มาทำความรู้จัก 9 อวัยวะ ลูกน้อยแรกเกิด
2012-07-12 18:22:10
Advertisement
คลิก!!!
เด็กแรกเกิด - แม่และเด็ก


รู้จัก 9 อวัยวะ ลูกน้อยแรกเกิด (Mother & Care)

Baby Care ฉบับนี้ ชวนคุณแม่มารู้จักกับ รูปร่าง อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของลูกน้อยแรกเกิดกันให้มากขึ้น มาดูกันว่า ลักษณะบางอย่างสิ่งที่คุณแม่มองเห็น มีที่มา หรือสาเหตุอะไรบ้าง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ต้องใส่ใจดูแลอย่างไรด้วยค่ะ

1.ศีรษะ

ลักษณะ : ศีรษะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว โดยกะโหลกศีรษะประกอบไปด้วยกระดูกเป็นแผ่นๆ ต่อกัน 4 ชิ้น บริเวณดังกล่าวยังประสานกันได้ไม่หมด จะค่อย ๆ ปิดสนิทเมื่ออายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป ส่วนหน้าที่เปิดอยู่จึงถูกเรียกว่า กระหม่อม

การดูแล : ระมัดระวังไม่ให้ศีรษะกระทบกระเทือน หรือไปกดทับบริเวณกระหม่อม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสมองของลูก ทั้งนี้รูปร่างศีรษะจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามโครงสร้างพันธุกรรมเมื่อลูกโตขึ้นค่ะ

2.หนังตา

ลักษณะ : บริเวณเปลือกตาอาจมีลักษณะบวม ที่เกิดจากการกด เบียด ระหว่างการคลอดได้ บางครั้งอาการหนังตาบวม ก็เกิดจากการติดเชื้อได้เช่นกัน

การดูแล : หากคุณแม่ไม่แน่ใจกับอาการ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ควรปรึกษา ขอคำแนะนำจากคุณหมอ

3.ดวงตา

ลักษณะ : ดวงตาลูกไม่สัมพันธ์กัน ลักษณะดังกล่าว เกิดจากกล้ามเนื้อตายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เปลือกตากางออกมาปิดบริเวณหัวตามากเกินปกติ เนื้อส่วนจมูกยื่นมากินเนื้อที่ของตาขาว ทำให้คุณแม่รู้สึกว่า ดวงตาลูกไม่สัมพันธ์กัน

การดูแล : ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติดูแลค่ะ เพราะเมื่อโตขึ้น สันจมูกโด่งขึ้น ดึงเปลือกตาออกไปก็จะเป็นปกติ

4.จมูก

ลักษณะ : มีจุดขาว ๆ ที่จมูก คล้ายสิวเสี้ยนของผู้ใหญ่ คุณหมอเรียกลักษณะนี้ว่า "มีเลีย" เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นได้ไม่มีอันตรายส่งผลใดๆ กับลูกแรกเกิด

การดูแล : ฉะนั้น คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องแคะ แกะ หรือบีบออกมา เพราะถ้ามือคุณแม่ไม่สะอาด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

5.หน้าอก

ลักษณะ : บริเวณเต้านมของลูก อาจดูตั้งเต้าและมีน้ำนมไหลออกมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะฮอร์โมนของคุณแม่ที่ผ่านมาทางสายรกยังคงอยู่ในตัวลูก เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กช่วงแรกเกิดทั้ง 2 เพศค่ะ

การดูแล : ไม่ควรเค้นหรือไปบีบเต้านม เพราะเต้านมของลูกจะค่อย ๆ ยุบหายไปได้เอง

6.เล็บมือ

ลักษณะ : เล็บมือยาวตั้งแต่แรกเกิด เป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือเรื่องการดูแล ทำความสะอาดเล็บให้ลูก

การดูแล : ช่วยลูกด้วยการตัดเล็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่ให้เล็บของลูกข่วนตัวเองจนเป็นแผลได้

7.สายสะดือ

ลักษณะ : คล้ายแท่งวุ้นสีขุ่น ๆ จะค่อย ๆ แห้งหลุดไปเองหลัง 1-3 สัปดาห์หลังคลอด

การดูแล : ควรทำความสะอาดโดย เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ (ตามที่คุณหมอแนะนำ) และหมั่นสังเกตความผิดปกติ เช่น มีกลิ่นหรือมีเลือดซึมออกมา อาการแบบนี้ต้องพาไปพบคุณหมอทันที

8.มือและเท้า

ลักษณะ : มือและเท้าอาจมีสีคล้ำ (คล้ายสีม่วง) มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากเลือดใต้ผิวหนังยังไหลเวียนไม่ดีพอ เมื่อมีการกดทับบริเวณนั้นๆ เช่น ระหว่างนอน จึงทำให้เกิดลักษณะดังกล่าว

การดูแล : คุณแม่อาจเปลี่ยน ท่านอน อิริยาบถของลูกบ้างก็ได้ค่ะ

9.อวัยวะเพศ

ลักษณะ : อวัยวะเพศ

เด็กผู้หญิงจะมีลักษณะบวมเล็กน้อย หรือมีมูกขาว ๆ ขับออกมาจากช่องคลอด ลักษณะแบบนี้ เกิดจากฮอร์โมนของคุณแม่ที่ผ่านมาทางสายรก ซึ่งจะหายไปได้เอง ไม่ต้องกังวลหรือตกใจ

ส่วนเด็กผู้ชายจะเห็นว่าลูกอัณฑะมักลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ บางคนลงมาเพียงข้างเดียวและจะตามลงมาอีกข้างภายหลัง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ แรกเกิด

การดูแล : เน้นเรื่องการทำความสะอาด หลังจากที่ลูกขับถ่ายให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เวลาเช็ดก้นต้องเช็ดจากหน้าไปหลังเท่านั้น เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอด

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X