ระวัง...หูหนูติดเชื้อ
2012-07-07 13:13:25
Advertisement
คลิก!!!

แม่และเด็ก

ระวัง...หูหนูติดเชื้อ (modernmom)
เรื่อง : พญ.ศิริเพ็ญ มุขบัณฑิตพงษ์

สุขภาพของเจ้าตัวเล็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ เป็นกังวลไม่น้อยค่ะ โดยเฉพาะความเจ็บป่วย ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่ยากจะมองเห็นได้อย่างหู ซึ่งเชื่อมต่อกับอวัยวะสำคัญภายใน ดังนั้นคุณหมออยากชวนพ่อแม่ทุกท่านมาเรียนรู้โรคหู ที่สามารถเกิดกับลูกได้ พร้อมการสังเกตและการรับมือค่ะ

หูชั้นนอกอักเสบ

เป็นการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือเชื้อไวรัส มักจะเกิดกับเด็กวัย 5-10 ปีขึ้นไป (โดยเฉพาะเด็กวัยที่ว่ายน้ำได้)

สาเหตุ น้ำเข้าหู แคะหู หรือมีขี้หูค้างอยู่ในรูหูมาก เมื่อมีน้ำเข้าหูก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้

อาการ ปวดหู เด็กจะเอามือป้องหูไว้ไม่ยอมให้จับ แน่นในหู คันหู หูอื้อ มีไข้อาจมีน้ำหนองหรือน้ำเหลืองไหล หากตรวจหูจะพบช่องหูบวมแดงหรือเป็นฝี มีหนองเยื่อแก้วหูอาจปกติหรือบวมแดงก็ได้ ถ้าการอักเสบจากเชื้อราก็จะเห็นเป็นสปอร์สีต่าง ๆ เช่น สีขาว สีดำ สีเหลืองอยู่ในรูหู การอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ยังไม่เคยพบว่ามีการลุกลามเข้าสู่สมอง แต่หูอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น งูสวัดสามารถลุกลามเข้าสู่หูชั้นในและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ได้ ทำให้มีอาการหน้าเบี้ยวสูญเสียการได้ยิน เวียนศีรษะได้

การรักษา

คือการทำความสะอาดช่องหูด้วยการดูดหรือล้างร่วมกับใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อราหยอดหู ในรายที่มีไข้ มีอาการอักเสบมากหรือเป็นฝีควรฉีดยาปฏิชีวนะ

หูชั้นกลางอักเสบ

เป็นการอักเสบของช่องหูชั้นกลาง (โพรงอากาศเล็ก ๆ ระหว่างเยื่อแก้วหูและช่องหูชั้นใน) และท่อยูสเตเชี่ยน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับจมูก ทำหน้าที่ในการปรับความดันหู) พบได้ในเด็กอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 11 ปี และพบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 11 เดือน

สาเหตุ

1. เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด คออักเสบ ต่อมทอนชิลอักเสบ ต่อมอดีนอยด์อักเสบ ไซนัสอักเสบ โดยเชื้อโรคจะผ่านจากคอหรือจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลาง ผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน โดยท่อนี้จะเปิดเฉาะเวลาหาว กลืน ไอ จามหรือสั่งน้ำมูก อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักจะไม่ค่อยมีอาการปวดสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียมักจะทำให้มีไข้ ปวดหูมาก และจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ

2. ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ อาจเกิดการบวมหรืออุดตัน

3. ภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยน

ปัจจัยเสี่ยง

1. อายุ เนื่องจากในเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ท่อยูสเตเชี่ยนจะมีขนาดเล็ก สั้น และวางตัวในแนวราบกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากจมูกและคอได้ง่าย

2. เพศ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

3. กรรมพันธุ์ หากมีพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นหูอักเสบบ่อย ๆ พบว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อนมากขึ้น

4. บุหรี่ หากมีคนในบ้านสูบบุหรี่ จะทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และติดเชื้อในหูชั้นกลางด้วย

5.การดูดขวดนม โดยเฉพาะการนอนดูดนม จะทำให้เกิดการอุดตัน สำลักนมเข้าท่อยูสเตเชี่ยน ดังนั้นหากจำเป็นต้องให้นมด้วยขวด ควรให้ในท่าที่ศีรษะเด็กสูงกว่ากระเพาะ

