รู้ทัน! เรื่องความดันโลหิตสูง และแนวทางการรักษา
2015-07-23 15:08:30
Advertisement
คลิก!!!

ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

รู้ทันความดันโลหิตสูง ถ้าขาดความดันโลหิตชีวิตก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

นพ.สุทธิพงศ์ ทัศนียพันธุ์
อายุรแพทย์รคหัวใจและหลอดเลือด
 
“ความดันโลหิตเป็นของคู่กับชีวิตของเรามาตั้งแต่เกิด ถ้าขาดความดันโลหิตชีวิตก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้”
ในอดีตอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่เร่งรีบ อยู่กับธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ไปที่ต่าง ๆ โดยการเดินหรือขี่จักรยาน ทำงานโดยใช้แรงและพลังงาน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาหารที่รับประทานก็เป็นผัก ปลา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง แต่ในสภาวะปัจจุบันความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การดำรงชีวิตเปลี่ยนไปในลักษณะสังคมตะวันตกมากขึ้น เปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ทำงานในออฟฟิส เคร่งเครียดมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง มีการแข่งขันมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันมากขึ้น ทำให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น
 

เมื่อเราวัดความดันโลหิต เราจะได้ค่าความดัน 2 ค่า เช่น 140 / 90 มม.ปรอท. ค่าแรกเป็นความดันขณะหัวใจบีบตัว เรียกว่า ความดันซิสโตลิก (Systolic Blood Pressure) ตัวที่สองเป็นความดันขณะหัวใจคลายตัว เรียก ความดันไดแอสโตลิก (Diastolic Blood Pressure) ในอดีตเราพิจารณาว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อความดันมากกว่า 140 / 90 มม.ปรอท และควรที่จะได้รับการรักษา แต่ในปัจจุบันแนวทางการรักษาดูแลผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงได้เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับนิยามของคำว่าความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ JNC 7 (Seventh Report of the Joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation and Treatment of High Blood Pressure) ปี 2003 และ ESHandESC2007 สำหรับผู้มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี โดยแบ่งระดับความดันโลหิต ดังนี้ (ESH + ESC 2007)

 
Systolic BPDiastolic BP
เหมาะสมที่สุด < 120 < 80
ปกติ 120 – 129 80 – 84
ปกติ แต่ค่อนข้างสูง 130 – 139 85 – 89
ความดันโลหิตสูงระดับ 1 140 – 159 90 – 99
ความดันโลหิตสูงระดับ 2 160 – 179 100 – 109
ความดันโลหิตสูงระดับ 3 ≥   180 ≥ 110
ความดันโลหิตสูงอย่างเดียว ≥ 140 < 90
 

แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง แนะนำให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขและสาธาณชนทั่วไปว่า บุคคลในกลุ่มความดันปกติแต่ค่อนข้างสูง ก็ต้องติดตามวัดความดันโลหิตเป็นระยะ หรือพยายามควบคุมให้ต่ำลง ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ขั้นความดันโลหิตสูงระดับต่าง ๆ

มีเพียง 1/3 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่จะทราบว่าตนเองเป็นความดันโลหิตสูง และรับการดูแลรักษาควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติและถูกต้อง เนื่องจากผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ บางคนรู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง เนื่องจากไปตรวจสุขภาพมีการวัดความดัน และมีบางส่วนแม้รู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูงก็ไม่ได้รักษาอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่า ไม่มีอาการอะไร เราจึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่า “ฆาตรกรเงียบ”
 

ความดันโลหิตสูงมี 2 ประเภท คือ

1. ประเภทที่ทราบสาเหตุ
2. ประเภทที่ไม่ทราบสาเหตุ
 

มากกว่า 90 % ของผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง เป็นประเภทไม่ทราบสาเหตุ แต่พบว่าอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ ภาวะอ้วนลงพุง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รับประทานอาหารเค็ม ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ส่วนน้อยเป็นความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาที่ต้นเหตุ เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ความดันในกระโหลกสูง เนื่องจากเนื้องอกในสมอง หลอดเลือดที่เลี้ยงไตตีบตัน การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบของกระดูกและข้อ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

