ละครญี่ปุ่นวัยฮอร์โมน
2014-09-11 09:53:26
Advertisement
คลิก!!!

ในกระแสละครบ้านเราละครแนววัยรุ่น วัยเรียนกำลังมาแรงค่ะ ละครญี่ปุ่นเองก็มีละครแนวนี้เยอะอยู่เช่นกัน ซึ่งเราจะรู้จักกันในแนวที่เรียกว่า School Drama หรือ Seishun Drama เป็นละครที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่น วัยใสที่กำลังอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ และพร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า 

วันนี้ก็เลยจะพาทุกคนมารู้จักกับละครแนวนี้ของญี่ปุ่นค่ะว่า เนื้อเรื่องมักจะกล่าวถึงอะไร ชีวิตวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดผ่านละครจะเป็นแบบไหนกันบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ


1. ครูซ่าท้าเด็กแนว

ถ้าพูดถึงละครญี่ปุ่นแนววัยรุ่น วัยเรียน แนวที่เห็นได้บ่อยๆ เลยก็คือ แนวด็กมีปัญหา วัยรุ่นที่เป็นนักเลง อันธพาล ชอบหาเรื่องตีกันไม่เว้นแต่ละวัน แล้วเด็กพวกนี้จะต้องมาเจอ “ครูสายโหด” คอยจัดการ และคอยสั่งสอนให้มาเดินในเส้นทางที่ถูกที่ควร ละครแนวนี้ก็อย่างเช่นเรื่อง “Gokusen” เด็กนักเรียนจอมอันธพาลที่ได้ “ยังกุมิ” ลูกสาวยากูซ่าที่มีใจรักความเป็นครูมาคอยกำราบเด็กพวกนี้ หรือเรื่อง “GTO”นักเลงจอมซ่าที่ขอมาเป็นครู แม้จะสอนไม่เก่งเท่าไร แต่เรื่องประสบการณ์การใช้ชีวิตไม่แพ้ใคร ด้วยความที่เคยเป็นนักเลงมาก่อน เลยทำให้เข้าใจเด็กพวกนี้ได้ดี 


2. กิจกรรมเยอะ

แม้จะเป็นละครที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียน ไปโรงเรียนกันทุกวัน แต่ไม่ค่อยเห็นพวกเขาได้เรียนกันเท่าไรค่ะ ฉากที่เรียนหนังสือเหมือนเป็นเรื่องรองเท่านั้น แต่เนื้อหาหลักๆ มักจะมุ่งเน้นไปที่กิจกรรม ซึ่งกิจกรรมที่จะเจอบ่อยๆ ก็คือ “กีฬา” ค่ะ ละครวัยรุ่นที่มักจะมาพร้อมกับเรื่องกีฬา  เช่นเรื่อง Rookies, Yowakutemo Katemasu, H2, Suikyu Yankees เป็นต้น การที่ละครเสนอเรื่องกีฬาเนี่ย มันทำให้เห็นถึงความสามัคคี การทำงานเป็นทีมค่ะ อีกทั้งยังทำให้เด็กได้รู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า “เพียรพยายาม” ด้วย การที่จะประสบความสำเร็จ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความอดทน ตั้งใจ และเพียรพยายาม ดูเหมือนจะเป็นหลักคำสอนที่ละครญี่ปุ่นซ่อนไว้ในเนื้อเรื่อง

หรือแนวที่ไม่ได้เน้นหนักที่ด้านกีฬาก็มีค่ะ เช่น “Ouran High School Host Club” โรงเรียนของเหล่าไฮโซ มีชมรม “โฮสท์คลับ” ที่โด่งดังสุดๆ ในโรงเรียน จะมีเหล่าหนุ่ม (สาว) หล่อมาดูแลคุณผู้หญิง ในเรื่องจะไม่ค่อยเห็นเด็กพวกนี้เรียนกันเท่าไร เช้ามาก็มุ่งหน้ามาที่ชมรมตัวเอง ถ้าชีวิตจริงเป็นอย่างนี้ล่ะก็...อยากจะไปโรงเรียนทุกวันเลยล่ะค่ะ! แต่เอาเข้าจริงกิจกรรมก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ มีความรู้อีกมากมายที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเรียน


