ทรงกลด บางยี่ขัน ชี้กลุ่มต้านเขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้ขวางการพัฒนาประเทศ
2013-09-30 17:34:10
Advertisement
คลิก!!!

 

        ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้กลุ่มต้านเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ขวางการพัฒนาประเทศ แต่เขื่อนมีประสิทธิภาพต่ำในการจัดการน้ำท่วม-แล้ง แนะใช้งานเขื่อนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดีกว่าทำลายผืนป่าแห่งนี้

           เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day และนักเขียนชื่อดังที่ใช้นามปากกาว่า "ก้อง คาร์ ไว" ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Zcongklod Bangyikhan" มีใจความระบุว่า

          "ตอน นี้ผมอยู่ต่างแดนครับ แต่ละวันกว่าจะกลับมาถึงโรงแรมก็ดึกดื่น กลับมาก็ต้องรีบทำงานกองโตที่พกมาด้วย แต่เห็นข่าวรายการคนค้นฅนไม่ได้ออกอากาศเมื่อวานแล้วรู้สึกว่า ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งเราไม่ควรนิ่งเฉย ยุคนี้ไม่มีอะไรจะหยุดการนำเสนอความจริงของเราได้ ถ้าเราไม่ยินยอม
 
          ผมไม่ยอมครับ เลยพยายามเขียนเล่าเรื่องเขื่อนแม่วงก์ต่อ เท่าที่เวลาและสมาธิพอจะมี วันนี้อยากตอบคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยว่า ถ้าเขื่อนไม่ดีแล้วทำไมเมืองไทยถึงมีเขื่อนมากมายไปหมด ถ้าการสร้างเขื่อนต้องตัดไม้ทำลายป่าแล้วเขื่อนใหญ่ ๆ ที่ผ่านมาเราสร้างได้ยังไง คำตอบเป็นแบบนี้ครับ

           1. เขื่อนเป็นเทคโนโลยีการเก็บน้ำที่มนุษย์ภูมิใจเมื่อในอดีต

           2. เขื่อนไม่ได้ถูกต่อต้านเพราะเป็น "เขื่อน" แต่ถูกต่อต้านเฉพาะเขื่อนที่สร้างในพื้นที่ซึ่งต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศขนานใหญ่ เขื่อนขนาดใหญ่จึงมักจะสร้างผลกระทบมากกว่าเขื่อนขนาดเล็ก

           3. เขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศไทยสร้างในอดีต ในยุคที่เรายังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เป็นช่วงเวลาที่เรายังให้สัมปทานตัดไม้จากป่า แต่เวลาผ่านไป เมื่อปริมาณป่าไม้ลดน้อยลงจนน่าเป็นห่วง เราก็เริ่มตื่นตัวและเริ่มตระหนักว่า การทำโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องทำลายป่าไม้จำนวนมากเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง จะว่าไปเขื่อนขนาดใหญ่ก็คล้ายสาร DDT ตอนค้นพบทีแรก ผู้ค้นพบได้รับรางวัลโนเบลเพราะเป็นสารที่ช่วยฆ่ายุงและแก้ปัญหาโรคติดต่อ จากยุงได้ แต่หลังจากนั้นพบว่า DDT เป็นสารพิษที่ตกค้างในธรรมชาติเป็นระยะเวลาที่นานมากจึงเป็นอันตรายต่อระบบ นิเวศ และถูกห้ามใช้ในที่สุด

           4. บางเขื่อนรู้ทั้งรู้ว่าสร้างแล้วจะมีปัญหา เช่น เขื่อนปากมูล ก็สร้างขึ้นได้จากการดันทุรังสร้างท่ามกลางการคัดค้าน

           5. เขื่อนเป็นเทคโนโลยีของตะวันตก เป็นวิธีคิดที่เชื่อว่ามนุษย์อยู่เหนือทุกอย่างในโลกได้ ซึ่งสุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาว มีการรื้อถอนเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งไปแล้วในสหรัฐอเมริกา

           6. บรรพบุรุษไทยเราสะสมภูมิปัญญาการจัดการน้ำมาเนิ่นนาน ทั้งระบบเหมืองฝาย ระบบคูคลอง และการขุดบ่อเก็บน้ำ ซึ่งมีทั้งในระดับชุมชน และระดับบ้านเรือน ระบบเศรษฐกิจพอเพียงก็สนับสนุนให้ทุกบ้านมีแหล่งน้ำของตัวเอง

          7. ประเทศไทยก็ไม่ได้ร่ำไม่ได้รวยอะไร ถ้าเขื่อนไหนยังใช้งานได้ ก็ควรจะใช้งานต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ถ้าเขื่อนไหนพบว่าสร้างปัญหาอย่างรุนแรงค่อยคิดเรื่องรื้อถอน อย่างเขื่อนปากมูลซึ่งสะท้อนความล้มเหลวของการสร้างเขื่อนได้ชัดเจนมาก ตอนนี้ต้องเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนเกือบทั้งปีเพื่อให้แม่น้ำมูลไหลได้

          8. การสร้างเขื่อนส่วนใหญ่คิดเรื่องการจัดการน้ำในมุมที่น้ำเป็นเพียงของเหลว ที่ไหลได้เท่านั้น แต่ไม่ได้คิดถึงเรื่องชีวิตที่อยู่ในน้ำ และชีวิตของผู้คนที่ทำมาหากินกับสายน้ำ ดังนั้นเขื่อนจำนวนมากจึงส่งผลต่อสัตว์น้ำ (ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเรา) และผู้คนที่ไม่สามารถทำประมงในแม่น้ำใต้เขื่อนได้อีกต่อไป

          9. สัตว์ป่ากินน้ำบริเวณแหล่งน้ำที่มีตลิ่งตื้น ๆ ความคิดที่ว่าสร้างเขื่อนแล้วสัตว์ป่าจะออกมากินน้ำเล่นน้ำในเขื่อน นั้นตื้นเขินพอ ๆ กับการเอาเต่าบกไปปล่อยลงแม่น้ำ

          10. อย่าเพิ่งเหมารวมว่าการค้านเขื่อนคือ การขวางการพัฒนาประเทศ การค้านเขื่อนแม่วงก์มีเจตนาเดียวคือ ต้องการรักษาป่าไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งไว้ แทนที่จะเอาไปทำเขื่อนที่มีประสิทธิภาพต่ำมากในการจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง"

 

 
 
 
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X