phi นวัตกรรมใหม่ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก ห่วงกิน “นม-เนย-ชีส” ป่วยพุ่ง
2014-11-05 11:15:12
Advertisement
คลิก!!!

       เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ phi น้ำยาตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก แม่นยำกว่าการตรวจสาร PSA 3.5 เท่า ลดเจ็บและการติดเชื้อจากการตรวจชิ้นเนื้อ เกินความจำเป็น ห่วงคนไทยป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากพุ่งขึ้นอันดับ 4 เหตุจัดหนักนม เนย ชีส ฟาสต์ฟูด ย้ำตรวจคัดกรองแต่แรกลดอัตราตาย 21% แนะกินอาหารไทยเพิ่มไลโคปีนช่วยป้องกัน

       วานนี้ (4 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ชุดน้ำยาตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่า ขณะนี้พบอุบัติการณ์เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายไทยเพิ่มมากขึ้น จากเดิมพบเป็นลำดับ 8 - 9 ของมะเร็งทั่วไปในผู้ชาย แต่กลับเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 4 นอกจากนี้ ผู้ที่มีพ่อหรือพี่ชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า โดยปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารการกินที่เปลี่ยนไป มีการรับประทานอาหารฟาสต์ฟูด หรืออาหารกลุ่มนม เนย ชีส เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับชาติตะวันตก ที่น่าห่วงคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกเริ่มนั้นไม่มีอาการแสดง และตรวจไม่พบทางทวารหนัก รวมถึงอาการของโรคยังคล้ายคลึงกับโรคต่อมลูกหมากโต ทำให้ผู้ป่วยละเลยคิดว่าเป็นอาการธรรมดาของชายสูงอายุ ส่งผลให้แนวโน้มชายไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใล้เคียงและอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ตับ ปอด หรือกระดูกจนยากที่จะรักษา ทั้งที่หากคัดกรองเจอตั้งแต่แรกเริ่ม และรักษาได้ไวตั้งแต่ระยะที่ 1 - 2 มีโอกาสหายขาด ลดโอกาสการเสียชีวิตลงได้ถึงร้อยละ 21
       
       ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ทั่วไปจะใช้วิธีการตรวจค่า PSA ซึ่งเป็นสารเคมีในเลือด ร่วมกับการคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก หากค่า PSA มากกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ng/ml) หรือคลำพบก้อนแข็งหรือขรุขระถือว่ามีความผิดปกติ ต้องตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก 10-12 ชิ้น เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่ม แต่หากค่า PSA ไม่เกิน 4 ng/ml ถือว่าไม่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากค่า PSA อยู่ระหว่าง 4-10 ng/ml เดิมทีจะให้ตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมด้วย แต่โอกาสในการเกิดมะเร็งอยู่ที่ 25 - 30% เท่านั้น เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้ต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจโดยที่มีโอกาสไม่เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากถึง 70% ทำให้ต้องเจ็บตัวและมีค่าใช้จ่ายเกิดนความจำเป็น นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับภาวะเลือดออกมาก และอาจติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย ถือเป็นโซนสีเทาที่ต้องพิจารณาว่าควรตรวจเพิ่มด้วยการตัดชิ้นเนื้อหรือไม่ รวมถึงพฤติกรรมหรืออาการบางอย่างทำให้ค่า PSA ได้ผลลวงด้วยคือ ต่อมลูกหมากโตมากๆ หรือเกิดการอักเสบ กิจกรรมที่มีการกระแทกต่อมลูกหมากรุนแรง เช่น ปั่นจักรยาน เพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น จึงมีการพัฒนาการตรวจด้วยวิธี Prostate Health Index หรือ phi ซึ่งเป็นชุดน้ำยาตรวจคัดกรอง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งมีความจำเพาะต่อมะเร็งกว่ามาก เหมาะที่จะใช้ตรวจเพิ่มสำหรับผู้ที่มีค่า PSA อยู่ที่ 4-10 ng/ml และไม่เกิดผลตรวจลวง

        “การตรวจด้วย phi จะทำการเจาะเลือดผู้ป่วย 5 ซีซีแล้ว ใช้ชุดน้ำยาและเครื่องตรวจอัตโนมัติเพื่อหาค่ารวมของสาร 3 ตัว คือ PSA ,Free PSA และ [-2]pro PSA ทำให้มีความจำเพาะเจาะจงในการตรวจต่อโรคสูง มีความน่าเชือถือมากกว่าการตรวจแบบ PSA 3.5 เท่า ทั้งนี้ หากค่า phi น้อยกว่า 40 ไม่จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจเพิ่ม เพียงแค่ตรวจร่างกายประจำปีก็เพียงพอ แต่หากค่า phi มากกว่า 40 จะต้องตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม ปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมนี้ในโรงพยาบาลเอกชนและโรงเรียนแพทย์บางแห่งเท่านั้น คาดว่า ในอนาคตจะมีการใช้ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง สำหรับค่าใช้จ่ายด้วยนวัตกรรม phi อยู่ที่หลักหมื่นบาท แต่หากมีการผลิตมากขึ้นจนราคาถูกลง น่าจะมีการบรรจุในสิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพต่างๆ” ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าว
       
       นพ.บรรณกิจ กล่าวว่า ส่วนการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1. ระยะที่ 1 - 2 มะเร็งยังไม่แพร่กระจายสามารถรัษษให้หายขาดได้ ด้วยการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด การฝังแร่รังสี และ 2. ระยะที่ 3 - 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ตับ ไต ปอดและต่อมน้ำเหลือง อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางรายถึงขั้นเป็นอัมพาต ทำการรักษาได้เพียงลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมียาบางชนิดช่วยฉีดประคับประคอง สำหรับการสังเกตุความผิดปกติของต่อมลูกหมาก เช่น ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ปัสสาวะลำยาก ปัสสาวะไม่หมด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปวดเวลาปัสสาวะหรือมีเลือดปนออกมา รวมทั้ง ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดหลัง ปวดกระดูก น้ำหนักลด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ อยากให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดอาหารมัน ควบคุมคลอเรสเตอรอล หันมากินอาหารไทยที่อุดมด้วยพืช ผัก ผลไม้ที่มีไลโคปีน เช่น แตงโม มะเขือเทศสุก ผักตระกูลกำหล่ำ ผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้และถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถช่วยยับยั้งโอกาสป้วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X