จริงหรือไม่..ที่เข้าใจเกี่ยวกับ “มะเร็งลำไส้”
2014-10-28 15:40:39
Advertisement
คลิก!!!

       ถ้าพูดถึง “โรคมะเร็ง” คงไม่มีใครอยากให้ตัวเอง และคนที่เรารักเป็นโรคนี้ แต่บางครั้งก็อดกังวลไม่ได้ เพราะอาการบางอย่างทำให้คิดไปต่างๆ นานา ว่า มะเร็งกำลังถามหาอยู่หรือไม่ วันนี้ทีมงาน Life & Family มีข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์จากโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเกี่ยวกับโรคมะเร็งในลำไส้มาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามอ่านกันได้เ้ลยครับ
       
       ท้องผูกเป็นประจำ สลับกับท้องเสีย คือ อาการแสดงออกของมะเร็งลำไส้จริงหรือไม่
       
       ตอบ : ไม่ใช่แค่ท้องผูกเท่านั้น อาการผิดปกติของลำไส้ เช่น ท้องเสียบ่อย และติดต่อกันเป็นเวลานาน
       
       อาหารจานโปรด ประเภทปิ้งย่าง เป็นตัวการสำคัญของมะเร็งลำไส้จริงหรือไม่
       
       ตอบ : อาหารปิ้งย่าง กำลังได้รับความนิยม แต่หลายคนอาจลืมไปว่าการรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียมเป็นประจำ โอกาสที่จะได้รับสารก่อมะเร็งจากอาหารรมควัน และอาหารปิ้ง ย่าง ทอด เช่น เนื้อย่าง บาร์บีคิว และสเต็กย่อมมีได้สูง
       
       อาหารหมักดอง เป็นตัวก่อมะเร็งจริงหรือไม่
       
       ตอบ : อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารก่อให้เกิดสารอันตรายที่เป็นปัจจัยการเกิดมะเร็ง เช่น กลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งหากสะสมในร่างกาย มีโอกาสก่อมะเร็งได้ในอนาคต
       
       หากผลตรวจเลือดในอุจจาระเป็น possitive หมายความว่าเป็นมะเร็งลำไส้แน่ๆ จริงหรือไม่
       
       ตอบ : มีเพียง 2-5% ของผู้ป่วยที่พบว่ามีเลือดปนในอุจจาระแล้วเป็นมะเร็งลำไส้ ซึ่งต้องยืนยันผลซ้ำด้วยการตรวจหา DNA ของมะเร็ง และการตรวจส่องกล้องลำไส้ (Colonocopy)
       
       หากพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ แสดงว่า เป็นมะเร็งลำไส้แล้วใช่หรือไม่
       
       ตอบ : ไม่เสมอไป จนกว่าจะได้รับการยืนยันความผิดปกติของชิ้นเนื้อที่พบว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ ด้วยการตรวจส่องกล้องลำไส้เพื่อความแน่ใจ ซึ่งไม่ต้องกลัวเจ็บแต่อย่างใด
       
       ผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าผู้หญิงจริงหรือไม่
       
       ตอบ : เพศชายหรือเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ได้เท่าๆ กัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิต
       
       คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ได้มากกว่าคนปกติจริงหรือไม่
       
       ตอบ : กรรมพันธุ์ หรือพันธุกรรม เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง โดยมีส่วนเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ แต่พบไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม ประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้มากขึ้น โดยกลุ่มนี้ควรเริ่มตรวจส่องกล้องลำไส้ตั้งแต่อายุ 40 ปี


        คนอายุน้อยก็มีสิทธิเป็นมะเร็งลำไส้ได้จริงหรือ
       
       ตอบ : โรคมะเร็งลำไส้ ส่วนมากจะพบในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยจะไม่มีโอกาสเป็น เนื่องจากมะเร็งดังกล่าวใช้เวลาในการก่อตัว กว่าจะพบอาการแสดงออกอย่างชัดเจนต้องใช้เวลานาน
       
       คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ มีโอกาสหายขาดได้หรือไม่
       
       ตอบ : หากตรวจพบก้อนเนื้อร้ายได้เร็ว การรักษาก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือสะบักสะบอมจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด
       
       ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่รักษามะเร็งลำไส้ได้จริงหรือ
       
       ตอบ : การตรวจอย่างละเอียดด้วยการส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ช่วยคัดกรองความผิดปกติที่เกิดขึ้นในลำไส้ได้อย่างแม่นยำ หากพบระยะก่อนมะเร็ง และทำการรักษาได้ทันท่วงที คนไข้สามารถกลับมาให้ชีวิตได้ตามปกติ
       
       อาการถ่ายอุจจาระ มีเลือดปนและปวดท้องเป็นประจำ คืออาการแสดงออกของมะเร็งลำไส้จริงหรือไม่
       
       ตอบ : อาการถ่ายอุจจาระ มีเลือดปน อาจเป็นอาการของริดสีดวงทวารได้ และอาการปวดท้องเป็นประจำไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นมะเร็งลำไส้อย่างเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ปวดและอาการร่วมอื่นๆ จึงควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป
       
       หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ การผ่าตัดคือหนทางการรักษาที่ดีที่สุดจริงหรือไม่
       
       ตอบ : การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอามะเร็งออก ซึ่งวิธีการผ่าตัดและการติดตามการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดและการกระจายของมะเร็ง
       
       เราจะป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้หรือไม่
       
       ตอบ : เป็นการยากที่จะกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งลำไส้ทั้งหมด ดังนั้น การตรวจหามะเร็งลำไส้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ถึงกระนั้น คงไม่สำคัญเท่ากับการดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคมะเร็งได้


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X