วัยรุ่น วัยทำงาน เจอปัญหาฟันผุ โรคปริทันต์ เสี่ยงสูญเสียฟันทั้งปาก
2014-10-17 14:26:48
Advertisement
คลิก!!!

เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ยังเผชิญปัญหาฟันผุ โรคปริทันต์ ห่วงคนแก่สูญเสียฟันหมดปาก เตรียมจัดกิจกรรมและบริการวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 21 ต.ค. นี้

16 ต.ค. ที่ ร.ร.สายปัญญารังสิต จ.ปทุมธานี นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า” ว่า วันที่ 21 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมา สธ. ได้จัดบริการทันตกรรมที่หน่วยบริการสาธารณสุขภาครัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาโดยไม่คิดมูลค่า ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า และตระหนักถึงการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี เนื่องจากข้อมูลสถานการณ์สุขภาพช่องปากและฟันของคนไทย พบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยเริ่มมีฟันน้ำนมผุร้อยละ 3 ตั้งแต่อายุ 9 เดือน และเพิ่มเป็นร้อยละ 51.7 เมื่ออายุ 3 ปี และจะเพิ่มสูงมากถึง ร้อยละ 97.5 เมื่ออายุ 5 ปี เด็กวัยเรียนที่เริ่มมีฟันแท้ขึ้นในปาก ช่วงอายุ 12 ปี ร้อยละ 52.2 เป็นโรคฟันผุ และร้อยละ 50 พบเหงือกอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหาร เช่น เบเกอรี่ ขนม ลูกอม และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง และเด็กไม่ได้รับการฝึกทักษะในการดูแลทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดเพียงพอ กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน พบปัญหาฟันผุบริเวณซอกฟัน และเริ่มเป็นโรคปริทันต์ โดยผู้ที่ฟันผุยังไม่ไปรับการรักษา ร้อยละ 35.2 และพบโรคปริทันต์รุนแรงที่เสี่ยงต่อการสูญเสียฟัน ร้อยละ 15.6 ซึ่งส่วนหนึ่งจะพบภาวะแทรกซ้อนของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
       
        นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าปัญหาหลักคือไม่มีฟันธรรมชาติเหลือพอในการบดเคี้ยวอาหาร มีการสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ ร้อยละ 83 สูญเสียฟัน ทั้งปาก ร้อยละ 7.2 แต่ด้วยการดำเนินงานโครงการฟันเทียมพระราชทาน จึงทำให้ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันทั้งปากลดลงเหลือร้อยละ 2.5 แต่หากคิดเป็นจำนวนยังคงสูงถึง 250,000 คน และยังพบปัญหา ฟันผุ รากฟันผุ โรคปริทันต์ มะเร็งช่องปาก ภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก และสภาวะในช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จำเป็นต้องรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพช่องปากใน ทุกกลุ่มวัยอย่างต่อเนื่อง
       
        ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมฯได้กำหนดมาตรการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากร่วมกับหน่วยบริการของ สธ. แม้สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ แต่โรคที่พบบ่อยในช่องปาก ที่นำมาสู่การสูญเสียฟันที่สำคัญ ได้แก่ โรคฟันผุ และโรคปริทันต์ ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก พฤติกรรมการบริโภคอาหาร ก็ยังมีความชุกสูงอยู่ โดยปัจจัยเสี่ยงโรคฟันผุเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ คราบจุลินทรีย์ และอาหารหวาน ส่วนโรคปริทันต์ มีสาเหตุจากคราบจุลินทรีย์ และ การสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีโรคที่พบในผู้สูงอายุ เช่น รากฟันผุ มะเร็งช่องปาก ฟันสึก เป็นต้น ดังนั้น ประชาชนทุกกลุ่มวัยควรดูแลอนามัยช่องปากเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ คราบจุลินทรีย์ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ และบุหรี่ ตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อรับบริการส่งเสริมป้องกัน เช่น รับคำแนะนำในการใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อดูแลอนามัยช่องปากตามจำเป็น เช่น ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน การทาฟลูออไรด์กรณี ที่เสี่ยงฟันผุ รากฟันผุ การขูดหินปูนทำความสะอาดฟันป้องกันโรคปริทันต์ และรับบริการรักษาตามความจำเป็น เพื่อควบคุมแหล่งสะสมเชื้อโรคในช่องปาก และลดการสูญเสียฟัน
       
        “สำหรับกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันทันตสาธารณสุข 21 ต.ค. กรมฯและภาคีเครือข่ายทุกกระทรวง ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การประกวด 10 ยอดฟันดี วัย 80 และ 90 ปี จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า การให้ความรู้การดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนทุกกลุ่มวัย แปรงสีฟันเก่าแลกแปรงสีฟันใหม่ รวมทั้งประสานการจัดบริการทันตกรรมทั่วประเทศในวันที่ 21 ต.ค.ถวายเป็น พระราชกุศล เพื่อดูแลและแก้ปัญหาโรคในช่องปาก ให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี นอกจากนี้ ยังร่วมกับมูลนิธิทันตสาธารณสุข จัดกิจกรรม เดิน-วิ่ง ฟันดี สุขภาพดี มินิมาราธอน ครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 ต.ค. ณ กระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X