นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล : กินเจ = เสี่ยง
2014-10-05 13:27:32
Advertisement
คลิก!!!

ธรรมชาติบำบัด/นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล [email protected] http://www.balavi.com

กินเจ = เสี่ยง

 
ครับ คุณอ่านไม่ผิด ผมกำลังจะบอกคุณว่า กินเจเท่ากับเสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันเลือดสูง

ยิ่งปีนี้เขาบอกกันว่ามีเทศกาลกินเจ 2 รอบ นั่นเท่ากับว่าปีนี้เรามีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันเลือดสูงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวเช่นกัน

ทำไมกินเจจึงเสี่ยงต่อโรคพวกนี้

แน่นอนเรารู้ว่า โรคที่ผมยกขึ้นมา 3 โรคใหญ่เป็นโรคที่สัมพันธ์กับอาหารการกิน และความรู้สุขภาพแบบฉบับก็เผยแพร่มา 30-40 ปีแล้ว ว่าโรคเบาหวานเกิดจากการกินหวาน หรือกินคาร์โบไฮเดรตมาก นั่นนับว่าพอจะเข้าใจได้ แต่ความรู้แบบฉบับจะไปเน้นว่า ความอ้วนเกิดจากกินไขมันเยอะเกินไป และเช่นเดียวกันโรคไขมันเลือดสูงก็มาจากการกินไขมันเยอะเกินไปด้วย โดยเฉพาะการกินอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง หรือกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารไขมันที่กินเข้าไปจะไปสะสม ถ้าอยู่ในหลอดเลือดก็เป็นไขมันเลือดสูง ถ้ามุดออกจากหลอดเลือดไปอยู่ใต้ผิวหนังก็ทำให้อ้วน

และสมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อน เราจะเพ่งเล็งว่า ไข่เป็นแหล่งอุดมด้วยคอเลสเตอรอล เนื้อสัตว์ก็อุดมด้วยกรดไขมันอิ่มตัว อาหารกลุ่มนี้จึงตกเป็นเป้าหมายของการรณรงค์ให้ละเลิกการกิน

จากความเชื่อนี้ ไข่จึงเป็นศัตรูของโรคหัวใจและไขมันเลือดสูง หนังไก่และหมูสามชั้นเป็นศัตรูของความอ้วน

ครั้นเมื่อคิดกลับกัน การไม่กินเนื้อสัตว์ ไขมัน ไม่กินไข่ จึงกลายเป็นหนทางสุขภาพ แต่ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์กับไขมัน แล้วเราจะกินอะไรเล่า?

ก็เหลือแต่อาหารพวกแป้งข้าว ซึ่งรวมไปถึงก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ วุ้นเส้น กินกับเต้าหู้ ผัก ตามด้วยผลไม้ กลายเป็นหนทางของอาหารสุขภาพ แล้วมีขนมรูปแบบต่างๆ เป็นรางวัลตบท้าย 

นี่คือวิถีสุขภาพในแนวที่เรียกว่า "เนื้อสัตว์ต่ำ แป้งสูง (low meat high carbohydrate)" หนทางสุขภาพนี่แพร่หลายอย่างหนักตลอดช่วงระยะ 30 ปี จนขึ้นสู่กระแสสูงเมื่อ 20 ปีให้หลังเป็นกระแสมังสวิรัติ หรือกินเจกันไปเลย

กระแสกินเจระบาดหนักในช่วงเวลา 20 ปีหลังนี้ จนเกือบจะเป็นแฟชั่น ชนิดที่ว่าเข้าฤดูกินเจ สาวสำนักงานเกือบทุกๆ บริษัทพากันกินเจเป็นทิวแถว แล้วแถมด้วยสโลแกนประเภทที่ว่า "กินเจเสมือนกับการล้างพิษ 10 วัน"

แนวโน้มสุขภาพเป็นไปเช่นนี้ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนับได้สองทศวรรษ แต่ความจริงอันน่าเจ็บปวดกลับเป็นว่า มีคนทั่วโลกที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 153 ล้านคน ในปี ค.ศ.1980 เมื่อเทียบกับเวลานี้ที่เรามีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 347 ล้านคน เมื่อปี ค.ศ.1900 จะมีคนเป็นโรคความดันเลือดสูงเพียง 5% ของประชากรโลก แต่เวลานี้ประชากรกว่า 1 ใน 3 มีโรคความดันเลือดสูง

บ่อยครั้งที่ผมไปบรรยายความรู้สุขภาพให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน บางหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ เราได้สำรวจอัตราความป่วยเจ็บของผู้เข้ารับการอบรมแล้วก็พบตัวเลขที่น่าสนใจ อย่างเช่นมีหน่วยงานหนึ่งผู้เข้าอบรม 90 คน พบว่า :

คนที่ไม่ป่วย (สุขภาพดี) 33.33%

ท้วม-โรคอ้วน (BMI 23-มากกว่า 30) 66.67%

เบาหวาน 18%

ความดันเลือดสูง 21%

ปวดเข่า ปวดหลัง 23%

เหล่านี้คือภาพสะท้อนสุขภาพของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งก็มาจากการกินอาหารแนว "เนื้อสัตว์ต่ำ แป้งสูง" นั่นเอง

