|
อุ้งเชิงกรานอักเสบ! (e-magazine)
หลังหมดประจำเดือน คุณผู้หญิงเคยรู้สึกปวดท้องน้อย ปวดหน่วง ๆ ตลอดเวลาบ้างไหม เพราะถ้ากำลังเป็นอยู่ คุณอาจมีลาภอันไม่ประเสริฐจากการเป็น "มดลูกอักเสบ"
มดลูกอักเสบคืออะไร
มดลูกอักเสบ โรคที่ได้ยินชื่อบ่อย ๆ จนคุ้นหู มักเกิดขึ้นในผู้หญิงอายุระหว่าง 15-45 ปี เกิดจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Desease) คือการอักเสบแบบเฉียบพลันในบริเวณมดลูก และอาจแพร่กระจายไปสู่บริเวณช่องท้องได้ โรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเป็นการติดเชื้อในบริเวณใด
ถ้าติดเชื้อและเกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ก็จะเรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
ถ้าติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่ปีกมดลูก จะเรียกว่าปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis)
คนที่เป็นมดลูกอักเสบจะมีอาการอย่างไร
1. มีไข้เกิน 38 องศา หนาวสั่น ซึ่งอาการไข้จะเกิดขึ้นพร้อม หรือใกล้เคียงกับอาการปวดท้องน้อย
2. ปวดท้องน้อย ส่วนใหญ่มักเริ่มปวดก่อน และหลังมีประจำเดือน (ส่วนใหญ่มักไม่เกิน 14 วันหลังมีประจำเดือน) เป็นอาการปวดหน่วงตลอดเวลา ร่วมกับปวดเกร็งเป็นระยะ และจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
3. ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย แสดงว่าโรคได้ลามไปถึงเยื่อบุช่องท้องแล้ว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายได้
4. ตกขาวมีกลิ่น
สาเหตุของการเป็นมดลูกอักเสบ
มักเกิดจากการติดเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศ และเกิดการอักเสบ แล้วลามขึ้นมายังส่วนบน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.การติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นเชื้อหนองใน (Neisserea Gonorrhoea) และเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia trachomatis) ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่ชอบเที่ยว และมีคู่นอนหลายคน
2.ภาวะขาดสมดุลของสิ่งแวดล้อมในช่องคลอด เช่น มีเลือดออกในช่องคลอดเรื้อรัง การบาดเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น Peptococci, Peptostreptococci, Gardnerella Vaginalis, etc.
3.การติดเชื้อหลังคลอด (Puerperal Infection) มักเกิดปัจจัยที่มากระทบทำให้เกิดการกระตุ้นเชื้อที่มีอยู่แล้วในช่องคลอดอย่างเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส และเชื้อสเตรปโตค็อกคัสจนเกิดเป็นโรค โดยมักมีปัจจัยจากการคลอดที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โลหิตจาง คลอดยาก การบาดเจ็บ เศษรกค้าง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วอยู่นานก่อนคลอด ฯลฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
4.การทำแท้ง หากไม่ได้ทำอย่างสะอาด อาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้น และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
ใครที่เสี่ยงต่อโรคนี้
ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย ๆ หญิงบริการ หรือนอนกับผู้ชายที่มีเสี่ยงต่อการมีโรคหนองใน หรือหนองในเทียม
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ขณะอายุยังน้อย เนื่องจากมีภูมิป้องกันตัวเองต่ำ และมูกของปากมดลูกยังไม่สามารถป้องการการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียได้ดีพอ
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน หรือในช่วงหลังคลอดได้ไม่นาน เนื่องจากในช่วงนี้ สภาพของมดลูกยังไม่มีกลไกในการป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอ จึงอาจทำให้ติดเชื้อ และเกิดการลุกลามได้
ผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัย
ผู้ที่สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ เนื่องจากการสวนล้างช่องคลอดทำให้การสมดุลของเชื้อโรคตัวที่ควรจะมีในช่องคลอด และบริเวณมดลูกเสียไป
จะป้องกันอย่างไรดี
1.งดการร่วมเพศกับผู้ที่มีความเสี่ยง
2.หลังการคลอดบุตร ขูดมดลูก หรือแท้งบุตร ควรงดการร่วมเพศ หรือสวนล้างช่องคลอดเป็นเวลา 6 อาทิตย์
3.ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อหนองใน ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีก่อนที่จะลุกลามไปมากขึ้นจนกลายเป็นปีกมดลูกอักเสบ
4.ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ
รักษาอย่างไร
ถ้าดูตามอาการแล้วสงสัยว่าอาจจะเป็นมดลูกอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการลุกลามไปส่วนอื่น ถ้าถึงขั้นมีไข้สูง และกดแล้วเจ็บ หรือปวดบริเวณท้องน้อย ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์จะหาสาเหตุจากการตรวจ
1. ปัสสาวะ
2. เม็ดเลือดขาว
3. นำหนองในช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อ หรืออัลตราซาวด์
4. ผู้ป่วยอาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องดูตามอาการของผู้ป่วย เช่น การให้ยาแก้ปวด การลดไข้ การให้น้ำเกลือ และอาจต้องให้เลือดถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด และต้องให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค
ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม