วราเทพ ย้ำแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำเพื่อ ทักษิณ คนเดียว
2012-12-16 20:43:51
Advertisement
คลิก!!!
วราเทพ รัตนากร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          นาย วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีการทำประชามติ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ซึ่ง นายวราเทพ ย้ำว่า ไม่ได้แก้ไขเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียวแน่นอน พร้อมกันนี้ นายวราเทพ ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ประเด็นอื่น ๆ ดังนี้

รัฐบาลมองว่า การทำประชามติจะช่วยลดความขัดแย้งและทำให้ประเทศเดินหน้าใช่หรือไม่?
 
          วราเทพ : การทำประชามติ เป็นสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจมานานแล้วตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่เพิ่งมาตัดสินใจในช่วงหลัง เมื่อเห็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดี เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบด้าน ซึ่งรัฐบาลกับพรรคร่วมเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุด ต้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และการทำประชามติ เป็นทฤษฎีที่ตรงกับประชาธิปไตย คือ การรับฟังเสียงส่วนใหญ่ โดยเปิดพื้นที่ให้คนส่วนน้อยแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งเจตนารมณ์ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลคือ การทำให้ประเทศมั่นคงและเดินหน้าต่อไปได้ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวในวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา
 
การที่รัฐบาลทำประชามติก่อนยกร่าง เป็นการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วยหรือไม่?
 
          วราเทพ : เป็นการนำมาประกอบเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ซึ่งศาลเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขแต่อย่างใด ทว่าความเห็นของศาลก็เหมือนเป็นการคุ้มครองชั่วคราว ให้ชะลอลงมติวาระ 3 ไปก่อน พร้อมกับมีแนวทางเสนอแนะทำนองว่า ให้ไปทำประชามติก่อนที่จะทำอะไร
 
รัฐบาลมั่นใจแค่ไหนว่าประชามติจะผ่าน เพราะเหมือนมีคนออกมาค้านเสียมากกว่า?
 
          วราเทพ : ถ้ารัฐบาลเลือกเดินหน้าทำประชามติ แสดงว่า รัฐบาลมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าใจ และให้ประชามติผ่านแน่นอน ทว่าถ้าหากไม่ผ่าน ก็ต้องดูว่ามีผลอะไรตามมาบ้าง ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้คิดตรงจุดนี้ คิดแต่ว่า ขั้นต่อตอนไปหลังจากผ่านประชามติคือ เข้าสู่กระบวนการของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูว่า ตรงไหนบ้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลหรือรัฐสภาแล้ว เมื่อยกร่างเสร็จก็จะให้ประชาชนลงมติอีกครั้ง ตรงจุดนี้ก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้วเช่นกัน
 
รัฐบาลจะเข้าไปรณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติหรือไม่?
 
          วราเทพ : ต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ มี 2 ส่วนคือ ฝ่ายจัดการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนฝ่ายให้ข้อมูล คือ หน่วยงานภาครัฐ โดยให้ข้อมูลยึดหลัก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งจุดนี้นักการเมืองและรัฐบาลจะไปชี้นำอะไรไม่ได้แล้ว
 
คำถามที่ใช้ในการทำประชามติ เป็นอย่างไร?
 
          วราเทพ : ลักษณะของคำถาม จะกล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยจะกลับมาให้ประชาชนพิจารณาอีกครั้ง แต่ความจริง เป็นรายละเอียดที่มากเกินไป ดังนั้นคำถามจะต้องสั้นกระชับ ทำนองว่า เห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
หลายฝ่ายมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ โดยการโละมาตรา 309 ออกไป?
 
          วราเทพ : อย่างที่บอกไป เมื่อเข้าสู่กระบวนการของ ส.ส.ร. รัฐบาลจะไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่คานอำนาจ ส.ส.ร. ได้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการวางโครงสร้างการปกครองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แล้วคงไมมีรัฐธรรมนูญใดที่สามารถเขียนได้เพื่อคน ๆ เดียว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้เกิดการยอมรับจากต่างชาติอีกด้วย อีกทั้ง ส.ส.ร. ก็มาจากประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ส.ส.ร. ก็คงไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X