เตือนเลเซอร์ลบรอยสัก ทำอนุภาคสีเล็กลง ปล่อยสารก่อมะเร็ง-โลหะหนักเข้าเลือด
2015-07-15 16:48:25
Advertisement
คลิก!!!

        แพทย์ผิวหนังตือน "การสัก" เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนเพียบ สีกระจายไปต่อมน้ำเหลือง เจอยูวีเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็ง เผยไม่มีการผลิตสีสำหรับการสัก แต่ใช้สีจากอุตสาหกรรมมาใช้ ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งเกินกว่าค่ายอมรับ 2.3 หมื่นเท่า ชี้ใช้เลเซอร์ลบรอยสักทำอนุภาคสีเล็กลง 8 เท่า ปล่อยสารก่อมะเร็ง โลหะหนักไปในกระแสเลือด
       
       นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการสักผิวหนังเป็นที่นิยม บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาในการแต่งหน้า อาทิ สักคิ้วถาวร สักริมฝีปากชมพู เป็นต้น ซึ่งสีที่สักจะไม่อยู่ในบริเวณที่สักนาน ถ้าผ่านไประยะยาวสีจะเหลือเพียงร้อยละ 1-13 โดยจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ หลังจากบริเวณที่สักถูกแสงแดด สีอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ซีดลง หรือเปลี่ยนแปลงเป็นสารก่อมะเร็งจากการถูกรังสียูวีเอในแสงแดด สำหรับภาวะแทรกซ้อนหลังการสักพบได้ร้อยละ 75 แบ่งเป็นอาการทางผิวหนังร้อยละ 68 เช่น ตกสะเก็ด คัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง เป็นต้น ส่วนอาการทั่วไปพบได้ร้อยละ 7 ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ และปวดเมื่อย ขณะที่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังพบได้ร้อยละ 6 เช่น แผลเป็น บวมเป็นๆ หายๆ ไวต่อแสง คัน รอยสักนูน สิว ตุ่ม ชา ปัญหาทางจิตประสาท เป็นต้น
       
       นพ.เวสารัช กล่าวว่า สำหรับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้หลายอย่าง เช่น แพ้บริเวณที่สักทำให้ผิวนูน ตะปุ่มตะป่ำ หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรังจากการแพ้สีที่สัก การติดเชื้อ ทั้งไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อเอชไอวี แบคทีเรียและไมโครแบคทีเรีย เชื้อรา และซิฟิลิส นอกจากนี้ หากเจ็บป่วยต้องเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ อาจทำให้มีอาการเจ็บ บวม แดง บริเวณรอยสัก เนื่องจากสีมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ทั้งนี้ สาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อเกิดจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.สีที่ใช้สัก การปนเปื้อนของสีและน้ำที่มาเจือจางสี 2.เทคนิคการสักที่ไม่ดี 3.สถานที่สักไม่ปลอดเชื้อ 4.เครื่องมือที่ใช้สักไม่ได้มาตรฐาน และ 5.จากปัจจัยของแต่ละบุคคลเอง
       
       "สีที่ใช้สักน่าเป็นห่วงเพราะปริมาณมีน้อยกว่าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น จึงไม่มีการผลิตสีสำหรับการสักโดยตรง แต่ใช้สีที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น อาทิ สีเคลีอบรถยนต์ สีที่มาจากหมึกพิมพ์ เป็นต้น เมื่อนำมาใช้กับคนจึงไม่มีความปลอดภัย และมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงมาก ตลอดจนโลหะหนักต่างๆ โดยเฉพาะนิกเกิลพบในทุกสี ส่วนการสักไม่ถาวรที่เรียกว่าสักเฮนน่า ควรจะใช้เฮนน่าที่มาจากธรรมชาติ แต่มีผู้สักมักง่ายใช้ยาย้อมผมเคมีที่ประกอบไปด้วยสาร paraphenylene diamine มาใช้แทน ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนอาจเป็นแผลเป็นถาวรได้" นพ.เวสารัช กล่าว
       
       นพ.เวสารัช กล่าวว่า สีดำเป็นสีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุด ส่วนประกอบหลักคือ carbon black ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี มีส่วนประกอบหลายอย่างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน มีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง เกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า อย่างไรก็ตาม แม้สารก่อมะเร็งจะพบในปริมาณสูงมาก แต่จากรายงานเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังกลับพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารก่อมะเร็งและโลหะหนักจะเกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ ส่วนการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสัก พบว่า ทำให้ขนาดอนุภาคของสีสักลดลงถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าการลบรอยสักจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวผู้ป่วยระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้เลเซอร์รักษารอยสักกับการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสี ทำให้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี แพทย์จะปฏิเสธที่จะใช้เลเซอร์รักษารอยสักในผู้ป่วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่ยังไม่ทราบแน่ชัด
       
       "ในไทยยังไม่มีการควบคุมการสัก เพราะสีที่ใช้สักไม่ถือว่าเป็นยาหรือเครื่องสำอาง การสักไม่ถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ การควบคุมทำได้เพียงผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ส่วนวิธีการตรวจสอบสียังไม่มีมาตรฐานกลาง แต่ไทยเริ่มพยายามสร้างทีมที่มีตัวแทนจากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับการสัก จึงขอฝากเตือนผู้ที่ต้องการสัก คิดเกี่ยวกับอันตรายจากการสัก เพราะเมื่อสักไปแล้วร้อยละ 5 รู้สึกเสียใจ หากต้องการลบรอยสักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และอันตรายจากการลบรอยสักอาจเกิดขึ้นจากการปล่อยสารมะเร็งและโลหะปนเปื้อนต่างๆ ออกไปในกระแสโลหิต ซึ่งยังไม่มีใครทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจากการลบรอยสัก" นพ.เวสารัช กล่าว

 
ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X