ศศิน ไม่หวั่น ม็อบสนับสนุนสร้างเขื่อนแม่วงก์-สบอช. ยันได้ประโยชน์มากกว่าโทษ
2013-09-29 13:53:49
Advertisement
คลิก!!!

 

   ศศิน เปิดใจคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ยันได้ไม่คุ้มเสีย เผยไม่หวั่น ม็อบสนับสนุนสร้างเขื่อนแม่วงก์ ชี้ชาวบ้านเข้าใจระบบนิเวศและเข้าใจว่ามีเขื่อนก็แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ ขณะที่ สบอช. เตรียมเชิญ ศศิน ถก มั่นใจสร้างเขื่อนได้ประโยชน์มากกว่าโทษ
 
            เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เปิดเผยว่า จะทำหนังสือเชิญ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียรและชาวบ้านมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากทาง สบอช. มีผลการศึกษาที่พบว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์มากกว่าโทษ และสามารถเก็บน้ำในพื้นที่ช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม รวมความจุ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ถึง 700 ล้านลูกบาศก์เมตร

            ทั้งนี้ นายสุพจน์ กล่าวว่า เขื่อนแม่วงก์จัดเป็นเขื่อนขนาดใหญ่เท่ากับเขื่อนแม่กวงและเขื่อนประแสร์ ปัจจุบันประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ 33 แห่ง ทั่วประเทศ เดิมทีกรมชลประทานชี้แจงว่าสร้างเขื่อนสำหรับการชลประทาน แต่ต่อมาต้องปรับเปลี่ยนชื่อเพื่อป้องกันอุทกภัย จึงต้องศึกษาใหม่และใช้เวลาศึกษาไม่นาน เพราะได้นำผลการศึกษาเดิมมาใช้ได้ประมาณ 80%

            ส่วนประเด็นที่เขื่อนแม่วงก์เก็บน้ำได้เพียง 1% ของปริมาณน้ำที่ท่วมนั้น สบอช. ระบุว่าเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในโครงการก่อสร้างการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น จะมีการก่อสร้างเขื่อนรวมทั้งสิ้น 21 แห่งทั่วประเทศซึ่งเป็นเขื่อนที่มีความพร้อมในการดำเนินการทันที 9 แห่ง

            ขณะที่ อ.ศศิน เฉลิมลาภ ได้กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มมวลชนสนับสนุนให้รัฐสร้างเขื่อนดังกล่าว พร้อมระบุว่าคนนอกพื้นที่ที่ไม่เดือดร้อนทั้งปัญหาน้ำท่วมกับภัยแล้งจะมาคัดค้านการสร้างเขื่อนได้อย่างไรนั้น ว่า ตนไม่กังวลหากคนในพื้นที่ผลักดันรัฐบาลให้สร้างเขื่อน เพราะจากการพูดคุยกับชาวบ้านในตลาดแล้ว เกือบทั้งหมดเข้าใจเรื่องของระบบนิเวศและเข้าใจว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์ไปก็ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้

            อย่างไรก็ดี ช่วงเย็นวันที่ 26 กันยายน ทางรายการเจาะข่าวเด่น ได้เชิญ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว ว่าเพราะเหตุในทำไมถึงต้องเดินเท้าเพื่อประท้วงในการหยุดเขื่อนแม่วงก์...
 


            โดย อ.ศศิน ได้นำรูปเขื่อน 2 เขื่อนในพื้นที่ดังกล่าวมาให้ดู พร้อมระบุว่า ที่ต้องหยุดเขื่อนแม่วงก์เพราะมันไม่คุ้ม จากรูปจะเห็นได้ว่ามีเขื่อนสองตัว คือตัวเล็กกับตัวใหญ่ ซึ่งยังไม่ได้สร้างเลยสักตัวเดียว แต่เดิมเขื่อนตัวใหญ่ฝั่งขวาเป็นอ่างที่มีขนาดใหญ่มาก เก็บน้ำได้ประมาณ 600 คิว แต่ตอนนี้เขาลดลงมาเหลือประมาณ 400 คิว ส่วนตัวที่จะสร้างปัจจุบันคือตัวเล็ก ซึ่งผลการศึกษาเมื่อปี 2540 ระบุว่า ถ้าสร้างเขื่อนตัวใหญ่จะลดน้ำท่วมลงได้ตามลำดับ 78 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ และเหลือ 62 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลการศึกษาสำหรับเขื่อนตัวเล็ก มันได้แค่ 30, 28, และ 25 เปอร์เซ็นต์ ตลอด 15 กว่าปี

