"ภาพที่หายไป" เรื่องของ "เขมรแดง" ใครก็ห้ามลืม โดย วจนา วรรลยางกูร
2014-09-05 07:58:45
Advertisement
คลิก!!!

ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่เส้นทางหลากหลายต่างไปตามเจตนารมณ์ของผู้สร้าง 

บ้างก็เพื่อความบันเทิง บ้างก็เพื่อย้ำเตือนให้คำนึงถึงเรื่องบางสิ่ง

ส่วนภาพยนตร์สารคดีที่ตีแผ่ประวัติศาสตร์บาดแผลของมนุษยชาติไม่ใช่เพื่อตอกย้ำผู้ได้รับผลกระทบแต่เพื่อ"ย้ำเตือน" ไม่ให้ "ลืม" วันที่เคยเดินผิดพลาด เรียนรู้...เพื่อจะได้ไม่ก้าวพลาดอีก

กระแสออสการ์ปีล่าสุดได้รับความสนใจ เมื่อมีภาพยนตร์จากอาเซียนที่พูดถึง เขมรแดง เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้รับรางวัลจากออสการ์แต่สามารถคว้ารางวัล Un Certain Regard จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์มาได้

ภาพยนตร์ "The Missing Picture" จากฝีมือการกำกับของฤทธี ปานห์ (Rithy Panh) ชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสและศึกษาด้านภาพยนตร์ที่นั่น เกิดจากผลพวงในยุคเขมรแดงที่นอกจากจะสร้างรอยด่างแก่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้ว ในระดับบุคคล ปานห์ สูญเสียครอบครัวนับสิบคนไปในช่วงเวลานี้

ประสบการณ์อันยากจะลืม ทำให้ปานห์มุ่งทำภาพยนตร์ที่พูดถึงเขมรแดงและความยากลำบากที่กัมพูชาต้องเผชิญหลังจากนั้นออกมาอย่างต่อเนื่องอาทิOneEvening After the War(1998), The Burnt Theatre (2005), S-21: The Khmer Rouge Killing Machine (2003) การพูดซ้ำผ่านภาพยนตร์หลายๆ ครั้งไม่ใช่เพื่อตอกย้ำความเจ็บปวดของตนเองและชาวกัมพูชา แต่เพื่อบอกคนรุ่นหลังว่า "อย่าลืม"

ความโดดเด่นของ The Missing Picture คือการนำเสนอมุมมองส่วนตัวต่อยุคเขมรแดงของปาห์นผ่านตุ๊กตาปั้นดินเหนียว ตัดสลับกับภาพข่าวและฟิล์มภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อในยุคเขมรแดง โดยภาพยนตร์ไม่ได้พยายามฟูมฟายถึงความเจ็บปวด แต่เล่าในภาษากวีและภาพที่เป็นศิลปะ 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระที่มีโอกาสได้ชมผลงานของฤทธี ปาห์นมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจใน The Missing Picture คือ เป็นผลงานของผู้กำกับที่ทำงานต่อเนื่องเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา งานของฤทธี ปานห์มีแนวคิดคล้ายกันว่า เราจะมีความทรงจำเกี่ยวกับความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเขมรแดงได้อย่างไร

"เราอาจคิดว่านี่ไม่ใช่หนังแล้ว แต่เป็นบทกวีซึ่งอยู่ในหนัง ภาษาและภาพที่ใช้ในภาพยนตร์มีความเป็นกวีสูงมาก ทุกคนดูแล้วรู้สึกถึงความเศร้าที่อยู่ในหนังและมีพลัง เพราะสิ่งที่ฤทธี ปานห์พูด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสังคมเขมร แต่มองจากปัจจุบันว่า ในที่สุดสังคมที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้มีลักษณะเหมือนกัน คือ ไม่ใช่ผู้นำคนเดียวที่ทำให้เกิดการฆ่า เวลาเราพูดถึงความรุนแรงในกัมพูชา ความผิดทั้งหมดจะถูกโยนไปที่เขมรแดง, พล พต, นวน เจีย, ซอน ซาน, ตาม๊อก แต่ฤทธี ปานห์พยายามทำให้เห็นว่า คนกัมพูชาด้วยกันจำนวนหนึ่งคิดว่าการฆ่านี้เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างชาติใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น"

"ปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งโลกเป็นแบบนี้เป็นปรากฏการณ์ในทุกสังคมเราก็อยู่ในสังคมแบบนี้เช่นกันคือเชื่อว่ามีเหตุผลบางอย่างที่คนบางกลุ่มในสังคมควรถูกฆ่าเพื่อให้สังคมเจริญเติบโตมากขึ้น อุดมการณ์ของเขมรแดงที่สำคัญมากไม่ใช่การฆ่าคน แต่คือทำให้ชาติเจริญรุ่งเรืองขึ้น"

ส่วนคำถามจากชื่อเรื่องที่หลายคนสงสัยว่าอะไรคือภาพที่หายไป?

ศิโรตม์ตอบว่าภาพที่หายไปคือ1.ความทรงจำเกี่ยวกับคนที่ตายในเขมรตัวเลขผู้ตายมีจำนวน 1.3-2.2 ล้านคน ต่างกันเกือบล้านคน ความน่าเศร้าของความไม่รู้ตัวเลขที่แน่นอนนี้ คือ คนที่ตายทั้งหมดเป็นใคร ตายที่ไหน ตายเพราะอะไร จนถึงตอนนี้ข้อมูลพวกนี้ไม่มีใครรู้และไม่มีทางรู้ 

2.การฆ่าในเขมรเกิดขึ้นในนามองค์กรคือพรรคคอมมิวนิสต์ ไปไกลกว่านั้นคือความเชื่อเรื่องการสละคนจำนวนมากเพื่อสร้างชาติที่รุ่งเรือง คำถามคือสังคมที่วางอยู่บนความตายของคนจำนวนมากจะจดจำการตายของคนจำนวนมากแบบนี้ได้อย่างไร


3.คนเขมรที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าคนเขมรด้วยกันแล้วไม่ได้ถูกลงโทษยังคงใช้ชีวิตปกติเขาควรต้องรับผิดชอบมากแค่ไหนพล พต หรือ นวน เจีย ไม่ใช่เป็นคนเอาปืนไปยิงคนที่ตายหนึ่งล้านคน ความยุ่งยากคือองค์กรมีคนจำนวนมากเป็นสมาชิกพรรค ถ้าอยากสร้างสังคมกัมพูชาที่ดำเนินไปข้างหน้าแล้วดำเนินคดีกับคนเหล่านี้ สังคมกัมพูชาจะอยู่ได้ไหม แต่ถ้าไม่ดำเนินคดีจะให้ความเป็นธรรมกับคนที่เสียชีวิตอย่างไร ปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด

"ฤทธี ปานห์พยายามไม่โยนทุกอย่างไปที่เขมรแดง การที่เขมรแดงประสบความสำเร็จเพราะมีคนจำนวนมากอยากเป็นสมาชิกพรรค เหตุผลคือความยากจนที่ได้รับมาก่อนในยุคที่กัมพูชาปกครองภายใต้ระบบกษัตริย์ หรือยุคที่ปกครองภายใต้ทหารหรืออิทธิพลของสหรัฐอเมริกา เขมรแดงกลายเป็นทางเลือกเดียวในการโค่นล้มการปกครองที่ไม่เป็นธรรมจากระบอบกษัตริย์ ระบอบทหาร และอำนาจจักรวรรดินิยม เรื่องทั้งหมดจึงไม่ใช่เพียงการนำ พล พต เขียว สัมพัน หรือนวน เจีย มาดำเนินคดี

