หลากวิธีห่างไกลภัยอาหาร
2012-10-04 14:22:31
Advertisement
คลิก!!!
ล้างผัก


หลากวิธีห่างไกลภัยอาหาร (ชีวจิต)

          สังเกตไหมว่า บางครั้งการทานอาหารนอกบ้าน ก็ทำให้เราท้องเสียอยู่เป็นประจำ แม้บางคราวจะเลือกร้านอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วก็ตาม นั่นก็เพราะบ้านเรายังขาดการติดตามการรักษามาตรฐาน หลังจากที่ได้มอบวุฒิบัตรไปแล้วนั่นเอง

          ถึงแม้สารพิษในอาหารจะดูน่ากลัว แต่เราสามารถป้องกันตัวเองจากสารพิษในอาหารเหล่านั้น ด้วยวิธีการซึ่ง ดร.สมเกียรติ โกศัลวัฒน์ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำไว้ดังนี้

1.สารพิษทางการเกษตรซึ่งปนเปื้อนในผักและผลไม้

          ทำอาหารกินเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะเราสามารถเตรียมวัตถุดิบได้ด้วยตนเอง เตรียมวัถุดิบให้สะอาด โดยเฉพาะผักมีวิธีล้างด้วยกันหลายวิธี

          "แช่ผักโดยใช้ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 กาละมัง (ประมาณ 20 ลิตร) แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษได้ 30-60 เปอร์เซ็นต์"

          "ล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จะลดสารพิษลงได้ 10-30 เปอร์เซ็นต์"

          "แช่น้ำยาล้างผักนาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษลงได้ 50-70 เปอร์เซ็นต์"

          "แช่ผักในน้ำผสมน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ จะลดปริมาณสารพิษลงได้ 60-80 เปอร์เซ็นต์"

          ลวกผัก แม้จะสูญเสียวิตามินไปบ้าง แต่ก็ช่วยทำลายสารพิษลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
 
          สำหรับผลไม้แม้จะปอกเปลือกก็ควรล้างก่อนปลอกให้สะอาด และไม่ควรใช้ปากกัดเปลือกผลไม้

2.ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง

          ควรเลือกที่กระป๋องไม่บวม ไม่เป็นสนิม

          อย่าลืมดู "วันหมดอายุ" ของอาหารหรือ "วันที่ควรบริโภคก่อน"

          เลือกซื้อจากโรงงานที่เชื่อถือได้ เช่น เป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าที่ส่งไปขายทางต่างประเทศ มักจะมีคุณภาพสูงเพื่อให้ผ่านการตรวจสอบ

3.อาหารในถุงพลาสติก

          ควรสังเกตว่าทางร้านมีการเก็บรักษาอาหารไม่ให้เน่าเสียอย่างไร หากสังเกตว่าอาหารมีฟองไม่ควรซื้อรับประทาน เพราะแสดงว่าเชื้อเริ่มเจริญเติบโต

          ภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร ถุงพลาสติกควรเป็นถุงใส ถ้าใส่อาหารร้อนควรใช้ถุงทนร้อน

          อาหารที่กินได้เลย เช่น ข้าวผัด กล้วยแขก มันทอด ควรใส่ถุงหรือห่อด้วยพลาสติกที่ไม่มีสี โดยเฉพาะอาหารที่ทอดในน้ำมัน เช่น กล้วยแขกไม่ควรใส่ถุงที่ทำด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์

4.อาหารใส่สี

          ควรเลือกอาหารที่ใช้สีธรรมชาติ เช่น สีเขียวจากใบตอง สีม่วงจากดอกอัญชัญ

          หากเป็นอาหารที่ใส่สีสังเคราะห์ ควรพิจารณาให้รอบคอบ หรือเลือกจากแหล่งผลิตที่ดูเชื่อถือได้

          หลีกเลี่ยงซอสพริก ซอสเย็นตาโฟที่มีสีสรรฉูดฉาดผิดปกติ

5.อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน และอาหารเนื้อหมัก

          ควรรับประทานอาหารเหล่านี้เพียงเป็นครั้งคราว เพราะอาหารที่ปิ้งย่างจนไหม้เกรียมจะมีสารก่อมะเร็งที่ชื่อโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ส่วนไส้กรอก กุนเชียง หรือเบคอน ที่มีสีแดงมากผิดปกติ มักมีสารก่อมะเร็งในกลุ่มไนโตรซามีนอยู่

6.อาหารมีฟอร์มาลินและบอแรกซ์

          อาหารทะเลบางชนิด (กุ้ง ปลา ปลาหมึก) และผักบางชนิด เช่น ชะอม อาจมีการใช้ฟอร์มาลินเพื่อรักษาความสด ทดสอบได้ด้วยการดมกลิ่นก่อนซื้อ

          ก่อนปรุงอาหารเหล่านี้ทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำปริมาณมาก จะช่วยขจัดสารพิษออกไปได้และลวกก่อน แต่หากไม่แน่ใจควรทิ้งไป

          ลูกชิ้นเด้ง แป้งกรอบเต้าทึง อาจมีการใช้สารบอแรกซ์ จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะบริโภค

แหล่งซื้ออาหารปลอดสารพิษ

          จากการเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เพื่อหาแหล่งซื้อผักผลไม้ที่พอจะเชื่อถือได้เป็นอันดับแรก ผ่านข้อมูลจากเว็บไซด์ www.anamai.moph.go.th ทำให้เราทราบว่าอย่างน้อยที่สุดก็มีตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์ของโครงการ "ตลาดสด น่าซื้อ" ของสำนักงานอนามัยสิ่งแวดล้อม มีอยู่หลายแห่ง เช่น

          ตลาดนครไทย เขตบางกะปิ
         
          ตลาดวัชรพล เขตบางเขน

          ตลาดบอง มาร์เช่ เขตจตุจักร

          ตลาดเสรีมาร์เก็ต เขตประเวศ

          เมื่อรวมกับร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ และตลาดชาวบ้านที่จำหน่ายผักพื้นบ้านตามฤดูกาลซึ่งช่วยให้ไม่ต้องใช้สารเคมี ก็พอจะมีทางเลือกสำหรับแหล่งซื้อได้พอสมควรทีเดียว

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X