เรื่องจริงอิงนิยาย? Argo จุดกระแสถกเถียงทางประวัติศาสตร์
2013-01-20 21:10:33
Advertisement
คลิก!!!

 

เอเอฟพี - อิหร่านประกาศสร้างหนังที่จะนำเสนอข้อมูลอีกด้าน ของเหตุการณ์ใน "Argo" หนังที่พวกเขาเรียกว่า งานบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้แต่ผู้เกี่ยวข้องของฝ่ายสหรัฐฯ และแคนาดาหลายคน ก็ยอมรับว่าถึงผลงานของ "เบน แอฟเฟล็ค" จะทำออกมาได้ยอดเยี่ยม แต่ก็มีส่วนที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
       
       ภาพยนตร์ดังแห่งปีที่คว้าสองรางวัลลูกโลกทองคำ และมีชื่อชิงรางวัลออสการ์ 7 สาขา Argo เล่าเรื่องเมื่อปี 1979 เกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ของ CIA ในการเข้าไปช่วยเหลือ ชาวสหรัฐฯ 6 คนที่หลบหนีมาจากการบุกเข้าไปจับตัวประกันในสถานทูตสหรัฐฯ ของกลุ่มชาวอิหร่าน แต่กลับเป็นว่าทั้ง 6 ต้องติดอยู่ในกรุงเตหะรานซึ่งตอนนั้นถูกกลุ่มปฏวัติอิหร่านเข้ายึดครอง
       
       แม้จะได้ชื่อว่าสร้างจากเหตุการณ์จริง Argo ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง ๆ อาทิ จุดไครแม็กซ์ที่กลุ่มชาวอเมริกันกำลังเดินทางด้วยเครื่องบินออกจากกรุงเตหะรานไป พร้อม ๆ กับที่กองกำลังทหารชาวอิหร่านพยายามไล่ล่า ถึงขั้นขู่จะยิงเครื่องบินให้ตก ซึ่งไม่ได้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
       
       เช่นเดียวกับบทบาทของแคนาดาที่ช่วยเหลือเหล่าชาวสหรัฐฯ ให้หลบภัยพักอาศัยจนปลอดภัยในบ้านพักของทูตแคนาดาประจำกรุงเตหะราน ก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่ากับการทำงานของ โทนี เมนเดซ เจ้าหน้าที่ซีไอเอ ซึ่งแสดงโดย เบน แอฟเฟล็ค เอง
       
       มาร์ค ลีเจ็ค หนึ่งในเจ้าหน้าที่ทูตที่ได้รับความช่วยเหลือในเหตุการณ์ครั้งนั้นบอกว่า ผู้สร้างหนังพยายามใช้ข้อเท็จจริง เพื่อสร้างเรื่องราวขึ้นมา แต่เขาก็ยอมรับว่ามีความคลาดเคลื่อนหลาย ๆ จุดปรากฏอยู่ใน Argo "ผมเข้าใจว่ามันคงจำเป็นในการแต่งเติมข้อเท็จจริงบางอย่าง เพื่อสร้างบรรยากาศอันนาตื่นเต้นขึ้นมา" ลีเจ็ค กล่าวกับเอเอฟพีหลัง Argo คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ประเภทดรามา) ในงานลูกโลกทองคำ ส่วน เบน แอฟเฟล็ค ก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม
       
       "หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับ โทนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด ... ผมคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้หรอก ที่จะสร้างหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยไม่ได้เสริมแต่งอะไรลงไปเลย" เขาเสริม

 
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
สตรีชาวอิหร่าน รวมตัวบริเวณด้านหน้าสถานทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 1979/AFP
Argo เล่าเรื่องจากปฏิบัติการของ CIA ที่ถูกเก็บเป็นความลับมานาน กับแผนการที่ CIA ตัดสินใจปลอมตัวให้เจ้าหน้าที่ทูต 6 คนเป็นทีมงานผลิตภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ที่เดินทางเข้าไปหาสถานที่ถ่ายทำหนังไซไฟเรื่องใหม่ เพื่อนำทั้ง 6 คนหลบหนีออกจากอิหร่าน
       
       ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เหล่าเจ้าหน้าที่ทูตจำนวนหนึ่ง สามารถหลบหนีออกจากสถานทูตระหว่างกลุ่มนักศึกษาชาวอิหร่านบุกรุกเข้าไป พวกเขายังได้รับความช่วยเหลือให้ที่หลบภัยในบ้านพักของทูตแคนาดาประจำกรุงเตะหราน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทูตชาวสหรัฐฯ อีกร่วม 50 ชีวิตถูกจับเป็นตัวประกัน
       
       โทนี เมนเดซ อดีตเจ้าหน้าที่ CIA ซึ่งตอนนี้อายุได้ 70 กว่าปีแล้ว และมีโอกาสเดินทางไปร่วมงานมอบรางวัลลูกโลกทองคำ เป็นผู้มีบทบาทช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ด้วยการเดินทางเข้าไปในอิหร่าน เพื่อดำเนินแผนตบตาว่าเจ้าหน้าที่ทูตทุกคนเป็นทีมงานสร้างหนังจากฮอลลีวูด ก่อนจะพาหลบหนีออกจากนอกประเทศ
       
