จิตเภท : เสียงเพรียกในเงามืด
2014-09-24 14:39:18
Advertisement
คลิก!!!

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากสารโดปามีน (Dopamine) ในสมองหลั่งผิดปกติ ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ คือ กรรมพันธุ์ ความกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มารดาป่วยเป็นไข้ โดยมีสภาพสังคมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่เป็นตัวกระตุ้นอาการให้กำเริบ เช่น หากผู้ป่วยอยู่ในครอบครัวแตกแยกจะมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว รุนแรงง่ายกว่า

คุณเป็นโรคจิตเภทหรือเปล่า
ก่อนเข้าสู่ระยะอาการทางจิต ผู้ป่วยจะมีอาการนำ คือ ตึงเครียด กระวนกระวาย แยกตัว นอนไม่หลับ ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ยุ่งกับใคร ไม่อยากพบปะผู้คน รู้สึกไม่ดีโดยไม่มีเหตุผล ซึมเศร้า คิดฟุ้งซ่าน รู้สึกตัวเองไร้ค่า กระสับกระส่าย เบื่อหน่ายไม่มีความสุข กลัวผิดปกติ ต่อต้านสังคม พฤติกรรมผิดไปจากเดิมจนคนรอบข้างสังเกตได้ แต่ที่น่าตกใจคือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมานานหลายปีโดยที่คนรอบข้างไม่ทันสังเกต บางคนมีอาการน้อยมาก แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย 

ต่อจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระยะอาการทางจิต ซึ่งอาการสำคัญของโรคนี้คือ ประสาทหลอน หูแว่ว ตาฝาด หวาดระแวง ส่วนอาการอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ กลัวคนทำร้าย ความทรงจำสับสน หลงผิด แยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงกับความเพ้อฝัน เชื่อว่าตัวเองมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตีความผิด เช่น เห็นเพื่อนลูบหน้า แปลความหมายไปว่าคือหน้าไม่อาย

 

อาการทางจิตจะทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป สังเกตได้จากประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง เข้ากับผู้อื่นไม่ได้ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หวาดระแวง มองคนอื่นในแง่ลบ ไม่ค่อยดูแลตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัว หรือทำอะไรขัดแย้งกับความเป็นจริง บางครั้งผู้ป่วยรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่นทำตามเสียงหลอนที่ได้ยิน ผู้ป่วยที่มีระยะอาการทางจิตเหล่านี้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป จะถือว่าเป็น โรคจิตเภท

 

ความใส่ใจเป็นเกราะป้องกัน
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาถึงมือแพทย์จะเป็นผู้ที่มีอาการก้าวร้าว รุนแรงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นจิตเภทเท่านั้น ส่วนพวกที่มีอาการพูดคนเดียว ซึม แยกตัว ซึ่งมีจำนวนมากกว่า กลับอยู่ในสังคมและทำงานได้ตามปกติ กว่ารู้ว่าป่วยก็อาการหนักแล้ว และต้องใช้เวลาในการเยียวยานาน ในกรณีหลังนี้ ครอบครัวคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด หากเห็นคนที่คุณรักเริ่มมีอาการหรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรใส่ใจให้คำปรึกษา และพาไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป

ในการรักษานั้น จิตแพทย์จะวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะโรคที่อาการใกล้เคียงกับจิตเภทมีอยู่ด้วยกันหลายโรค ขั้นตอนการรักษาต้องอาศัยการพูดคุยระหว่างจิตแพทย์และคนไข้ ทำแบบทดสอบ ดูประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และครอบครัว นอกจากนี้อาจต้องตรวจเลือด ตรวจสมองด้วยซีที สแกน (CT scan) หรือ เอ็ม อาร์ ไอ (MRI) ตรวจเนื้องอกในสมองประกอบด้วย ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่โรคจิตเภทมักเป็นๆ หายๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง คนใกล้ชิดจึงควรให้ความเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดค่ะ

 

กินบรรเทาจิตเภท
มีผู้ป่วยจิตเภทมากกว่า 90% ไวต่ออาหารและสารเคมีบางอย่างทำให้อาการทรุดลง สารที่สำคัญคือ กลูเตน โปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งพบมากในข้าวสาลี นมวัว จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เปลี่ยนมากินข้าวฟ่าง ข้าวเจ้า มันฝรั่งแทน นอกจากนี้เพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำควรกินผักใบเขียว และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรทเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ 

    

หากงดดื่มนม ร่างกายจะขาดแคลเซียม ควรกินผักใบเขียว เต้าหู้แข็ง ถั่ว ปลาทอดกรอบตัวเล็ก (กินได้ทั้งก้าง) งดอาหารที่มีคาเฟอีน  น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เพราะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมเร็วขึ้น และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจไปทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดและเป็นอันตรายได้ 
       
นอกจากนี้ควรบริโภค ไขมันโอเมก้า 3 (ปลาทะเล) โอเมก้า 6 (น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันฝ้าย) สังกะสี วิตามิน B6  B3 และ C เพื่อช่วยให้สมองทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานวิจัยของ Professor Derri Shtasel จาก Psychiatry at the University of Pennsyvania พบว่า วิตามินซี ช่วยให้ผู้ป่วยพูดคุยรู้เรื่องขึ้น ลดอาการประสาทหลอน และยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้น

หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคจิตเภท ความรักความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากฝันร้ายได้ค่ะ

 

 

ที่มา  http://siamdara.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X