3. แอบรักเพื่อนร่วมชั้น

วัยรุ่น วัยใสแบบนี้ เรียนได้ว่าเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ความรักเลยค่ะ ความรักในละครวัยรุ่นญี่ปุ่นมักจะออกมาในรูปแบบรักกุ๊กกิ๊ก น่ารักๆ ที่เหมาะสมกับวัย อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง “Kimi ni Todoke” เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ผู้ชายเรียกได้ว่าเป็นคนที่เพอร์เฟ็ค หล่อ หน้าตาดี เรียนโอเค ส่วนฝ่ายหญิงจะเป็นคนไม่ได้สวยมากจนถึงขั้นดาวโรงเรียน แถมมีบุคลิกที่น่ากลัว ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง แต่จริงๆ แล้วก็มีความน่ารักในแบบตัวเองแอบซ่อนอยู่ ในเรื่องนี้ไม่มีฉากหวือหวาอะไรเลย มีแต่ฉากความรักที่ดูอบอุ่น แอบมองกันไปกันมา แสดงความรักต่อกันในมุมน่ารักๆ การที่รักใครสักคนเพราะตัวตนที่เขาเป็นจริงๆ มองอีกแง่ก็เหมือนเป็นการเสนอให้เห็นว่าความรักในวัยนี้ควรมีขอบเขตแค่ไหน รักแบบใสใสก็เป็นความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับวัยนี้เหมือนกันนะคะ อย่าเพิ่งเกินเลยไม่กว่าวัยเลยดีกว่า


4. ความฝันเข้าโทได
“โทได” หรือมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีเด็กญี่ปุ่นจำนวนมากที่มีความฝันอยากจะเข้าไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ได้ ในละครวัยรุ่นญี่ปุ่นก็มักจะแทรกค่านิยมการเข้ามหาวิทยาลัยเข้าไปค่ะว่า นี่คือความฝันอย่างหนึ่งของพวกเขา การที่เข้าโตไดได้ จะทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น อนาคตจะสบาย ประมาณนั้นค่ะ

ละครที่นำเสนอค่านิยมนี้อย่างเห็นชัดที่สุดเลยก็คือ “Dragon Zakura” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คอละครญี่ปุ่นประทับใจ และเป็นเรื่องที่ต่างจากละครวัยรุ่นทั่วไปคือ มีฉากเรียนหนังสือเยอะกว่าฉากกิจกรรม! เนื้อเรื่องของเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นเด็กไม่เอาไหน เรียนไม่เก่ง แต่จู่ๆ ก็หันมาฟิตสู้ ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ และเข้าคอร์สติวแบบเร่งรัดของทางโรงเรียน เพื่อพิชิตโทได และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนของตัวเอง (ประมาณว่าเด็กโรงเรียนฉันก็สอบติดโทไดนะ) ในเรื่องนี้ก็จะแทรกหลักการเรียน เทคนิคการทำข้อสอบต่างๆ พร้อมความสนุกสนานของการเรียนหนังสือ พอดูเรื่องนี้ทำให้รู้สึกอยากเรียนหนังสือขึ้นมาทันทีเลยค่ะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางเรื่องก็พยายามสอดแทรกว่า บางทีมหาวิทยาลัยชื่อดังก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต ความสำเร็จของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเสมอไป

 


“ถึงแม้พวกเธอจะจบจากโทไดก็ตาม
พวกเธอก็มีสิทธิ์ตกงานอย่างง่ายดายเหมือนผมเช่นกัน”



5. ปัญหาการกลั่นแกล้งกัน





“ปัญหาการแกล้งกัน” เป็นปัญหาในสังคมเด็กวัยรุ่นที่ถูกเผยแพร่ผ่านละครไม่น้อยเลยค่ะ เขาว่ากันว่าปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นอยู่เช่นกัน ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ละครที่แทรกปัญหานี้ก็จะนำเสนอให้เห็นเลยค่ะว่า เด็กนักเรียนที่ถูกเพื่อนแกล้งนั้นจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งการแกล้งกันก็ไม่ใช่การแกล้งแบบธรรมดานะคะ แต่เป็นการแกล้งที่ดูจริงจังมาก

