 

"ไม่มีคำสั่งเสียอะไรจากพ่อ" ดอยธิเบศร์กล่าว 

"เพราะตลอดระยะเวลาที่เราโตร่วมกันมา ผมเชื่อว่าเราได้สนทนาในเรื่องศิลปะและสิ่งที่เราต้องทำกันมาอยู่แล้ว ซึ่งก่อนที่พ่อจะเสียประมาณ 1-2 ปี ผมก็ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อพิสูจน์ให้พ่อได้เห็นว่า ผมสามารถสืบสานงานต่อได้ อย่างย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ผมทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ผมก็พยายามหาข้อมูลอะไรที่เกี่ยวกับบ้านดำ เช่น พิพิธภัณฑ์ ทั้งเรียนการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์เพื่อมาดูแลบ้านดำในอนาคต จากนั้นหลังเรียนจบก็รู้ว่าต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง จึงวางโครงการไว้ ค่อยๆ ทำจนมาส่งผลตอนที่พ่ออายุ 73-74 ปี 





"ผมทำอะไรหลายๆ อย่างให้พ่อได้เห็น ท่านก็รู้สึก และบอกว่า พ่อพร้อมที่จะตายแล้ว ท่านพูดไว้ก่อน และบอกว่าภูมิใจในตัวผม ไม่ห่วงอะไรแล้ว

"และช่วงหลังๆ ก่อนที่พ่อจะเสีย เราได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง เช่น พาไปต่างจังหวัด พาไปกินกุ้งกินปู แต่ละอย่างจนผมรู้สึกว่า เราไม่มีอะไรติดค้างกันแล้ว ผมคิดว่าได้ทำหน้าที่ของลูกและหน้าที่ที่ต้องทำไปหมดแล้ว ฉะนั้น วันที่พ่อจากไป ก็จากไปอย่างสงบ ไม่ได้ร่ำลาสั่งเสียอะไรเหมือนที่คนอื่นเขาทำกัน"

สำหรับ "อนาคตบ้านดำ" ดอยธิเบศร์จะสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะครบวงจรในชื่อ "บ้านดำอาร์ตสเปซ" 

"ผมใช้เวลาตลอดชีวิตเพื่อหาคำตอบว่า สิ่งที่พ่อสร้างไว้มันจะอยู่ได้อย่างไร เพราะบ้านดำเปิดมา 40 ปี เราไม่มีรายได้อะไรเลย ก็พบคำตอบว่า แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว แต่ก็มีคนเข้าไปใช้บริการตลอดระยะเวลาที่มันเกิดขึ้น ทั้งประชาชนทั่วไป แขกบ้านแขกเมือง ตลอดจนทูตานุทูต และเชื้อพระวงศ์ ผมจึงใส่การบริหารจัดการและระบบที่ดีเข้าไป ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะครบวงจร"

ดอยธิเบศร์วางอนาคตบ้านดำเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะ มีการรวมตัวของศิลปิน การจัดแสดงผลงานศิลปะ ซึ่งนอกจากจะได้องค์ความรู้ส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยและโรงเรียนด้านศิลปะแล้ว โครงการนี้อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้เชียงรายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งเขาวางโครงการนี้ไว้ 10 กว่าปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดอย่างที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงในขณะนี้ 

"จ.เชียงรายมีศิลปินแห่งชาติด้านจิตรกรรม 3 คน เช่น คุณพ่อ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ อาจารย์เดชา บุญค้ำ ฉะนั้นเชื่อว่ามีเอกลักษณ์และจุดขาย ซึ่งหากเราทำแล้วมีรูปแบบที่มีบูรณาการ ผมเชื่อว่าจะเป็นการสร้างจุดแข็งให้จังหวัด ผมจะทำให้ศิลปะไม่ใช่อยู่แค่ผืนผ้าใบอย่างเดียว"

ดอยธิเบศร์วางรากฐานบ้านดำจากนี้ให้สามารถเลี้ยงชีพอยู่ด้วยตนเองได้ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษา เพราะเขาคิดว่า "วันหนึ่งผมก็ต้องจากไปเช่นกัน"

"ตราบใดที่ยังมีคนมาเยี่ยมและอุดหนุนของที่ระลึกเรา ผมเชื่อว่าบ้านดำอยู่ได้ เพราะมีรายได้มาหล่อเลี้ยงค่าน้ำค่าไฟอะไรต่างๆ เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะรวย ไม่คาดหวังว่าจะนำเงินกำไรเหล่านี้มาใช้ แต่เราคาดหวังอยากให้บ้านดำอยู่คงทนถาวรดูแลตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องนำรูปมาเร่ขาย ไม่ได้ขอเงินจากรัฐบาล งานตรงนี้ผมไม่กังวลหรือกลัว เพราะทำมานานแล้วเป็นสิ่งที่พ่อเห็น ไม่จำเป็นต้องประกาศว่าเป็นผมคิดผมทำ" 

ท้ายที่สุด 

"แม้ร่างกายพ่อจะจากไป แต่ผลงานศิลปะของพ่อจะเป็นอมตะตลอดกาล และส่วนตัวผมเชื่อว่า พ่อก็ไม่ได้จากไปไหน ตราบใดที่เราทำงาน" บุตรชายของถวัลย์ ดัชนี ทิ้งท้ายอย่างหนักแน่น