            ทั้งนี้ จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า หากสร้างเขื่อนตัวใหญ่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็จะลดน้ำท่วมได้ตามแผนภูมินี้ อีกทั้งยังสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทานได้สบายเลย แต่สำหรับส่วนอ่างเล็กมีขนาดเพียง 250 คิว ทำการเกษตรได้เพียง 1 แสนไร่ และลดน้ำท่วมก็ลดไม่ได้ เนื่องจากในพื้นที่ที่รับน้ำมันมีทางน้ำไหลผ่านมา 3 ทางใหญ่ ๆ  เมื่อฝนไม่ตกก็ไม่มีน้ำเลย แต่เมื่อฝนตกก็จะไหลมาเป็นน้ำป่าซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ตนคิดว่าควรไปเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำที่คลองลาดยาวดีกว่า จะขุดคู ระบายน้ำ สูบน้ำ ก็สามารถทำได้เลย ทำวันนี้อาทิตย์หน้าก็ใช้ได้ ไม่ต้องรอสร้างเขื่อนแปดปี

            สำหรับประเด็นที่ระบุว่า เขื่อนดังกล่าวจะสามารถช่วยน้ำท่วมและแก้น้ำแล้งทั้งโซน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์นั้น แต่ละจังหวัดมีคาบเกี่ยวกับอุทยานนี้เพียงนิดเดียว คือ จ.อุทัยธานี 3.5% กำแพงเพชร 2% ส่วน จ.นครสวรรค์ นั้น คือ 2 ตำบล ได้แก่ ต.วังซ่าน อ.แม่วงก์ และ ต.ศาลเจ้าไก่ต่อ อ.ลาดยาว ซึ่งหากจำเป็นที่จะต้องเสียพื้นที่ป่าไป 3 แสนไร่ เพื่อช่วย 2 ตำบลได้น้ำนั้น ตนว่ามันไม่คุ้ม มันน่าจะมีทางเลือกที่มากกว่านี้

            ทางด้านพิธีกรได้นำข้อมูลจากผลการศึกษากรมชลประทานที่ระบุว่า การสร้างเขื่อนดังกล่าวจะกระทบการตัดไม้มูลค่า 1 พันล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการตัดไม้คือ จะมีการดำเนินการตัดไม้จำนวน 1.2 หมื่นไร่ การตัดจะเป็นการตัดจากขอบนอก เพื่อดันสัตว์เข้าไปในป่าลึก และจากการหารือกับอุทยานจะมีการปลูกป่าชดเชยให้จำนวน 3 หมื่นไร่ ในพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ส่วนเรื่องสัตว์ป่านั้น ในพื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์อยู่จำนวน 239 ชนิด ที่อยู่ขอบสร้างเขื่อน ครึ่งหนึ่งเป็นนก 136 ชนิด เขาบอกว่าไม่กระทบเพราะนกบินได้ ที่เหลือเป็นสัตว์อื่น ๆ ซึ่งการสร้างเขื่อนจะทำให้สัตว์ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่ส่วนใหญ่อพยพได้ มีสัตว์สงวน 3 ชนิด คือกวางผา เก้งหม้อ และสมเสร็จ ส่วนใหญ่ 3 ชนิดนี้อยู่ในพื้นที่สูง จึงไม่กระทบ และเสือมีรายงานว่าเส้นทางเดินของเสือไม่เดินลงมาที่บริเวณสร้างเขื่อน

            โดย อ.ศศิน ได้กล่าวชี้แจงถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่า จริง ๆ แล้วที่แม่วงก์ก็มี ซึ่งสามารถจับภาพได้จากกล้องคาเมราแท็บที่ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ติดไว้ และจากข้อมูลที่ทราบอุทยานแม่วงก์เป็นพื้นที่ที่มีเสือโคร่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเราได้ทำสัญญากับต่างชาติในการอนุรักษ์เสือโคร่งให้โลก ก็ควรที่จะอนุรักษ์ผืนป่าตรงนั้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งระบบนิเวศที่สำคัญที่จะเพิ่มประชากรเสือ ถ้าบอกว่าปลูกป่าคืน 3 หมื่นไร่ มากกว่าที่ตัดไปถึง 3 เท่า แต่มันก็ทดแทนผืนป่าที่สำคัญของเสือจำนวน 2% นี้ไม่ได้ 

            นอกจากนี้ ระยะเวลา 8 ปีที่สร้างเขื่อน จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ป่าถูกคุมคาม สัตว์ป่าถูกล่าแบบไม่สามารถควบคุมได้อย่างแน่นอน เพราะเสือเป็นสัตว์ป่าที่เริ่มหายากและมีราคาสูง จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนบุกรุก ซึ่งเจ้าหน้าที่มีกำลังควบคุมไม่พอและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็มีเพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ดังนั้นตนจึงออกมาเดินเท้าประท้วงเพื่อให้เห็นถึงความคุ้มค่าของป่าที่จะเสียไปเทียบกับจำนวน 2 ตำบลได้น้ำ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มอีก และถ้าหากต่อจากนี้เราสามารถสร้างเขื่อนแม่วงก์ทั้ง ๆ ที่ EHIA ไม่ได้มาตรฐาน ต่อไปใครอยากจะสร้างเขื่อนอื่น ๆ ก็สามารถทำได้เหมือนกัน และสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เห็นว่า มาตรฐานการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมของไทยเชื่อถือได้หรือไม่
 


 


 

 
 
 
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X