       หนังมีฉากสำคัญที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทูตต้องเดินทางไปที่ตลาดในกรุงเตหะราน และโดนห้อมล้อมด้วยชาวอิหร่านที่เต็มไปด้วยอารมณ์อันเกรี้ยวกราด ก่อนจะหนีรอดเอาชีวิตมาได้ รวมถึงฉากอันตึงเครียดที่สนามบิน เป็นที่มาของการหลบหนีไล่ล่าอันน่าตื่นเต้น
       
       นอกจากนั้นยังมีการแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของเหล่าเจ้าหน้าที่ทูตชาวสหรัฐฯ ที่บ้านพักของ เคน เทเลอร์ ทูตแคนาดาประจำกรุงเตหะราน ซึ่งในความเป็นจริงมีการแบ่งกลุ่มชาวสหรัฐฯ ออกเป็นสองกลุ่ม หนึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านของ เทเลอร์ ส่วนอีกกลุ่มอยู่กับเจ้าหน้าที่ทูตของแคนาดาอีกคน
       
       เทย์เลอร์ ที่ตอนนี้อายุ 77 ปีแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด หรือแต่งเติมเรื่องใน Argo จะเป็นสิ่งคอขาดบาดตายอะไร แต่เขาก็ขอชี้แจงถึงข้อมูลบางอย่างในหนังที่ไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง "หนังสนุก, ตื่นเต้น และ ชัดเจน แต่แคนาดาไม่ใช่แค่เพียงอยู่เฉย ๆ มองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นแน่ CIA ต่างหากที่เป็นเพียงผู้ช่วย"

 
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวจากสถานทูตสหรัฐฯ ในเตหะรอน เดินทางถึงฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 1979/AFP

ฝ่าย ลีเจ็ค ก็ยืนยันว่าแม้เขาจะพอใจกับภาพรวมของหนัง Argo แต่ก็มีความกังวลในบางจุด "ผมไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ กับฉากที่สถานบินซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันทำให้เรื่องราวออกมาดีด้วยซ้ำ"
       
       "แต่ผมรู้สึก และกังวลว่าผู้ชมบางคนอาจจะมองหนังเป็นข้อเท็จจริง มันออกจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ แอฟเฟล็ค และคนเขียนบทก็คงไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ กับความล้มเหลวของการสอนประวัติศาสตร์หรอก"
       
       ในเวลาเดียวกันกับที่ แอฟเฟล็ค คว้ารางวัลลูกโลกทองคำครั้งล่าสุดไปได้ ที่เตหะรานก็มีการประกาศสร้างหนังที่จะเล่าเรื่องเหตุการณ์จับตัวประกันชาวสหรัฐฯ เมื่อปี 1979 เช่นเดียวกัน "หนังจะเล่าเรื่องที่กลุ่มปฏิวัติส่งตัว 20 ตัวประกันให้กับทางสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นของการปฏิบัติอิสลาม" อตาอาลลา ซาลมาเนียน นักแสดง และคนทำหนังชาวอิหร่านกล่าว
       
       สื่อในอิหร่านยังอ้างคำพูดของนักทำหนังท้องถิ่นที่ว่า "นี่คือการตอบโต้อย่างเหมาะสมต่อหนังที่บิดเบือนความเป็นจริงอย่าง Argo"
       
       ฝ่าย มาร์ค ลีเจ็ค เปรยถึงหนังอิหร่านที่จะเล่าเรื่องเหตุการณ์เมื่อ 34 ปีก่อนว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหนังของอิหร่านเรื่องนี้ จะอ้างอิงมาจากช่วงใดในประวัติศาสตร์กันแน่ "ผู้กำกับพูดถึงเรื่องที่ชาวอเมริกัน 20 คนได้รับการปล่อยตัว ซึ่งในความเป็นจริง โคมัยนี (อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติ และทำการล้มล้างอำนาจของพระเจ้าชาร์) มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้หญิง 13 คน และชาวแอฟริกัน-อเมริกา ในช่วงต้น ๆ เป็นคล้าย ๆ การทำบุญแบบอิสลาม จึงไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ว่าเป็นเหตุการณ์ใดกันแน่ ที่เขาพูดถึง"
       
       ยังมีรายงานจากอีกแหล่งข่าวที่อ้างว่าหนังของอิหร่าน จะกล่าวถึงตัวประกันมากกว่า 50 ชีวิตที่ติดค้างอยู่ในเตหะราน และจะเป็นหนังที่ "ฉายภาพชีวิตอันฟู่ฟ่าของทุก ๆ คนในสถานที่ซึ่งจัดแต่งราวกับเป็นรีสอร์ต ในเขตสถานทูต"
       
       "ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะทำเรื่องราวของพวกเราออกมาเป็นยังไง" ลีเจ็ค กล่าวถึงหนังของอิหร่านซึ่งกำลังจะสร้าง "จะเปลี่ยนตอนจบให้หน่วยรักษาความปลอดภัยยิงเครื่องบินร่วงลงมาแบบนั้นเลยรึเปล่า?

 

http://www.manager.co.th

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X