อ่อนโยนท่ามกลางโลกที่รุนแรง
2012-07-03 12:53:27
Advertisement
คลิก!!!

เด็กดูทีวี



อ่อนโยนท่ามกลางโลกที่รุนแรง (momypedia)
โดย: ปลาเข็ม

มีความรุนแรงกลมกลืนอยู่รอบ ๆ ตัว ที่ถูกมองข้ามไป

"เฮ้อ...อ...อ..."

เสียงถอนหายใจยาวของแม่ละไมท้ายซอยดังขึ้นอีกหน เธอมักขึ้นต้นด้วยเสียงถอนใจแล้วตามด้วยเรื่องของลูก ๆ

"เจ้าสองหนุ่มของเธอทำอะไรล่ะทีนี้" แม่ลูกเดี่ยวแสดงท่ารู้ทัน"

"ก็ยังหรอก ฉันเป็นห่วงเท่านั้นเอง เธอดูสิ ความรุนแรงอยู่รอบๆ ตัวลูกเรา ดู ข่าวก็เห็นภาพ ยิ่งช่วงไหนมีข่าวฆาตกรรมโหดๆ ยิ่งขยายความทุกซอกทุกมุมเป็นอาทิตย์ เปิดละครเห็นทะเลาะกันที ฉันต้องคอยเปลี่ยนช่อง การ์ตูนก็ปล่อยให้ หนีไปช่องหนังฝรั่ง แหมสนุกใหญ่เธอ ทุกช่องผลัดกันยิงทุกๆ 1 นาที รีโมตฉันไวไม่พอ"

"มาเป็นชุดเชียวนะจ๊ะ คุณแม่ผู้มีความกดดัน แล้วเธอจะทำยังไงได้ คงไม่ถึงกับห้ามลูกดูทีวี"

"ก็เริ่มดูทีวีไปกับลูกด้วยเลย จะได้รู้ว่าเรื่องไหนเขาไม่ควรดู เรื่องไหนรุนแรงไป ห้ามดู ฉันเองก็พลอยอดดูหนังดูละครไปหลายเรื่อง ตัดปัญหา"

ทีแรกพ่อเขาไม่เข้าใจหรอก บอกว่าลูกเราเป็นผู้ชายต้องชอบเรื่องต่อสู้ ไม่ชอบสิแปลก ฉันต้องมาแจงให้เขาฟังว่า ความรุนแรงมันมีมากไปจริง ๆ ดูได้บ้าง ไม่ถึงกับห้าม ไปทุกเรื่อง แต่ถ้าเราไม่ควบคุม เขาจะซึมซับไปเรื่อย ๆ แล้วเอามาใช้ในชีวิตจริง

"ลูกฉันจะมีความอ่อนโยนได้อย่างไร ถ้าเราปล่อยปละละเลยเขา เป็นผู้ชายก็ต้องรู้จักความอ่อนโยนนะเธอ"

"น่าจะสบายใจได้ เธอจัดการกับเรื่องนี้ได้ดีออก" แม่ลูกเดี่ยวออกปากชม แล้วเสริมอีกเรื่อง

"เกมก็น่าห่วง เธอต้องคุมเวลาเล่นของลูกนะ ดูด้วยว่าเขาเล่นเกมอะไรกัน เมื่อวัน ก่อนเจอเฮียเจ้าของร้านเกมเล่าให้ฟังว่า พวกเด็กๆ ที่มาเล่นเกมยิงที่เล่นเชื่อมกับเครื่อง อื่นๆ ในร้านได้น่ะ เจ้าคนเล่นแพ้โกรธจริง ลุกขึ้นท้าชกนอกร้าน แกต้องห้ามทัพ เธอคิดดูสิ ปกติเด็กๆ ผิดใจกันก็ทะเลาะกันแล้ว มาเล่นเกมไล่ยิงกัน ฉันว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงนะ"

"เฮ้อ..อ..อ" สองคนถอนใจพร้อมกัน

ความรุนแรงลอยนวลเข้ามาอยู่ในบ้านของเรามากขึ้นจริง ๆ ดิฉันว่าไม่ใช่แค่ความกังวลเกินไปของเราทั้งคู่หรอกค่ะ ที่สหรัฐอเมริกานับเป็นญาติสนิทก็ว่าได้ ทาง the American Psychology Assosiation เขาทำการสำรวจเด็กอเมริกันของเขาเอง ซึ่งน่าจะพอสะท้อนแนวโน้มบางอย่างได้ เพราะเด็กไทยเราดูหนังอเมริกันกันมาก เราพบ ว่าเด็กทั่ว ๆ ไปตั้งแต่เล็กจนโตมาถึงวัยประถม ได้เห็นการฆ่ากันในทีวีมาแล้ว 8,000 ครั้ง และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กที่ได้พบเห็นความรุนแรงทางทีวีบ่อย ๆ จะไปแสดงความก้าว ร้าวเอากับคนอื่น ตะคอกหรือทุบตีเพื่อน

