อัลไซเมอร์ระยะ 3 เสี่ยงโรคแทรกซ้อนเสียชีวิต แนะฝึกสมองป้องกันแต่แรก
2015-07-16 14:45:04
Advertisement
คลิก!!!

กรมการแพทย์ เผย “โรคอัลไซเมอร์” มี 3 ระยะ ห่วงระยะที่ 2 อาการหลงลืมเริ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ส่งผลญาติรับภาระหนัก ส่วนระยะ 3 ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีโรคแทรกซ้อน เสี่ยงเสียชีวิตสูง แนะทำกิจกรรมฝึกสมอง พักผ่อนเพียงพอ ชวนร่วมงานมหกรรมสุขภาพดีฯ ตรวจความเสี่ยงอัลไซเมอร์ฟรี
       
       นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการสำคัญของ “สมองเสื่อม” คือ ความจำแย่ลงเรื่อย ๆ จนมีผลต่อชีวิตประจำวัน พฤติกรรม บุคลิก หรือ อารมณ์เปลี่ยนไป ซึ่งสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เลือดคั่งในสมอง โรคไทรอยด์ แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ มักพบผู้ป่วยในช่วงอายุ 60 - 65 ปีขึ้นไป เกิดจากการโปรตีนเบตาอะมัยลอยด์ มีมากผิดปกติ ซึ่งจะไปจับที่สมองเป็นหย่อม ๆ ทำให้สมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติ หรืออาจเสียสมองส่วนนั้นไปในที่สุด ซึ่งมักจะไปเกาะบริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำ อาการเด่นชัดของอัลไซเมอร์จะเป็นปัญหาเรื่องความจำและพฤติกรรม ซึ่งอาการผิดปกติจะต้องเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นระยะเวลานานประมาณ 6 เดือน
       
       นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ระยะของการเกิดโรค แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ญาติจะเป็นผู้สังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการความจำแย่ลง ถามซ้ำ ๆ บางรายอาจไม่รู้ตัว บางรายรู้ตัว ทำให้เกิดความวิตกกังวล เครียด หงุดหงิด เนื่องจากนึกอะไรไม่ค่อยออก ซึ่งบางรายกังวลมาก จนถึงขั้นซึมเศร้า แต่ผู้ป่วยระยะแรกยังสามารถช่วยเหลือตัวเองและทำกิจวัตรประจำวันได้ดี ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ญาติจะดูแลผู้ป่วยได้ยาก และเหนื่อยกว่าระยะอื่น เนื่องจากอาการเริ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาการด้านพฤติกรรม เช่น สับสน หรือหลงเรื่องเวลา สถานที่ เอะอะโวยวายในที่สาธารณะ ก้าวร้าว ทำให้มีปัญหาการเข้าสังคม ถ้าคนดูแลเผลอจะพยายามเดินออกนอกบ้าน ระยะนี้จะมีปัญหาเรื่องการดูแลตัวเอง หรือกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว เป็นต้น และระยะที่ 3 ผู้ป่วยเริ่มช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ การทำงานของสมองแย่ลง มีโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ รวมทั้งมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ชัก พูดลิ้นแข็ง อาจต้องเริ่มนั่งรถเข็น แล้วต่อมาต้องนอนอยู่กับเตียง ช่วงท้าย ๆ อาจพูดไม่ได้ มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์
       
       “ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันอัลไซเมอร์ได้ แต่การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใสและฝึกสมองให้มีการใช้ความคิด ความจำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ร้องเพลง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัวและสังคม ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อาจช่วยลดโอกาสการเป็นอัลไซเมอร์ได้บ้าง ซึ่งในสัปดาห์นี้ในงานมหกรรมเมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 13 - 19 ก.ค. ประชาชนสามารถมาร่วมงานให้ความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ และจะมีการประเมินความเสี่ยงของโรคให้ประชาชนฟรี” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X