โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : เรื่องของสกอตแลนด์
2014-09-25 17:22:36
Advertisement
คลิก!!!


โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
ที่มา มติชนออนไลน์


สกอตแลนด์เป็นประเทศที่งดงาม แต่ในความงดงามนั้นก็เต็มไปด้วยความแร้นแค้น เพราะสถานที่ที่งดงามนั้นส่วนใหญ่จะแร้นแค้นหาความอุดมสมบูรณ์ได้ยากยิ่ง พูดง่ายๆ ก็คือพื้นดินปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น เนื่องจากสกอตแลนด์เต็มไปด้วยขุนเขาและดินแดนที่ปราศจากต้นไม้ที่เรียกว่ามัวร์แลนด์ รวมทั้งแม่น้ำกว้างและทะเลสาบที่ตลิ่งสูงชันอยู่ทั่วไป ทำให้คนสก๊อตต้องทิ้งถิ่นฐานอพยพไปหาเลี้ยงชีพต่างถิ่นเป็นส่วนใหญ่

สกอตแลนด์มีพื้นที่ 78,772 ตารางกิโลเมตร คือ ประมาณครึ่งหนึ่งของอิงแลนด์ซึ่งมีเนื้อที่ 130,395 ตารางกิโลเมตร แต่สกอตแลนด์มีประชากรห้าล้านคนเศษ ในขณะที่อิงแลนด์มีประชากรประมาณ 51 ล้านคน 

สรุปว่า สกอตแลนด์มีประชากรเพียง 1 ใน 10 ของอิงแลนด์เท่านั้นเอง

ในประวัติศาสตร์จักรวรรดิโรมันเข้ายึดครองเกาะอังกฤษไว้ได้ทั้งหมดร่วม 400 ปี แต่มิได้ยึดครองสกอตแลนด์ เนื่องจากฝ่ายโรมันเห็นว่าไม่คุ้ม เพราะเป็นดินแดนที่แร้นแค้นนัก ทางการโรมันจึงสร้างกำแพงยาวเหยียดไว้ตรงพรมแดนอิงแลนด์กับสกอตแลนด์ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกสก๊อตเข้ามาในเขตอิงแลนด์ได้เท่านั้น กำแพงนี้ชื่อว่า


"กำแพงเฮเดรียน" ปัจจุบันก็ยังมีหลงเหลืออยู่

ต่อมาทั้งสกอตแลนด์และอิงแลนด์ก็ได้ตั้งเป็นอาณาจักร มีกษัตริย์ปกครองด้วยกันทั้งคู่ โดยทางอิงแลนด์พยายามที่จะเข้ายึดครองสกอตแลนด์มาโดยตลอด เนื่องจากเกรงว่ามหาอำนาจจากภาคพื้นทวีปยุโรปจะใช้สกอตแลนด์เป็นฐานในการรุกรานอิงแลนด์ จนในที่สุด พ.ศ.2146 (ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) อิงแลนด์ก็ตกลงให้กษัตริย์เจมส์ที่ 6 ของสกอตแลนด์มาเป็นกษัตริย์อังกฤษ พระนามว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (โดยอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่รัฐสภาอังกฤษ) 

จนกระทั่ง พ.ศ.2250 (ราวปลายสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ) จึงมีการยุบรัฐสภาของสกอตแลนด์เอามารวมกับรัฐสภาอิงแลนด์ที่กรุงลอนดอนเพียงแห่งเดียว เป็นการเริ่มการเป็น สหราชอาณาจักร ที่แท้จริงเมื่อ 307 ปี มานี้เอง

พ.ศ.2540 (ตรงกับปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งหรือวิกฤตฟองสบู่แตกของไทย) รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ แห่งพรรคแรงงาน ได้ผ่านกฎหมายให้มีการออกเสียงประชามติให้สกอตแลนด์สถาปนารัฐสภาของสกอตแลนด์ขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง

ผลจากการเกิดมีรัฐสภาของสกอตแลนด์ขึ้นมาใหม่นี้เองคือ สาเหตุของการลงประชามติในญัตติที่ว่า ชาวสกอตแลนด์ต้องการแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราชโดยจากสหราชอาณาจักรหรือไม่? ในวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายนที่ผ่านมานี้ยังไงครับ ซึ่งผลจากการนับคะแนนใน 32 เขตของการลงคะแนนเสียงปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนคัดค้านการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเป็นจำนวน 2,001,926 เสียง เหนือการสนับสนุนให้แยกตัวออกเป็นเอกราช 1,617,989 เสียง โดยการลงประชามติในครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 85% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

ก็หมดเรื่องหมดราวไป แบบว่าถือเป็นสีสันให้มีการมหกรรมให้ลุ้นกันของชาวโลก ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เป็นเพียงการโหยหาอาลัยของชาวสก๊อตจำนวนมากที่ยังอาลัยอาวรณ์ความเป็นรัฐชาติที่พ้นสมัยไป เนื่องจากโลกปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็พากันมุ่งเข้าสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ สหภาพ หรือสหรัฐกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ชาวสก๊อตได้ลงประชามติไม่แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรก็เป็นการแสดงถึงชัยชนะของประชาชนสก๊อตที่ใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ในการลงประชามติครั้งนี้ 

ความจริงการลงประชามติ (referendum) ของสกอตแลนด์ครั้งนี้ ทางวิชาการเรียกว่า เพลบิสไซต์ (plebiscite) จะถูกกว่า เนื่องจากการลงประชามตินั้นเป็นการแสดงออกของอำนาจอธิปไตยของประชาชนในเรื่องต่างๆ โดยอาศัยเสียงข้างมากตัดสิน ในขณะที่เพลบิสไซต์นั้นจะเป็นเรื่องของการลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจอธิปไตยของประเทศโดยตรง เช่น การลงคะแนนเสียงเรื่องเขตแดน การลงคะแนนเสียงเพื่อการยุบประเทศ 

การลงคะแนนเสียงเพื่อการแยกประเทศ เป็นต้น ทั้งการที่มีการลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินว่า สกอตแลนด์จะแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราชออกจากสหราชอาณาจักรครั้งนี้จัดว่าเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยโดยตรงอย่างแท้จริง

 

ที่มา  ข่าวสดออนไลน์

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X