ครั้งแรกของโลก! จีนใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างกระดูกคอเทียม
2014-08-28 13:48:12
Advertisement
คลิก!!!

 

นายแพทย์หลิว จ้งจุน ผู้อำนวยการศูนย์ออร์โธปิดิก โรงพยาบาลปักกิ่ง กล่าวว่า การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

สร้างข้อกระดูกสันหลังเทียมทดแทนข้อกระดูกเดิมได้แนบสนิท นับเป็นก้าวใหม่ในการแพทย์ของโลก (ภาพซินหวา)

   

รอยเตอร์ส - สื่อต่างประเทศรายงาน (27 ส.ค.) ว่าแพทย์จีนประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูกสันหลังเทียมซึ่งสร้างจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้เด็กชายวัย 12 ปี
       
       

รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ผ่าตัดรักษาเด็กชายฉินหมิงห่าว ชาวจี่หนัน ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่คอระหว่างการเล่นฟุตบอลและมีอาการป่วยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
       
       ในช่วงแรก แพทย์วินิจฉัยว่าเด็กชายหมิงห่าว กระดูกคอร้าวแต่อาการกลับทวีความรุนแรงถึงขั้นขยับศีรษะไม่ได้ การยืนเดินนอน เป็นไปด้วยความทรมาน สุดท้ายพบว่าเกิดจากกระดูกสันหลังช่วงคอที่ผิดรูปเพราะเนื้องอกมะเร็งกระดูกชนิดที่มักเกิดขึ้นในเด็ก และหากปล่อยไว้จะเป็นอัมพาต อีกทั้งรุนแรงถึงขั้นอาจเสียชีวิต
       
       นายแพทย์หลิว จ้งจุน ผู้อำนวยการศูนย์ออร์โธปิดิก โรงพยาบาลปักกิ่ง กล่าวว่า การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างข้อกระดูกสันหลังเทียมทดแทนข้อกระดูกนี้ ช่วยให้แพทย์สามารถสร้างอวัยะเทียมได้สมบูรณ์แบบตรงกับอวัยวะเดิม และตามความจำเป็นของผู้ได้รับการรักษา โดยหลังจากการผ่าตัดนานกว่า 5 ชั่วโมงสำเร็จลุล่วง เด็กชายหมิงห่าว พักฟื้นนาน 5 วัน ก็อาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตเดินนั่งนอนตามปกติ และจะได้รับการรักษามะเร็งตามกระบวนการอื่นๆ ต่อไป
       
       ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของโลกในการใช้เทคโนโลยีพรินเตอร์พิมพ์อวัยวะเทียมรักษาผู้ป่วย โดยใช้เครื่องซีทีสแกนกระดูก บันทึกข้อมูลนำไปแปลงผลผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ จนได้อวัยวะเทียมที่ใกล้เคียงพิมพ์เดียวกับอวัยวะเดิม และสามารถประกอบเข้าไปในร่างของผู้ป่วยได้สนิทเทียบเท่ากับอวัยวะที่หายไปมากกว่าวิธีเดิมๆ
       
       แพทย์กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ทดลองพิมพ์อวัยวะด้วยเครื่องพิมพ์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยอวัยวะทดแทนจากเทคโนโลยีนี้แล้วกว่า 40 คน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ผู้รับการรักษาสุขภาพดีขึ้นอย่างมาก ไม่มีผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาต่อต้านใดๆ ของร่างกาย
       
       "ข้อดีของเทคโนโลยีพิมพ์สามมิติมี 2 เรื่อง คือสามารถพิมพ์อวัยวะเทียมได้สมบูรณ์เหมือนต้นแบบแม้จะเป็นส่วนที่มีรายละเอียด หรือรูปทรงเรขาคณิตที่ซับซ้อน นอกจากนั้นยังสามารถใช้ผลิตกับวัสดุโลหะที่มีรูพรุนได้ด้วย ตัวอย่างที่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้พัฒนาการรักษาได้แก่ แบบพิมพ์ของฟันในการรักษากระดูกรากฟันเทียม"
       
       แพทย์หลิว ยังกล่าวว่า ร่างกายจะสร้างกระดูกแท้เข้ากับกระดูกโลหะรูพรุน ซึ่งเดิมใช้ไททาเนียม และจะมีส่วนที่ไม่แนบสนิท อีกทั้งนานวันไปเนื้อกระดูกใหม่ที่งอกขึ้นเพื่อเกาะจับในส่วนที่ไม่แนบสนิทอาจเกิดแรงกดทำให้กระดูกเดิมผิดรูปได้ ดังนั้น วิธีการใหม่ในการสร้างพิมพ์กระดูกนี้ ย่อมดีกว่าและช่วยพัฒนาผลการรักษาให้สมบูรณ์ขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม แพทย์หลิว และคณะแพทย์ของโรงพยาบาลปักกิ่ง ยังต้องรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานสาธารณสุขจีนเพื่อใช้เทคโนโลยีนี้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ

 

 

 

 

เจ้าหน้าที่ฯ กำลังแสดงกระดูกเทียมที่พิมพ์ขึ้นจากต้นแบบของผู้รับการรักษา ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ

ครั้งแรกของโลก (ภาพรอยเตอร์ส)

 

 

ข้อกระดูกโลหะที่มีรูพรุนซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่มีมุมเรขาคณิตสอดรับแนบสนิทกับอวัยวะเดิมของผู้ป่วย

ทุกประการ (ภาพรอยเตอร์ส)

 

 

 คลิปสัมภาษณ์นายแพทย์หลิว จ้งจุน ผู้อำนวยการศูนย์ออร์โธปิดิก โรงพยาบาลปักกิ่ง ซึ่งใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างข้อกระดูกสันหลังเทียมทดแทนข้อกระดูกเดิม ช่วยให้แพทย์สามารถสร้างอวัยะเทียมได้สมบูรณ์แบบตรงกับอวัยวะเดิมที่เสียไป

 

ที่มาhttp://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X