ไม่สร้างเขื่อนจะกระทบการผลิตกระแสไฟฟ้าจริงหรือ?
2013-10-01 07:36:45
Advertisement
คลิก!!!

 

    สืบเนื่องจากกรณีที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ด้วยการเดินเท้าจากอุทยานแห่งชาติ แม่วงก์  มว. 4 แม่เรวา อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 388 กิโลเมตร ทำให้ข่าวดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ และมีบางส่วนได้ออกมาสนับสนุนความเห็นดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน  ก็มีกลุ่มผู้สนับสนุนออกมาโต้แย้งด้วยประเด็นว่า คนที่คัดค้านเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่กระแสไฟฟ้าหรืออย่างไร เพราะการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะช่วยเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศด้วย

          ทั้งนี้ ในรายการโครงการจัดทำแผนพัฒนาการชลประทานเมื่อ ปี 2554 ของกรมชลประทาน ได้เผยข้อมูลว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ (ความจุมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 33 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 463 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4,262 แห่ง รวมทั้งสิ้นมีอ่างเก็บน้ำ จำนวน 4,758 แห่ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเคยถูกกลุ่มคนบางส่วนหยิบยกขึ้นถามรัฐบาลว่า ทั้งที่มีอ่างเก็บน้ำเยอะขนาดนี้ เหตุใดผลิตกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้สักที

          แต่เมื่อศึกษาข้อมูลในรายงานการใช้ไฟฟ้าและการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ของกระทรวงพลังงาน พบว่า ประเทศไทยมีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังน้ำ น้ำมัน และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ซึ่งมีปริมาณการใช้เชื้อเพลิง 3 อันดับแรก ดังนี้

           อันดับที่ 1 ก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

          อันดับที่ 2 พลังงานถ่านหิน ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
     
          อันดับที่ 3 พลังงานน้ำ ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์

          สาเหตุที่มีการใช้พลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ เนื่องจากการสร้างเขื่อนมีจุดประสงค์ เพื่อกักเก็บน้ำ โดยเก็บน้ำจากช่วงฤดูน้ำหลากและปล่อยน้ำใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภคบริโภคในช่วงขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดสำคัญของเขื่อนกับการผลิตกระแสไฟฟ้า คือ การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ในช่วงที่สามารถปล่อยน้ำออกจากเขื่อนได้ แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง จนส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการปล่อยน้ำอย่างระมัดระวัง

          ในรายงานฉบับดังกล่าวยังเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 24,630 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่า สูงที่สุดในรอบ 8 ปี คือ ช่วง พ.ศ. 2546-2553 ซึ่งการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากนี้ ย่อมต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดและผลิตไฟฟ้าได้มาก ได้แก่ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

 


 


          นอกจากนี้ วารสารนโยบายพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงข้อมูลการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยอีกว่า ใน ปี 2555 มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จำนวน 176,973 กิกะวัตต์ชั่วโมง (1 กิกะวัตต์ = 106 กิโลวัตต์) ส่วนการใช้เชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า มีดังนี้

           การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 67 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 119,434 กิกะวัตต์ชั่วโมง

           การผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์/ถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 20 อยู่ที่ระดับ 34,518 กิกะวัตต์ชั่วโมง

           การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 อยู่ที่ระดับ 8,431 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในช่วงต้นปี 2555 ที่แหล่งเยตา กุน มีการปิดซ่อมบำรุงประจำปี

           การนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไฟฟ้าแลกเปลี่ยนกับมาเลเซีย และอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 อยู่ที่ระดับ13,213 กิกะวัตต์ชั่วโมง

           การผลิตเข้าไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 อยู่ที่ระดับ 1,363 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำมันเตาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจากพม่าในช่วงกลางปี 2555

          จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่า เมื่อใดที่ก๊าซธรรมชาติมีไม่เพียงพอหรือขาดแคลน จะมีการใช้พลังน้ำ หรือเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล มาผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทั้งนี้ แม้โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่จะมีขีดความสามารถสูงในการรักษาความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า สำหรับรองรับช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด แต่เพราะข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าที่ทำได้เฉพาะช่วงที่มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน จึงไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างถาวร

          อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทยนั้น อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะเขื่อนใหญ่ ๆ แต่ละแห่งก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำกัด เช่น เขื่อนภูมิพล ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 779.2 เมกะวัตต์ เขื่อนศรีนครินทร์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 720 เมกะวัตต์ เขื่อนสิริกิติ์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 500 เมกะวัตต์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ขณะที่เขื่อนเล็ก ๆ ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 10-100 เมกะวัตต์  เช่น  เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์

          จากข้อมูลในข้างต้นสรุปได้ว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมากที่สุด รองลงมายังคงเป็นถ่านหินหรือลิกไนต์ ส่วนพลังงานน้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยรองรับในช่วงที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด ดังนั้นการไม่สร้างเขื่อนจะส่งผลกับการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไม่ อาจต้องลองพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยนั่นเอง

 

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X