มหิดลเทงบพันล้านสร้างศูนย์วิจัยดูแลคนแก่-คนป่วยระยะท้าย
2014-10-09 15:57:39
Advertisement
คลิก!!!

        ม.มหิดล เทงบพันล้านสร้างศูนย์วิจัยการดูแลผู้สูงอายุ - ผู้ป่วยระยะท้าย บนพื้นที่ 100 ไร่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน หวังแปลงเป็นนโยบายระดับชาติ เป็นข้อมูลให้ สธ. - พม. - อบต. ต่อยอดขับเคลื่อนดูแลอย่างเหมาะสม พร้อมปั้นบุคลากรดูแลแบบมืออาชีพ

        วันนี้ (9 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่โรงแรมตวันนา กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเสวนา เรื่อง “อยู่อย่างเป็นสุข ไม่เป็นทุกข์เมื่อยามจาก” ในงานประชุมวิชาการก้าวสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศไทย จัดโดยโครงการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีผู้สูงอายุและผู้เข้าสู่ช่วงระยะท้ายของชีวิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับการดูแลรักษาบุคลลกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการดูแลที่เหมาะสม ทั้งสวัสดิการสังคมและสุขภาพ โดยมีสถานที่ดูแลนอกเหนือจากโรงพยาบาลในการช่วยรักษาแบบประคับประคอง ใกล้ชิดครอบครัว ให้ชีวิตสุดท้ายมีความสุข
       
       ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานที่บำบัดผู้ป่วยระยะท้ายยังมีไม่เพียงพอ จึงต้องมีการไปดูแลกันที่บ้านด้วย ซึ่งต้องมีกระบวนการช่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายร่วมกับครอบครัว ชุมชน อาสาสมัคร บุคลากรทางการแพทย์และสวัสดิการสังคม ม.มหิดล จึงได้เตรียมก่อสร้างศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรฯ ขึ้นที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 100 ไร่ โดยใช้งบก่อสร้างประมาณ 1 พันล้านบาท คาดว่าใช้เวลา 2-3 ปี จึงแล้วเสร็จ เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยการดูแลผู้สูงอายุทุกระดับ ทั้งที่แข็งแรงดี ต้องการความช่วยเหลือประคับประคอง และผู้ป่วยระยะท้ายชีวิตอย่างไรจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อวิจัยจนมีองค์ความรู้มากพอ ก็จะสามารถแปลงเป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติได้ โดยอาศัยกลไกรัฐบาลขับเคลื่อน เช่น สธ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
       
       “นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเป็นแหล่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรในการดูแลผู้สูงอายุด้วย ทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักชีวบำบัด และสร้างเครื่องมือช่วยเหลือประคับประคองผู้สูงอายุ การออกแบบบ้าน สุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่สะดวกปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต โดยมีนักวิศวกรรมศาสตร์และภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ รวมถึงการออกกำลังกายเคลื่อนไหวที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และดนตรีบำบัดด้วย โดยถือเป็นศูนย์ดูแลและวิจัยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
       
       พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมี 2 เรื่อง คือ 1. ความเจ็บปวดจากโรคทางกาย ซึ่งต้องดูแลไม่ให้จากไปอย่างเจ็บปวด และ 2. เรื่องทางใจ คือทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการตาย ไม่ใช่การจบสิ้นทุกอย่าง แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะ เป็นวาระที่ต้องเกิดขึ้นที่ต้องยอมรับ เมื่อถึงเวลาผู้ป่วยก็จะจากไปด้วยความทรงจำที่ดีมีความสุข นอกจากนี้ ยังต้องดูแลจิตใจของญาติที่ต้องพบกับความสูญเสียล่วงหน้าด้วย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาคือคนไทยไม่ค่อยคุยกันเรื่องความตายนี้ ศูนย์ฯ จึงจะเน้นองค์ความรู้การดูแลทั้งทางกายและจิตใจร่วมกัน รวมถึงจัดระบบเรื่องอาสาสมัคร และการผลิตผู้ดูแลมืออาชีพด้วย โดยทำให้ ต.หนองพลับ เป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนอื่นศึกษาและนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตนเอง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน
       
       ผศ.ดร.จตุพร วงศ์สาธิตกุล อาจารย์คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล กล่าวว่า ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายมักเคลื่อนไหวน้อยลง พื้นที่ใช้ชีวิตแคบลง การดูแลคือต้องทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกได้นานสุดเท่าที่จะนานได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักดูแลโดยไม่ให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะท้ายทำสิ่งใด สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงไวขึ้น เพราะไม่ได้ถูกใช้งาน จึงต้องให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายได้เคลื่อนไหวเท่าที่ร่างกายมีสมรรถภาพ นอกจากนี้ จะต้องจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการออกมาใช้ชีวิตนอกห้อง และได้รับแสงแดดด้วย ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง บันได ควรมีความสูงเท่าไรจึงจะเหมาะสม เป็นต้น
       
       “อย่างศูนย์ฯที่จะสร้างขึ้นนี้ก็มีการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะท้ายมากกว่า 1 ปี เพื่อนำข้อมูลมาหารือกับนักสถาปนิกว่าจะออกแบบสร้างอาคารของศูนย์ฯอย่างไรให้เหมาะสม เช่น ระยะเอื้อมเปิดประตู ความกว้างของทางลาด การเน้นแสงธรรมชาติ การใช้ไฟ แสง สีที่จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ ฮอร์โมนต่างๆ เป็นต้น” ผศ.ดร.จตุพร กล่าว

ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X