"เวลาดูหนังที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือความรุนแรง คนดูจะมีปฏิกิริยา 2 แบบ 1.ทำไมจึงเกิดเรื่องโหดร้ายแบบนี้ขึ้นได้ คนจะคิดว่าเกิดจากความผิดพลาดของสังคม 2.อย่าคิดว่าปัญหาที่เห็นเป็นแค่ปัญหาของสังคมเหล่านั้น ต้องดูเรื่องสภาวะทางความคิดที่ทำให้คนในสังคมยุคหนึ่งคิดว่า การฆ่าคนเป็นเรื่องรับได้ อย่าลืมว่าเขมรแดงเกิดในยุคที่ไทยสนับสนุนการฆ่าของเขมรแดงด้วย ไทยในยุคหนึ่งใช้เขมรแดงเป็นกองกำลังเพื่อปกป้องไม่ให้เวียดนามมาบุก ผู้นำของเขมรแดงที่ชื่อนายพลตาม็อกก็ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่ในเมืองไทยหลังจากเขมรแดงแตก เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน แต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง"
 อ.ศิโรตม์เล่า

หลายคนอาจตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ และมุ่งเป้าไปที่แนวคิดทางการเมือง

อ.ศิโรตม์บอกว่า เวลาดูหนังอย่างเรื่องนี้ไม่ได้เห็นว่าสังคมนิยมเป็นบ่อเกิดปัญหา แต่เห็นสังคมที่อยู่ภายใต้ลัทธิทหาร ถ้าพล พต เชื่อเรื่องสังคมนิยมแต่ไม่มีกองทัพเขมรแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนซึ่งส่งอาวุธผ่านประเทศไทยเข้าสู่กัมพูชาเขมรแดงจะสามารถฆ่าคนได้มากขนาดนี้หรือเปล่า

"สิ่งหนึ่งที่ฤทธีปานห์พยายามย้ำก็คือ สังคมเขมรแดงทำให้ความเป็นปัจเจกชนถูกทำให้หายไป จนถึงจุดที่แม้กระทั่งการคิดก็ผิด ในสังคมซึ่งเป็นเผด็จการทั้งหมดจะมีปรากฏการณ์แบบนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า นักโทษทางความคิด ปรากฏการณ์ที่ลงโทษคนเพราะมีความคิดบางอย่างแล้วผิด สังคมเผด็จการทำให้ความเป็นปัจเจกชนของเราไม่มีความหมาย ตัวตนของเรามีความหมายเมื่อยึดโยงกับจุดหมายที่รัฐต้องการ สังคมเผด็จการทั้งหมดทำงานในตรรกะแบบนี้"

ถามต่อถึงสิ่งที่ผู้นำต้องศึกษาจากภาพยนตร์เรื่องนี้

นักวิชาการหนุ่มตอบว่าอย่าหลงคิดว่าจุดหมายของสังคมจะต้องเป็นแบบเดียวกับที่ผู้นำคิดว่าดีแล้วทุกคนในสังคมจะเป็นแค่ฟันเฟืองหรือกลไกซึ่งจะนำไปสู่จุดหมายแบบที่ผู้นำต้องการต้องคิดไว้ตลอดเวลาว่าผู้นำคิดผิดได้ แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้นำคิดผิด แต่พยายามจะบอกให้คนในสังคมทั้งหมดเป็นแค่จักรกลที่ทำตามอย่างที่ผู้นำต้องการ โอกาสที่จะทำให้สังคมทั้งสังคมหายนะจะตามมา 

"นี่เป็นบทเรียนจากทุกสังคม ผู้นำนาซีในเยอรมัน มุสโสลินีในอิตาลี จักรพรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 พลพตในกรณีเขมรแดง ทั้งหมดเป็นผู้นำที่มีความหวังดีกับสังคมตัวเองทั้งนั้น และเชื่อว่าการเดินไปสู่จุดหมายที่ต้องการด้วยเครื่องมืออะไรก็ได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ประชาชนต้องเสียสละ ซึ่งประวัติศาสตร์บอกว่ามันผิด...ล้มเหลว"

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องท่องจำ แต่เป็นบทเรียนที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่เดินทางผิดซ้ำหลายครั้งหลายครา

(มติชนรายวัน 3 กันยายน 2557)

ที่มา  http://www.khaosod.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X