′สายใย′ ผูกพัน ′พ่อลูก′

ช็อกโกแลตความสุขเล็กๆ ของพ่อ

"พ่อจะดูแลคนอื่นดีมาก หากมีอยู่ 100 จะให้คนอื่น 70-80% แต่กับตัวเองมีเวลาน้อยมาก อย่างเวลากินข้าว มีเนื้อเค็มที่แช่ตู้เย็นมีน้ำแข็งติด พ่อก็เอามาตีๆ กับเสา แล้วก็กินกับข้าว เท่านี้ก็อยู่ได้แล้ว พ่อเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ ติดดิน แต่ทำในสิ่งที่ล้ำเลิศ ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ หรือไม่ว่างานอะไร พ่อจะเป็นคนประณีตทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องให้ตัวเอง พ่อไม่ค่อยซีเรียสเรื่องนี้เลย 

"นอกจากนี้สิ่งที่ผมเห็นคือ พ่อจะคืนให้กับแผ่นดินเกิดตลอดเวลา แต่คืนให้กับตัวเอง บางทีนั่งกินช็อกโกแลต 2-3 ชิ้น พ่อก็มีความสุขแล้ว อย่างเวลามีแขกมาและกลับไปหมดแล้ว พ่อก็มีเวลากับตัวเองด้วยการไปเปิดตู้เย็นเอาช็อกโกแลตมานั่งกิน ผมเชื่อว่า การกินช็อกโกแลตเป็นความสุขเล็กๆ ของพ่อ"

บอกรักพ่อทุกวัน 

"สมัยก่อนเราไม่ได้มานั่งบอกรักว่าลูกรักพ่อนะ วิธีการบอกรักของผมคือการกอด มันมากกว่าคำพูดและอะไรหลายอย่าง แต่ช่วงหลังๆ ที่พ่อป่วยเรากอดกันไม่ได้ ผมก็บอกรักพ่อทุกวันว่า ′ผมรักพ่อนะ′ พ่อก็บอกกลับมาว่า ′แน่นอน′ บ้างก็บอก ′อือ′ บางทีก็ยิ้ม

"ทุกวันผมจะบอกรักพ่อ เพื่อให้รู้ว่าผมยังอยู่ข้างๆ ไม่ว่ายังไงก็ตาม อย่างช่วงที่พ่อแย่ๆ แทบไม่รู้สึกตัวแล้ว บางทีผมไปพูด พอพ่อรู้ว่าผมมา ก็จะลืมตามอง พอบอกรักพ่อ พ่อก็จะพยักหน้าให้บ้าง บางทีก็ยิ้ม ซึ่งผมเห็นรอยยิ้มผ่านเคลาของพ่อ" 

พ่อสง่างามจนถึงวินาทีสุดท้าย

"สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ในตัวพ่อคือ ไม่เคยอ่อนแอ เข้มแข็งจนวินาทีสุดท้าย พ่อเป็นคนสง่างาม ไม่เคยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจพะรุงพะรัง และไม่เคยเข้าโรงพยาบาล ผมจับมือพ่อไว้และอยู่กับท่านจนถึงวินาทีสุดท้าย ช่วงที่ชีพจรของพ่อเต้นช้าลงและค่อยๆ หลับไปอย่างสงบและสง่างามที่สุด ไม่มีอาการทุรนทุราย ทั้งที่พ่อเป็นทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งกระดูก ซึ่งน่าจะทรมานมาก แต่พ่อไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ เลย แม้น้ำตาของพ่อสักหยดผมก็ไม่เคยเห็นเลยในชีวิต" 

ความแปลกหมายเลข 3

"จริงๆ เลข 3 มีความหมายกับผมพอสมควร เพราะว่ามันเป็นเลขลัคกี้นัมเบอร์ของผม ตั้งแต่เลขที่บ้าน เบอร์โทร. ทะเบียนรถ ทุกอย่างของผมเป็น 3 หมด อย่างตอนที่พ่อเข้าโรงพยาบาลระดับน้ำตาลในกระแสเลือดขึ้น 333 ผมก็บอกพ่อว่านี่เอาใจลูกมากเลย เราก็คุยกันเป็นเรื่องตลกขบขัน รวมถึงวันเกิดผมวันที่ 3 ตุลาคม วันพ่อเสียก็วันที่ 3 กันยายน ทั้งที่อีกไม่กี่วันก็จะวันคล้ายวันเกิด 75 ปีของพ่อในวันที่ 27 กันยายนนี้ อย่างน้อยท่านก็จากไปแบบให้ผมจดจำ ซึ่งท่านก็รู้ว่าผมรักเลข 3 มากแค่ไหน 

"นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวมากกว่านั้น เพราะหลังจากที่ท่านเสีย ทางโรงพยาบาลนำร่างท่านไปไว้ที่ห้องเย็นเลข 3 ทั้งที่มีว่าง 4 ตู้ และรถที่จะมาเคลื่อนร่างของพ่อ ที่ช่วงหลังเปลี่ยนเอารถคันใหม่ที่มีเบาะนั่งมา เลขทะเบียนก็ลงท้ายด้วยเลข 3 ซึ่งมันก็เป็นเรื่องบังเอิญ และเป็นเรื่องแปลก" 

------------------------------

ขอบคุณภาพจาก "นิตยสารพลอยแกมเพชร" และ "เฟซบุ๊ก Doytibet Duchanee"

ที่มา  http://www.khaosod.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X