ประวัติ ประชา มาลีนนท์ นักโทษคดีรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง
2013-09-13 16:21:14
Advertisement
คลิก!!!

 

        ย้อนรอยประวัติ ประชา มาลีนนท์ นักโทษหนีคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. ที่ต้องโทษจำคุกนานถึง 12 ปี

            นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนทางการเมืองในขณะนี้ จากกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาจำคุก "ประชา มาลีนนท์" อดีต บิ๊กบอสช่อง 3 และอดีตนักการเมืองใหญ่แห่งพรรคไทยรักไทย (พรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน) ฐานทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ของ กทม. มูลค่า 6.6 พันล้านบาท เพราะหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นประเด็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ เม้าท์กันสนั่นเมืองว่านายประชาน่าจะหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศแบบเดียวกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะด้วยความร่ำรวยติดอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยของตระกูลมาลีนนท์ ก็คงจะทำให้นายประชาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศได้อย่างสบาย ๆ

            สำหรับประวัติ นายประชา มาลีนนท์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2490 เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของนายวิชัยและนางสมศรี มาลีนนท์ (ผู้ก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ภายใต้ชื่อ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด) สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ในปี พ.ศ. 2509 จากนั้นก็ได้ย้ายไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา Elmhurst College จนจบปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2514 และสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.344) ในปี พ.ศ. 2535

            หลัง จากที่สำเร็จการศึกษาก็ได้เข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวเพื่อเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ ในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งนั่งในตำแหน่งนี้ได้ไม่นาน นายประชาก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2539-2543 จากนั้นก็ได้ผันตัวเข้ามาสู่วงการเมืองไทยอย่างเต็มตัว ด้วยการร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค จนได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

            ซึ่ง จากการที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย นั่นเอง ที่ทำให้นายประชาต้องตกเป็น 1 ใน 6 ผู้ต้องหาคดีร่วมกันทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687,489,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2547 จนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องทำการสืบสวนสอบสวนข้อมูลการทุจริตในโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่การสืบสวนก็ต้องชะงักลง
เพราะในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้เกิดเหตุการรัฐประหารขึ้น และเหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุให้นายประชาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

            จาก เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้คดีเงียบลงไปเกือบ 2 ปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ป.ป.ช. ได้พยายามเก็บรวมรวมข้อมูลหลักฐานอีกครั้ง จนสามารถนำมาชี้มูลความผิดผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย จนสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องอัยการ ซึ่งอัยการได้ทำการพิจารณาคดีนี้อยู่นานกว่า 2 ปี จึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา และศาลได้ทำการพิจารณารับฟ้อง โดยนัดให้มีการพิจารณาไต่สวนคดีครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

            กระทั่งในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาได้ทำการไต่สวนพยานเป็นนัดสุดท้าย และพบว่าจำเลยทั้ง 6 กระทำความผิดจริงตามมาตรา 157 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


            จากนั้นศาลจึงออกหมายเรียกตัวนายประชามาฟังคำพิพากษานัดแรก ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556 แต่นายประชาไม่ได้มาตามที่ศาลนัด ศาล จึงเลื่อนฟังคำพิพากษามาเป็นวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2556 ซึ่งนายประชาก็ไม่ได้มาตามที่ศาลนัดอีกเช่นเคย และหลายคนก็เชื่อว่านายประชาได้เตรียมการหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ดังนั้นศาลจึงตัดสินพิพากษาให้นายประชาต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี ฐาน กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และ 13 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักที่สุด ส่งผลให้ในปัจจุบันนายประชาเป็นนักโทษที่หนีคดีที่ถูกจับตามองอยู่

            ส่วนคู่สมรสอย่างนางแพ็ตตริเซีย แมรี่ มาลีนนท์ ก็ได้ตกเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท วินสตัน เฮ้าส์ จำกัด เพราะนายประชาได้ทำการโอนหุ้นทั้งหมดให้นางนางแพ็ตตริเซีย แมรี่ หลังจากที่ตกเป็นจำเลยถูกฟ้องร้อง และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้ปิดกิจการบริษัทนี้ลง ส่งผลให้นางแพ็ตตริเซีย แม่รี่ มีทรัพย์สินมากถึง 55,950,993.79 บาท สำหรับทรัพย์สินของนายประชาที่มีอยู่ก่อนหนีคดีต้องโทษจำคุกรวม ๆ แล้ว เกือบหมื่นล้าน ขณะที่ลูกสาวของนายประชาและนางแพ็ตตริเซีย แม่รี่ คือ ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ได้ใช้ชีวิตสมรสกับนายแมทธิว กิจโอธาน อย่างมีความสุข

ประวัติ

ชื่อ-สกุล : ประชา มาลีนนท์
วันเกิด : 20 มีนาคม พ.ศ.2490
อายุ : 66 ปี
ภูมิลำเนา : กรุงเทพฯ
บิดามารดา : นายวิชัย และนางสมศรี มาลีนนท์
สถานภาพ : สมรสกับนางแพทริเซีย แม่รี่ มาลีนนท์

การศึกษา


ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จาก Elmhurst College สหรัฐอเมริกา

ประวัติการทำงาน


กรรมการรองผู้จัดการ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3
ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมมาธิการการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เกียรติประวัติทางสังคม


เกียรติคุณ ได้รับรางวัลบุคคลสำคัญดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 1 มนุษย์ทองคำ สาขาสร้างความดีเด่นด้านโทรทัศน์ ปี 2539
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย  (ท.ม.) และทวีติยาภรณ์ช้างเผือก  (ท.ช.)
 

บริษัทที่เปิดดำเนิน
บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เวฟ ทีวี จำกัด
บริษัท เวฟ มีเดียโปรดักชั่น พลัส จำกัด
บริษัท เวฟ ทีวี แอนด์ มูฟวี่ สตูดิโอส์ จำกัด
บริษัท ซีวีดี ออแกไนเซอร์ จำกัด
บริษัท พี.เอ็ม. แอดไวเซอรี จำกัด
บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
บริษัท ซีวิว คอนโดมิเนียม จำกัด
บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด
บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
บริษัท พรหมนำชัย จำกัด
บริษัท พัทยา แลนด์ แอนด์ วิลล่า จำกัด
บริษัท มาดี มาดี จำกัด
บริษัท มาลีนนท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
บริษัท มาลีนนท์ เพลส จำกัด
บริษัท มาลีนนท์ เรสซิเด้นซ์ จำกัด
บริษัท มาลีนนท์ แลนด์ จำกัด
บริษัท มาลีนนท์ วิลล่า จำกัด
บริษัท มาลีนนท์ แอสเซท จำกัด
บริษัท เมืองทองการก่อสร้าง จำกัด

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X