 
แม้ว่าผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม แต่อาการของโรคความดันโลหิตสูงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เลือดกำเดาออกโดยไม่ทราบสาเหตุ ได้ยินเสียงดังในหู การเต้นของชีพจรผิดปกติ หงุดหงิดง่าย เหนื่อยง่ายผิดปกติ ตามองไม่เห็นชั่วคราว
 
ถ้าความดันโลหิตสูงถูกปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา หรือคุมได้ไม่ดี ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีอวัยวะต่างๆ เสื่อมเสีย เป็นเหตุให้เกิดโรค ความพิการ หรือถึงแก่ชีวิตก่อนเวลาอันควรได้ เช่น
 

– หัวใจหนาตัว และโตขึ้น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

– หลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน อ้วน ไขมันสูง สูบบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบตัน หรือโป่งพองขึ้นได้
– สมอง อาจทำให้เส้นโลหิตในสมองตีบหรือแตกได้ ทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
– ไต เกิดไตเสื่อม ไตวาย ทำให้มีอาการซีด ขาบวม เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อยกลางคืน
– ตา ตามัว ตามองไม่เห็นทั้งชั่วคราว และถาวร
 

ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง และไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจาก

1. หัวใจวาย ถึง 60 – 75 %
2. เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือแตก 20 – 30 %
3. เสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5 – 10 %
 
การดูแลรักษาความดันโลหิตสูง
1. ลดน้ำหนัก พบว่าเมื่อลดน้ำหนักตัวลง 1 กิโลกรัม ความดันโลหิตจะลดลงประมาณ 0.5 – 2 มม. ปรอท
ในการศึกษาของ Framingham พบว่าผู้ที่ลดน้ำหนักได้ 15% ของน้ำหนักตัวจะทำให้ความดันซีสโตลิคลดลงได้ถึง 10% ในทางกลับกันถ้าอ้วนขึ้น 15% ของน้ำหนักตัวเดิม ความดันซีสโตลิคจะเพิ่มขึ้นถึง 18%
ค่าน้ำหนักมาตรฐานสามารถคำนวณได้จาก ส่วนสูง และน้ำหนัก โดยเรียกว่า
               ดรรชนีมวลกาย (Body Mass Index: B. M. I.) = น้ำหนัก (กิโลกรัม)
                                                                              ส่วนสูง (เมตร 2)
                                                      ค่า 18.5 – 22.9 = ปกติ
                                                             23 – 24.9 = อ้วน
                                                                 > 25    = โรคอ้วน
หรือคิดง่ายๆ จากเพศ และส่วนสูง โดยน้ำหนักมาตรฐานควรจะเท่ากับ
ชาย = ส่วนสูง (เซนติเมตร) – 100 =…………….กิโลกรัม
              หญิง= ส่วนสูง (เซนติเมตร) – 110 =…………….กิโลกรัม
 
เช่น ผู้ชายสูง 170 เซนติเมตร ก็ควรหนัก 170 – 100 = 70 กิโลกรัม เป็นต้น
 

2. งดอาหารเค็ม – ถ้าลดปริมาณเกลือแกงในอาหารได้ จะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้ประมาณ 2.8 มม.ปรอท

3. เหล้า – การดื่มเหล้ามากๆ ทำให้ความดันโลหิตสูง ทั้งนี้หมายถึงผู้ที่ดื่มเหล้ามากกว่าวันละ 4-6 แก้ว ต่างจากผู้ที่ดื่มเหล้าน้อย พวกที่ดื่มเหล้าน้อยกว่า 2 แก้ว/วัน มักจะมีความดันต่ำกว่าคนปกติเล็กน้อย
4. บุหรี่ – เป็นตัวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความดันโลหิตให้สูงขึ้น เพราะสารนิโคตินทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น มีผู้ทดลองสูบบุหรี่ 2 มวนติดกัน พบว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นประมาณ 8 – 10 มม.ปรอท เป็นเวลาประมาณ 15 นาที
5. หลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที, 3 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตได้ประมาณ 4 – 9 มม. ปรอท
7. ปรึกษาแพทย์ รับประทานยาลดความดันโลหิตสูง และวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X