แสดงว่าทิศทางการรณรงค์สุขภาพแนวนี้ต้องมีอะไรไม่ถูกต้องเสียแล้ว

และการรณรงค์กินเจ โดยหวังว่าจะเป็นผลดีกับสุขภาพ น่าจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะเมื่อเรารังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจไขมัน เราก็ต้องบรรจุท้องให้อิ่มด้วยแป้งข้าวและผักผลไม้ แต่ผักตระเตรียมให้พร้อมกินได้ยาก ผู้รักสุขภาพก็หันไปกินผลไม้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

อาหารแนวทางนี้กลับก่อโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันสูง นานๆ เข้าก็กลายเป็นความดันเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาตตามมา

ผมจึงบอกไว้ตั้งแต่ต้นคอลัมน์แล้ว่า "กินเจ = เสี่ยง" เสี่ยง ตรงกันข้ามโลกทุกวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่การกินอาหารสุขภาพแนว "เนื้อสัตว์สูง แป้งต่ำ" นั่นต่างหาก ถ้าคุณเอะใจสักนิด คุณอาจจะระแคะระคายความรู้สุขภาพใหม่ๆ ใน 2-3 ปีให้หลังนี้ ที่พลักล็อกความเชื่อมาทีละประเด็นเรื่อยๆ เช่น :

- ข่าวเรื่ององค์ทะไลลามะ หลังจากเดินทางจากทิเบตไปอินเดียแล้ว ได้หันไปฉันมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ป่วยเป็นโรคตับอักเสบอย่างหนัก จนสุดท้ายแพทย์ประจำพระองค์ต้องแนะนำให้ท่านหันมาฉันเนื้อสัตว์ตามเดิม โรคตับอักเสบจึงได้หายไป จากนั้นเป็นต้นมาใครๆ ก็รู้ว่า เมื่อองค์ทะไลลามะเดินทางไปบรรยายธรรมที่ใดในสหรัฐอเมริกา อาหารจานโปรดที่ผู้คนควรเตรียมให้ท่านคือสเต๊กเนื้อสัน

- เดือนกันยายน ค.ศ.1997 นิตยสาร Time ขึ้นปกเป็นรูปไข่ดาว 2 ฟองแล้วพาดหัวว่า "Good news for cholesterol" เนื้อในเป็นสารคดีพิเศษที่บ่งบอกว่า ไข่ไม่ใช่สาเหตุของคอเลสเตอรอลสูง แต่คอเลสเตอรอลในเลือดนั้น ตับของเราสร้างขึ้นมาเองจากกรดไขมัน ไข่จึงถูกปลดลงจากบัญชีดำในอาหารสุขภาพ แต่นม เนยถั่ว เนยมาการีนที่ทำจากน้ำมันทานตะวันเติมไฮโดรเจนถูกขึ้นบัญชีดำ

- กินกะทิปลอดภัย น้ำมันมะพร้าวได้รับการยกย่องเป็นน้ำมันสุขภาพ

- น้ำมันสัตว์กลับปลอดภัยกว่าน้ำมันพืช ทั้งในแง่ที่เมื่อถูกความร้อนจะแตกตัวให้อนุมูลอิสระน้อยกว่า และถูกเติมไฮโดรเจนให้กลายเป็นทรานส์แฟ็ตน้อยกว่า ด้วยเหตุนี้ น้ำมันหมูจึงปลอดภัยกว่ากินน้ำมันพืชเสียด้วยซ้ำ

- ในสเต๊กเนื้อสัน 1 ชิ้นซึ่งมีไขมันติดอยู่กว่า 1/2 นิ้ว 51% ให้กรดโอเลอิก อีก 45% ให้กรดสเตียริกซึ่งไปเพิ่ม HDL แก่ร่างกาย กินสเต๊กเนื้อสัน 1 ชิ้นจึงเหมือนกินน้ำมันมะกอก มีผลช่วยลดโรคหัวใจ

- หลังสุด นิตยสาร Time เดือนมิถุนายน ค.ศ.2014 นี้เอง ขึ้นปกเป็นรูปเนยแล้วพาดหัวว่า "Eat Butter" พร้อมกับจั่วหัวรองว่า นักวิทยาศาสตร์เคยชี้ว่าไขมันเป็นศัตรู ทำไมพวกเขาจึงพูดผิด?

ในเนื้อความของเล่มขยายความรู้ให้เราเห็นชัดขึ้นอีกว่า อาหารไขมันไม่ใช่ศัตรูสุขภาพ ที่แท้แล้วคือคาร์โบไฮเดรต

ปัญหาสุขภาพที่รุมเร้าเราอยู่ทุกวันนี้ มีเหตุมาจากการกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ซึ่งหลายๆ คนมัวแต่หลีกเลี่ยงของหวาน แต่ลืมคิดไปว่าคาร์โบไฮเดรตที่อันตรายมาในรูปรสจืด อันได้แก่ แป้งข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น และมากับหวานอมเปรี้ยว ได้แก่ผลไม้ชนิดต่างๆ เหล่านี้คือตัวร้ายของสุขภาพ

อาหารแนวนี้มาขมวดปมรวบยอดที่เรียกว่า "การกินเจ" นั่นเอง

ผมจึงต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่า "กินเจ = เสี่ยง" และปีนี้เสี่ยงกันถึง 2 หนเลยทีเดียว ถึงคราวต้องถามตัวเองกันหรือยังว่า "จำเป็นหรือไม่ที่ฉันจะต้องกินเจ?" หรืออย่างน้อยถามต่อไปอีกนิดว่า "จะกินเจให้ลดความเสี่ยงได้อย่างไร?" 
 
 
(มติชนสุดสัปดาห์ 3-9 ตุลาคม 2557)

ที่มา  มติชนออนไลน์
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X