วัคซีนช่วยลด “เชื้อดื้อยา” ปัญหาระดับโลก
2015-04-01 13:24:27
Advertisement
คลิก!!!

       ผอ.สถาบันวัคซีน ชี้ วัคซีนช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ เผยยกผลวิจัยในอเมริกาใช้วัคซีนนิวโมคอคคัส ช่วยลดดื้อยาในเด็ก 64% ผู้สูงอายุ 45% แนวโน้มบริษัทวัคซีนให้ความสนใจเรื่องนี้มาก
       
       นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญอย่างมากของทั่วโลก โดยพบว่าประเทศไทยพบอุบัติการณ์ผู้ติดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะสูงถึง 88,000 ราย เสียชีวิต 38,000 รายต่อปี เป็นภาระเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทางการแพทย์ประมาณ 2,500 - 6,000 ล้านบาท ขณะที่การแก้ปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคค่อนข้างมาก เช่น นโยบายยังขาดความชัดเจน ขณะที่เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายระดับ มีผู้ใช้ยาปฏิชีวนะในหลายกลุ่ม ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และเกษตร นอกจากนี้ การปฏิบัติงานยังขาดการประสาน ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และบางส่วนยังมีการทับซ้อนกัน
       
       “มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ยืนยันอย่างชัดเจนว่าการใช้วัคซีนสามารถลดอุบัติการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะอย่างได้ผลในทางปฏิบัติ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เชื่อว่า สามารถพัฒนาวัคซีนครอบคลุมจุลชีพก่อโรคได้ทุกตัว จากการศึกษาวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2541 - 2551 การใช้วัคซีนนิวโมคอคคัสสามารถลดการดื้อยาของเชื้อนี้ในเด็กได้ถึงร้อยละ 64 และร้อยละ 45 ในผู้สูงอายุ สอดคล้องกับผลของการใช้วัคซีนนี้ในประเทศแอฟริกาใต้ พบการดื้อยาลดลงในทุกกลุ่มอายุ ร้อยละ 82 ในปัจจุบัน การใช้วัคซีนจึงเป็นมาตรการสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ปัจจุบันบริษัทวัคซีนหลายบริษัทจึงให้ความสนใจมากขึ้นในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาล เช่น E. coli, S. aureus เป็นต้น หากพัฒนาสำเร็จ วัคซีนเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะได้อย่างมีประสิทธิผล” นพ.จรุง กล่าว
       
       นพ.จรุง กล่าวว่า กลไกสำคัญที่วัคซีนสามารถลดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ คือ การใช้วัคซีน (Antibacterial vaccines) ช่วยลดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น วีคซีนนิวโมคอคคัส ไข้กาฬหลังแอ่น ฮิป ไอกรน ทัยฟอยด์ เป็นต้น รวมถึง วัคซีน (Antiviral vaccines) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถลดการสั่งใช้ยา จากการลดการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ภายหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องจากการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่โดยตรง มีข้อมูลการศึกษาในอเมริกาเหนือบางประเทศ พบว่า การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถลดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับทางเดินหายใจได้ถึงร้อยละ 64 และการได้รับวัคซีนช่วยลดการแพร่เชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เป็นตัวกลางแพร่เชื้อจุลชีพดื้อยาระหว่างคนไข้ได้เป็นอย่างดี หากไม่มีภูมิคุ้มกันโรค องค์การอนามัยโลกจึงได้แนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์รับวัคซีนหลายชนิด นอกจากนี้ นักท่องเที่ยว หรือ นักเดินทาง ที่ไม่ได้รับวัคซีน มีโอกาสการแพร่เชื้อดื้อยาได้มากเช่นเดียวกัน เช่น โรคซาโมเนลลา หรือ อหิวาตกโรค ซึ่งมีวัคซีนป้องกันแล้ว เป็นต้น

 
ขอขอบคุณที่มา   http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X