ศิลปะเวียดและจาม เรียนรู้เพื่อนบ้าน ผ่านศิลปกรรมโบราณ
2014-09-23 07:56:31
Advertisement
คลิก!!!

คอลัมน์ โปรดอ่าน 
สนพ.มติชน


เมื่อมองกลับไปในอดีต กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงจะไม่มีรูปแบบเช่นนี้ ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า ดินแดนอาเซียนที่เราอยู่กันนั้น ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่มีเส้นเขตแดนแบ่งแยก โดยเรียกดินแดนนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” 

กาลเวลาผ่านไปดินแดนสุวรรณภูมิเกิดการแบ่งแยกเป็นรัฐอิสระ จนกระทั่งแบ่งแยกเป็นประเทศดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยใช้แนวคิดทางการเมืองการปกครอง มีเส้นเขตแดนเป็นเครื่องมือ ดังนั้นหากมองไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AC) 2558 เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน โดยศิลปกรรมโบราณสามารถช่วย “สร้าง” ความเข้าใจในความเหมือนและความต่างของกลุ่มคนในอาเซียนได้เป็นอย่างดี

ศิลปะเวียดและจาม เขียนโดย ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนังสือเล่มแรกในชุดประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศอาเซียน ที่จะกล่าวถึงศิลปกรรมโบราณในประเทศเวียดนาม โดยใช้วิธีการประวัติศาสตร์ศิลปะศึกษาเป็นหลัก นั่นทำให้เนื้อหาครบถ้วนไปด้วยประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม 

ในประเทศเวียดนามแบ่งกลุ่มวัฒนธรรมหลักๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เวียดและจาม ชาวเวียดจะมีศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนเป็นหลัก ส่วนชาวจามจะได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ถือได้ว่าเป็นสองกลุ่มอิทธิพลที่มีรูปแบบศิลปะแตกต่างกันอย่างมาก แต่อาจารย์อชิรัชญ์ได้รวบรวมข้อมูลไว้เป็นอย่างดี และหากพิจารณาจากภูมิศาสตร์ประเทศเวียดนามเป็นดินแดนที่ไกลจากประเทศไทยพอสมควร อีกทั้งยังถูกแบ่งกันโดยประเทศลาวและกัมพูชา แต่กระนั้นก็ดี ศิลปะเวียดและจามยังถูกถ่ายทอดมายังดินแดนไทยด้วยเช่นกัน อาทิเช่น พระธาตุพนมที่เรือนธาตุด้านล่างมีการเซาะร่องเสาแบบปราสาทจาม หรือวัดกว๋างเพื๊อกตื่อ(วัดอนัมนิกายาราม) ย่านบางโพ ที่มองจากภายนอกอาจคิดได้ว่าเป็นวัดจีน แต่แท้จริงแล้วได้เป็นวัดของชาวเวียดนามที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1

ตัวอย่างที่ยกมา ทำให้ทราบได้ว่าความเป็นศิลปวัฒนธรรมไม่สามารถแบ่งแยกจากความเป็นประเทศได้ และยังมี “ศิลปวัฒนธรรมร่วม” อีกมากมายที่ส่งต่อไปมาระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

ที่สำคัญศิลปะเวียดและจามเป็นเพียงเล่มแรกในชุดที่น่าสนใจนี้ ยังมีศิลปะเขมร ศิลปะพม่า ศิลปะลาว และศิลปะชวา รอให้นักอ่านได้สะสมความรู้ไปพร้อมๆ กัน
 


ที่มา  http://www.khaosod.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X