เมื่อหนูน้อยต้องรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่
2015-06-28 14:50:43
Advertisement
คลิก!!!

โดย...พญ.ศุภรัตนา คุณานุสนธิ์ กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
       
       คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นเคยกับโรคไข้หวัดใหญ่นี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ แล้ว คงไม่จำเป็นต้องกล่าวนำอะไรมาก แต่สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ ต้องการให้ทำความเข้าใจถึงโรค การแพร่กระจายของโรค การหลีกเลี่ยงป้องกันการติดโรคและการแพร่เชื้อให้ได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น
       
       สาเหตุ เชื้อ Influenza virus หรือเรียกสั้น ๆ ว่า FLV มี 2 สายพันธุ์ คือ A&B สายพันธุ์ A ยังมีสายพันธุ์ย่อย ๆ (Subtype) อีกมาก จึงเป็นที่มาของการแพร่กระจายเชื้อที่ต่างกันในแต่ละปี และเป็นเหตุให้เราต้องฉีดวัคซีนตามสายพันธุ์ย่อยที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ ปีด้วย
       
       อาการ ที่สำคัญคือ โรคทางเดินหายใจ คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูก จนถึงหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบ นอกจากนั้น คือปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ต่างจากหวัดธรรมดา (Common Cold) คือ รุนแรงกว่า ไข้สูงกว่า โรคแทรกซ้อนมากกว่า จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ (เกินที่ 65 ปี), เด็กเล็ก ๆ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ ไต เบาหวาน หอบหืด ปอดเรื้อรัง เป็นต้น 
       
       โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ไซนัส หูชั้นกลางอักเสบ และทำให้อาการโรคที่มีอยู่เดิมกำเริบขึ้น เช่น หัวใจวาย หอบหืดรุนแรง เป็นตัน
       
       การแพร่กระจาย โดยเฉพาะเสมหะ น้ำมูก ไอ จาม ในรัศมี 6 ฟุต จากตัวผู้ป่วย การจับต้องสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แล้วเอามือเข้าปาก จมูก เชื้อไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่บนสิ่งของได้นาน 2 - 8 ชั่วโมง
       
       ระยะติดต่อ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วัน ก่อนป่วย (ก่อนมีไข้ หรือไอจาม) จนถึง 5 - 7 วัน หลังป่วย (ในเด็กอาจแพร่ได้นานกว่า 7 วันหลังป่วยได้) แต่บางคนได้รับเชื้อแล้วไม่มีอาการ แต่ก็อาจจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ จึงยังต้องระวังการติดเชื้อจากบุคคลที่อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยแต่ไม่แสดงอาการด้วย
       
       ระยะเพาะเชื้อ หมายถึง ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเกิดอาการ คือ 1 - 4 วัน
       
       การป้องกันในผู้ป่วย 1.ควรอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นอย่าง น้อย 24 ชั่วโมง หลังจากหายไข้แล้ว (โดยไม่ต้อง กินยาลดไข้) 2.ปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม 3.ล้างมือด้วยสบู่ น้ำ หรือ แอลกอฮอล์ เจลที่ใช้เช็ดมือ 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก ปาก แล้วมาจับสิ่งของ
       
       การป้องกันในผู้รับเชื้อ 1.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยในรัศมี 6 ฟุต การสวมหน้ากากอาจป้องกันจากการติดเชื้อไม่ได้ดีเท่าที่ควร 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวัตถุสิ่งของ ของผู้ป่วยที่อาจมีเชื้อโรคติดอยู่ 3.ล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์ เจล บ่อย ๆ 
       
       สำหรับวัคซีน ให้ได้ในเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หากให้ได้ผลควรฉีดทุกปี เพราะในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์และภูมิต้านทานจะลดลงหลังฉีด 1 ปี หรือแม้แต่การติดเชื้อในธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิต้านทานก็จะลดลงได้ การฉีดวัคซีนจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ จึงจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้

 
ขอขอบคุณทีมา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X