เตือนเครียดสะสมเสี่ยงมะเร็ง แนะใช้อารมณ์ขันช่วย
2014-11-01 15:11:02
Advertisement
คลิก!!!

        สธ. เผยสื่อเสนอข่าวเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้น 26% สะท้อนคนไทยเครียดมากขึ้น ขาดการจัดการอารมณ์ถูกต้อง เตือนเครียดมากส่งผลทั้งกายและใจ ทำหงุดหงิด โมโหง่าย เสี่ยงก่อเหตุรุนแรง เกิดโรคหัวใจ ความดันสูง สะสมนานถึงขั้นเป็นมะเร็ง เตรียมจัดบริการรับคำปรึกษาใน รพ. ทุกแห่ง แนะเคล็บลับ สบายใจ พอใจ ภูมิใจ สร้างอารมณ์ดี เน้นอารมณ์ขันคลายเครียด เพิ่มความอดทน

30 ต.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2557 หัวข้อ “ร่วมสร้างอารมณ์ดี ให้ทุกชีวีมีความสุข” จัดโดยกรมสุขภาพจิต ระหว่างวันที่ 1 - 7 พ.ย. นี้ ว่า เหตุการณ์ความรุนแรง หรือความขัดแย้งในสังคม ล้วนเกิดจากอารมณ์ โดยเฉพาะความเครียดที่มีผลการศึกษาทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการเฉียบพลันคือ หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์ร้อน อาจก่อความรุนแรงได้ง่าย หากสะสมไว้นานจะก่อให้เกิดโรคทางกาย คือ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และมะเร็ง ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกในร่างกายทำงานผิดปกติ รวมไปถึงโรคทางจิต ที่น่าห่วงคือภาวะทางอารมณ์ของคนไทยยังขาดการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม สังเกตได้จากสถานการณ์ข่าวความรุนแรงทางสังคมที่เกิดขึ้นตามสื่อต่างๆ ซึ่งในปี 2557 มีข่าวความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 26% โดยเป็นข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทั้งทางสังคม การเมือง ชายแดนใต้ สตรี เด็ก และครอบครัวรวม 29,238 ครั้ง
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การมีสุขภาพจิตดี มีความคิดบวก ก็จะสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างสมดุล ทั้งยังป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ลดป่วยทางกาย ลดความรุนแรงทางสังคม สธ.จึงมีนโยบายเร่งส่งเสริมสุขภาพจิตประชาชนตลอดชีวิตทุกกลุ่มวัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ โดยปีนี้ได้เพิ่มบริการใหม่คือ การจัดบริการปรึกษาปัญหาด้านสังคมจิตวิทยาให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทั่วประเทศ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพื่อช่วยคลายความรุนแรงให้ประชาชนที่มีปัญหา และตั้งเป้าว่าต่อไปทุกโรงพยาบาลชุมชนจะต้องมีศูนย์ที่ส่งเสริมสุขภาพจิตตามกลุ่มวัยต่างๆ ให้คนในชุมชนสามารถมีที่ปรึกษาและมาขอคำปรึกษาได้หากมีภาวะเครียด
       
       ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสร้างสรรค์อารมณ์ดี ให้มีความสุขทำได้โดยยึดหลัก 3 ใจ คือ 1. สบายใจ คือ การทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป รู้ทันสถานการณ์ที่มากระตุ้นอารมณ์ จัดการอารมณ์ให้เป็นและถูกวิธี ลดอารมณ์โกรธให้ได้ หลีกเลี่ยงความรู้สึกอคติ สร้างบรรยากาศความไว้วางใจและใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความอบอุ่น 2. พอใจ คือพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ใช้ชีวิตเรียบง่าย จัดชีวิตให้ลงตัวสมดุลทั้งด้านสุขภาพ การงาน ครอบครัว และ 3. ภูมิใจ เป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้อื่น มีจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถปรับและรับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ได้ โดยในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดพิมพ์หนังสืออารมณ์ดีมีสุข แจกให้ประชาชนจำนวน 16,000 เล่มด้วย
       
       “วิธีการจัดการผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียด อาจใช้เทคนิคง่ายๆ โดยการใช้อารมณ์ขัน จะช่วยลดความอคติ ช่วยสร้างบรรยากาศให้อบอุ่น โดยอารมณ์ขันจะทำให้คนเรามีความอดทน อดกลั้นสูงขึ้น จะไม่เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ไม่เป็นมิตร หากประชาชนสนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและเทคนิคการฝึกทักษะต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์อารมณ์ดี ที่หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต 31 แห่งทั่วประเทศ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า สำหรับการให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า ในปี 2557 มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอรับบริการปรึกษา จำนวน 47,797 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย ปัญหาที่ปรึกษามากที่สุด คือ ความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 30 โรคทางจิตเวช ร้อยละ 23 ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 7 ปัญหาพฤติกรรมร้อยละ 4 และความรักร้อยละ 4


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 






เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X