สเปรย์กระป๋องกำจัดยุงลายดีกว่าเครื่องพ่น
2014-10-07 18:25:10
Advertisement
คลิก!!!

       สสจ.สมุทรสงคราม ศึกษาพบใช้ยาฆ่าแมลงสเปรย์กระป๋อง กำจัดยุงลายได้มากกว่าเครื่องพ่นหมอกควัน ชี้ช่วยเพิ่มความเร็วการควบคุมการระบาดไข้เลือดออก
       
       นายหทัย พันธ์พงษ์วงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสงคราม เสนอผลการศึกษา “ผลการทดสอบการกำจัดยุงลาย ด้วยเครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควันแบบสะพายไหล่ เปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋อง เพื่อควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 ว่า โรคไข้เลือดออกมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะ แม้ปีนี้สถานการณ์การระบาดจะไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยาระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 ก.ย. 2557 มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 25,955 ราย เสียชีวิต 24 ราย แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจ จึงศึกษาวิธีการกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่
       
       นายหทัย กล่าวว่า ได้ดำเนินการศึกษาระหว่างการใช้เครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควันแบบสะพายไหล่ เปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋องที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป โดยทดลองฉีดพ่นในบ้านที่มีลักษณะ 3 แบบต่างกัน ได้แก่ บ้านแบบปิดมีหน้าต่างประตูปิดมิดชิด บ้านแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด และบ้านแบบเปิด ไม่มีประตูหน้าต่าง ผลการทดลอง พบว่า การใช้เครื่องพ่นหมอกควันแบบสะพายไหล่ ในบ้านแบบปิดมียุงตาย ร้อยละ 78 บ้านแบบกึ่งปิดกึ่งเปิดขณะมีลมพัดยุงตาย ร้อยละ 21 ขณะลมสงบยุงตาย ร้อยละ 47 ส่วนบ้านแบบเปิดขณะมีลมพัดยุงตาย ร้อยละ 9 และขณะลมสงบยุงตาย ร้อยละ 32 ส่วนผลการใช้สเปรย์กระป๋อง ในบ้านแบบปิดมีจำนวนยุงตายร้อยละ 88 บ้านแบบกึ่งปิดกึ่งเปิดขณะมีลมพัดยุงตาย ร้อยละ 39 ขณะลมสงบยุงตาย ร้อยละ 80 บ้านแบบเปิดขณะมีลมพัดยุงตาย ร้อยละ 40 ขณะลมสงบยุงตาย ร้อยละ 54 
       
       “ผลทดลองเห็นชัดเจนว่า การใช้สเปรย์กระป๋องกำจัดยุงลายในบ้านได้ผลดีกว่าเครื่องพ่น จึงควรใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋องกำจัดยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียงผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการควบคุมการระบาด ที่สำคัญ ราคาไม่แพง หาซื้อง่าย ใช้งานสะดวก ไม่ต้องเสียเงินค่าบำรุงรักษา และประชาชนส่วนใหญ่มีใช้ในครัวเรือน แต่ข้อควรระวังคือ คนและสัตว์เลี้ยงออกจากบริเวณที่จะฉีดพ่นก่อน และปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยหลังฉีดพ่นให้ทิ้งไว้ 10 - 15 นาที จึงเปิดประตู หน้าต่างระบายอากาศ ส่วนผู้ที่พ่นสารเคมีควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ล้างมือฟอกสบู่หลังฉีดพ่นทุกครั้ง เก็บกระป๋องสเปรย์ให้มิดชิด ห่างจากมือเด็กหรือเปลวไฟ รวมทั้งอาหารและสัตว์เลี้ยง หากใช้หมดแล้ว ห้ามไปเผาเพราะจะเกิดการระเบิดได้ ให้แยกทิ้งเป็นขยะอันตรายหรือฝังดิน” นายหทัย กล่าว

ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X