เรากำลังกังวลถึงส่วนที่มองเห็นภาพได้ชัด ยังมีความรุนแรงที่กลมกลืนอยู่รอบ ๆ ตัวเราอาจมองข้ามไปโดยไม่ทันนึก เราจะตำหนิแต่ปัจจัยภายนอกที่ถาโถมเข้ามาสู่ลูก โดยไม่มองสิ่งอื่นภายใต้หลังคาบ้าน คงไม่ได้ค่ะ ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่เลือกใช้อำนาจกับลูกตลอดเวลา เอาชนะลูกด้วยการตี ใช้ การดุว่ากันรุนแรง หรือระหว่างผู้ใหญ่เองก็ก้าวร้าวใส่กันเป็นปกติให้ลูกเห็นทุก ๆ วันหรือไม่ เป็นเรื่องน่าหยิบยกมาพิจารณาอย่างถ่องแท้

การหล่อหลอมลูกให้เป็นคน มีความอ่อนโยน แม้จะอยู่ในกระแสโลกที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทุกที ข้อสำคัญก็คือต้องให้ความอ่อนโยนกับลูกๆ ด้วย การปฏิบัติต่อลูกๆ ด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยน การรู้จักให้อภัย และการปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน หากมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ควรเก็บอารมณ์ไว้ไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูกๆ ใครๆ ก็มีอารมณ์โกรธขึ้นมาได้ อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่า เขามีสิทธิ์ที่จะมีความรู้สึกเช่นนี้ได้ แต่การแสดงออกของเขาก็ต้องแสดงออกมาอย่างเหมาะสม แสดงความโกรธได้ แต่ต้องไม่แสดงออกมาเป็นความรุนแรง ทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจกันด้วยคำพูดแรง ๆ

ในยามที่ลูกของเราอึดอัดไม่สบายใจ เป็นพ่อแม่ก็ต้องรู้จักทะนุถนอมอารมณ์อันอ่อนไหวของเด็ก ๆ ด้วยใช่ไหมคะ ให้ความรู้สึกอบอุ่น ให้ความเข้าใจ และคำพูดปลอบโยนเขาเพื่อ ให้เขาจิตใจเยือกเย็นลง ให้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นเวลาสงบสุข ผู้ใหญ่ เองอย่าปล่อยให้ตัวเองระบายความเครียด จากที่ทำงานหรือจากปัญหาต่าง ๆ ของผู้ใหญ่ มาลงกับลูกบ่อย ๆ เราต้องสอนลูกให้แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญาค่ะ ไม่เอาชนะความขัดแย้งด้วยการใช้กำลัง เราเองก็ต้องเป็นต้นแบบให้ลูกด้วย ระหว่างคุยกันในมื้ออาหาร อาจเล่าให้ลูกฟังว่า เราแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการทำงานด้วยสติปัญญาอย่างไร หรือยกย่องชื่นชมใครที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

แม่ลูกหนึ่งผู้รู้ดีแนะนำละไมเพิ่มเติมว่า "เธอรู้ไหมจ๊ะ เด็ก ๆ เขาจะมีพลังงานสะสมไว้เยอะ ชวนเขาเล่นกีฬาบ้าง จะช่วยระบายพลังงานสะสมของเขาไปใช้ในทางที่เหมาะสม"

"ต้องเลือกประเภทกีฬาด้วยนะ อย่างกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม แบบฟุตบอลน่ะ เธอดู บรรยากาศการเล่นด้วยว่า ในทีมมีการรังแกกันหรือเปล่า เลี่ยงมาเป็นกีฬาประเภท แบดมินตัน เทนนิส ว่ายน้ำ ซึ่งดูแล้วไม่จำเป็นต้องข้องแวะกับความรุนแรงจะดีกว่า"

การสอนให้ลูก รู้จักคำว่า อกเขาอกเราเด็ก ๆ เขาจะได้นึกสงสารคนอื่นเป็นบ้างค่ะ มีคำถามสองสามข้อไว้ถามลูก ๆ ค่ะ เวลาลูกใช้ความรุนแรงกับเพื่อนหรือคนรอบตัวเขา ถามลูกว่า...

ลูกคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ถ้าลูกไปชกเขา เขาจะรู้สึกเจ็บ โกรธ หรือเสียใจไหม?

ลูกคิดไหมว่า คนนั้นเขาจะคิดว่าลูกเป็นคนอย่างไร?

ลูกคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกยังทำร้ายคนอื่นอยู่?

คำถามของเราช่วยให้เรารู้จักลูกค่ะ ว่าเขาคิดอย่างไร ถ้าเขาตอบมาแล้วแสดงความสงสารคนอื่นบ้าง ไม่น่าห่วงค่ะ เพราะเขายังมีความอ่อนโยนอยู่ เพียงแต่ไม่รู้ว่า เขาทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บ

แต่ถ้าเขาพูดถึงแต่ผลของการกระทำของตัวเองว่า จะนำความเดือดร้อนให้เขาในภายหลังเช่นอาจโดนครูทำโทษ แสดงว่าเราต้องให้ลูกเข้าใจเรื่องความอ่อนโยนมากยิ่งขึ้น และสร้างบรรยากาศให้มีความอ่อนโยนรอบ ๆ ตัวลูก เรื่องใกล้ ๆ ตัวที่เราไม่ควรมองข้ามเป็นพ่อแม่ยุคนี้อาจต้องดูแลลูกให้ละเอียดลออ กว่าคนในสมัยก่อน เราคงอยากให้บรรยากาศรอบตัวเราน่าอยู่ไปอีกนาน ๆ ใช่ไหมคะ เพราะภายใต้หลังคาเล็ก ๆ แต่ละหลังที่นำลูกออกห่างจากความรุนแรง จะช่วยสร้าง สังคมที่รู้จักความอ่อนโยนค่ะ

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X