วิธีการกลั่นแกล้งก็คือ ในห้องจะมีหัวโจกค่ะ คอยแกล้งคนที่ชอบทำตัวต่างจากคนอื่น หรือไม่ก็พวกที่ดูอ่อนแอ แกล้งแล้ว “น่าสนุก” การแกล้งพื้นฐานทั่วไปที่เห็นบ่อยๆ ก็คือ เขียนโต๊ะของคนที่จะแกล้งว่า “ยัยขี้เหร่” “ไปตายซะ” ประมาณนี้







บางทีก็เอาตะปู หรือกาวเหนียวๆ วางไว้ที่เก้าอี้ พอเพื่อนนั่งก็จะเจอกับดักที่วางไว้ เด็กผู้ชายก็จะมีต่อยกัน ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะชอบลากเข้าไปในห้องน้ำและเอาสายยางฉีดน้ำใส่ ซึ่งคนที่ถูกแกล้ง มักจะเป็นเหยื่อเพียงรายเดียวในห้อง ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่มาช่วย เพราะกลัวว่าจะถูกหมายหัวเป็นเป้าหมายต่อไป อาจจะดูรุนแรง แต่อีกแง่หนึ่งเป็นการสะท้อนชีวิตที่เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งต้องเจอ ทำให้คนในสังคมได้เห็นว่ามันเป็นปัญหาที่ร้ายแรง ทางโรงเรียน พ่อแม่ และสังคมควรจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ส่วนเด็กเองการยอมแพ้ หรือฆ่าตัวตายก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะตายไปก็ไม่มีใครสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำ แต่สิ่งที่ควรทำคือการปกป้องชีวิตตัวเองให้ดีที่สุด


6. มิตรภาพสำคัญที่สุด





เสน่ห์สำคัญของละครแนววัยรุ่นของญี่ปุ่นเลยก็คือ “เรื่องมิตรภาพ” ค่ะ ในรั้วของโรงเรียน คนที่ใกล้ชิดมากที่สุดก็คือ “เพื่อน” การที่จะทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน ก็น่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนฝูง การถ่ายทอดให้เห็นว่า “มิตรภาพ” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าที่เราควรรักษาไว้ การใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ควรเก็บเกี่ยว และเราจะสัมผัสกับเรื่องพวกนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องมาโรงเรียน

ละครญี่ปุ่นแนวนี้จึงไม่ลืมที่จะเล่าถึงเรื่องของมิตรภาพเป็นสำคัญ ความสนุกสนานระหว่างเพื่อนร่วมชั้น รุ่นพี่ รุ่นน้อง กิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน การร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในละครญี่ปุ่นแนววัยเรียนถึงไม่ค่อยได้เห็นฉากเรียนกันเลย เพราะจริงๆ เราก็รู้แน่ๆ ว่าไปโรงเรียนต้องเรียนหนังสือ แต่สิ่งที่มากกว่าเรียนหนังสือคืออะไร ละครญี่ปุ่นจึงเลือกนำเสนอจุดนี้ให้ได้เห็น ประสบการณ์ในวัยเรียนอีกแบบหนึ่งที่หาไม่ได้ในวัยอื่น เรียนหนักไปบ้าง แต่ชีวิตวัยรุ่นนี่มันสุดยอดจริงๆ เลยนะ!





“ชีวิตวัยรุ่นคือการถูกทำให้อาย ด้วยความด้อยประสบการณ์จึงทำให้เกิดแต่เรื่องน่าอาย
แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้นะ แม้ว่าจะต้องอายก็ไม่เป็นไร จงแสดงออกมา เพราะนั่นคือชีวิตของวัยรุ่น!”


และนี่ก็เป็นละครแนววัยรุ่นของญี่ปุ่นค่ะ เป็นละครอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น ละครวัยรุ่นถือได้ว่าเป็นละครที่ทำให้เด็กวัยรุ่น วัยเรียนมีกำลังใจ และเรียนรู้การใช้ชีวิต เป็นการอบรมสั่งสอนเด็กไปในตัว รวมถึงให้คนที่เลยวัยนี้ไปแล้วมองเห็นความรู้สึกของวัยรุ่น จะได้เลี้ยงดูเขาในแบบที่ถูกต้อง อีกทั้งยังทำให้ผู้ใหญ่หลายคนได้หันกลับมาคิดถึงช่วงเวลาดีดีแบบนี้อีกครั้ง

ที่มา  http://www.marumura.com/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X