Stroke วิกฤติสุขภาพ เพชฌฆาตเงียบ
2014-09-24 18:03:11
Advertisement
คลิก!!!

ผู้ชายเสี่ยงภัย Stroke มากกว่า 

ภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศชาย เพราะลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้ชายมักจะเป็นไปอย่างรีบร้อน ขาดความระมัดระวัง ไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้เด็กที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองตั้งแต่กำเนิด หรือ AVM (Arteriovenous Malformation) ก็มีโอกาสเส้นเลือดในสมองแตกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ส่วนความเครียดที่ถูกเข้าใจว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงอื่นที่กล่าวมา

 

รู้จัก 4 สัญญาณ Stroke 

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า Stroke เป็นโรคที่แสดงอาการอย่างเฉียบพลัน เมื่อเป็นแล้วมักทรุด หมดสติ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ แสดงว่าเสี่ยงต่อการเกิด Stroke

 

- ปวดศีรษะขึ้นมาทันทีโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีอาเจียนร่วมด้วยในบางครั้ง


- แขน ขาอ่อนแรง หรือชาขึ้นมาทันทีครึ่งซีก หรือด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย 


- มีอาการพูดลำบาก เปล่งเสียงไม่ได้ ออกเสียงไม่ชัด สูญเสียทักษะการมองเห็น (เพียงด้านเดียว) 


- เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว หรือหมดสติทันที 

อาการเหล่านี้ เกิดขึ้นได้แม้ในขณะที่ผู้ป่วยกำลังยืนหรือเดินอยู่ หากพบเจอกับผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว สิ่งที่ดีที่สุดและจะเป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการรักษา คือการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ให้บริการเอ็กซเรย์สมองโดยเร็วที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการชักกระตุกร่วมด้วย ควรนำช้อนพันผ้าสะอาดสอดเข้าไปในปากป้องกันการกัดลิ้น หรือหากผู้ป่วยอาเจียนก็ควรหันหน้าผู้ป่วยไปด้านใดด้านหนึ่ง ให้อาเจียนออกมาให้หมด ไม่ควรให้ผู้ป่วยนอนหันหน้าตรงเพราะอาเจียนจะไหลย้อนลงสู่หลอดลม เกิดการสำลักได้

 

เมื่อถึงมือแพทย์ คนไข้จะได้รับการเอ็กซเรย์เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง ว่าเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตกก่อนทำการรักษา โดยอาจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ภาพตัดขวาง (CT Scan) หรือเครื่องเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินความเสียหายของเนื้อสมอง ในกรณีที่คนไข้เส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน 3 ชั่วโมงแรกนับจากมีอาการจนถึงมือแพทย์ ถือเป็นนาทีทองที่จะทำให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพที่สุด และหลังการรักษาจะมีโอกาสเกิดความผิดปกติทางร่างกายน้อยที่สุดด้วย ยิ่งทำการรักษาเร็วเท่าไร โอกาสที่สมองจะขาดเลือดก็น้อยลงเท่านั้น

 

รับมือ Stroke ด้วย 2 แนวทางรักษา

แนวทางการรักษาเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตกมี 2 วิธีคือ การรักษาด้วยยา(กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด) และการรักษาโดยการผ่าตัด ส่วนจะรักษาด้วยวิธีใดนั้น ประสาทแพทย์และประสาทศัลยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจากภาวะต่างๆ ดังนี้

ดูจากอาการของผู้ป่วย โดยดูว่าผู้ป่วยมีอาการหนักมากหรือน้อยแค่ไหน แพทย์จะสังเกตจากระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย ส่วนมากคนไข้ที่มีอาการหนักมักไม่รู้สึกตัว ซึม หรือหลับ โดยนำมาวิเคราะห์ร่วมกับการตรวจร่างกายอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางตัดสินให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

กรณีเส้นเลือดในสมองแตก ถ้าก้อนเลือดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยมักมีอาการไม่หนัก แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยา แต่ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่และผู้ป่วยมีอาการหนัก อาจต้องใช้วิธีผ่าตัด ทั้งนี้ตำแหน่งของเส้นเลือดที่แตกก็สำคัญ ยิ่งเส้นเลือดแตกลึกลงไปเท่าไร ความเสี่ยงจากการผ่าตัดก็ยิ่งมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นเลือดแตกที่แกนสมอง แทบจะไม่มีความหวังในการรักษาเลย 

ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีรูปแบบการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอาการเป็นสำคัญ บางรายโชคดีถูกส่งถึงมือแพทย์ทันท่วงทีก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่รายที่โชคร้ายถึงมือแพทย์ช้า สมองถูกทำลายไปมาก โอกาสที่จะพิกลพิการ หรือเป็นอัมพาตก็มีสูงเช่นกัน พูดง่ายๆ ว่า stroke เป็นโรคที่ทำให้สมองถูกทำลายแน่นอนแต่จะมากน้อยแตกต่างกัน โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายร้อยเปอร์เซ็นต์จึงไม่มี หลังจากการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งอาจกินเวลาหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ผู้ป่วยบางรายจะต้องได้รับยาต่อเนื่องและทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้ได้มากที่สุด

 

แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลร่างกายให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ หากคุณเป็นโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองดังที่กล่าวมาแล้ว ควรทำการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดของสมองแตก ตีบหรือตันได้

 

 

ที่มา  http://siamdara.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X