6.เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ เช่น เด็กที่ขาดนมแม่เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี

7.เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก พบการเกิดหูชั้นกลางอักเสบมากขึ้น

8.เด็กที่มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ดาวน์ซินโดรม

อาการที่สังเกตได้

ปวดหูมาก(อาการปวดจะลดลงเมื่อแก้วหูทะลุ มีหนองไหล) ผู้ป่วยจะปวดลึก ๆ และปวดมากจนร้องหรือดิ้น

มีไข้สูง ถ้าเป็นเด็กอาจชักได้ ร้องกวน งอแง โดยเฉพาะตอนกลางคืน

มีน้ำหนองไหลจากหู

มีปัญหาเรื่องการได้ยิน หูอื้อ หรือได้ยินเสียง “ป๊อป” ในหูเวลาเคี้ยว กลืนหรือหาว

หากปล่อยทิ้งไว้หลายวันจะทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

1.มีอาการปวดหู หูอื้อ และเป็นไข้หรือสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

2.มีอาการปวดหู หูอื้อ โดยไม่มีไข้และไม่สงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

การรักษา

การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ คือ การให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน(Amoxycillin) โคไตรม็อกซาโซล(Co-trimoxazole) อีริโทรไมซิน(Erythromycin) เป็นต้น ซึ่งมักจะให้ติดต่อกันนานอย่างน้อย 10-14 วัน ร่วมกับยาแก้ปวด ลดบวมและรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของหูอักเสบร่วมไปด้วย เช่น จมูกหรือไซนัสอักเสบ หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดเจาะแก้วหู เพื่อดูดน้ำออกและใส่ท่อปรับความดันไว้ในแก้วหู

การป้องกัน

1.ควบคุมภาวะภูมิแพ้ โดยการกำจัดสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ ดอกไม้ เป็นต้น

2.ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน นักวิจัยพบว่า เด็กที่ดื่มนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก จะมีภาวการณ์ติดเชื้อของหูชั้นกลาง ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อได้

3.เวลาเด็กดื่มนมและรับประทานอาหาร พยายามให้ลูกอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงกว่าลำตัว อย่าให้เด็กหลับไปพร้อมกับขวดนมที่คาอยู่ในช่องปาก

4.งดสูบบุหรี่ภายในบ้านหรือสถานที่เลี้ยงเด็ก

5.เปลี่ยนสถานบริการรับเลี้ยงเด็กจากขนาดใหญ่(หลายคน)มาเป็นขนาดเล็ก

6.การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส(Pneumococcalvaccine) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหูชั้นกลางอักเสบและปอดอักเสบ พบรายงานการลดลงของการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ประมาณ 32%

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนได้

1.แบบไม่รุนแรง ได้แก่ เยื่อแก้วหูทะลุ ภาวะการได้ยินบกพร่องมีน้ำหนองไหลจากหูแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หูหนวก หูตึง เกิดภาวะผิดปกติของกระดูกหู และเนื้องอกที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง

2.แบบไม่รุนแรง คือภาวะที่มีการลุกลามของเชื้อโรคเข้าสู่โพรงกระดูกมาสตอยด์ หูชั้นใน และสมอง ได้แก่ โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ(Mastoiditis ซึ่งจะมีไข้สูงร่วม หลังหูบวมและกดแล้วเจ็บ ปวดบริเวณกระดูกมาสตอยด์) หน้าเบี้ยว หูชั้นในอักเสบ (ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู และเห็นบ้านหมุน) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีหนองในเยื่อหุ้มสมอง หรือในเนื้อสมอง เลือดแข็งตัวในเส้นเลือดในสมอง และสมองบวม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ซึมกระสับกระส่าย อาเจียนรุนแรง หรือคอแข็ง

หูชั้นในอักเสบ

หูชั้นในทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว หูชั้นในอักเสบพบได้น้อย มักพบในเด็กเล็กวัย 0-3 ปี หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันไม่ค่อยแข็งแรง

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งแพร่กระจายมาจากจมูกและลำคอ ผ่านท่อยูสเตเชี่ยนเข้าสู่หูชั้นใน มักเกิดตามหลังการติดเชื้อไข้หวัด คางทูม เป็นต้น บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบ

อาการ ที่พบบ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึม เดินเซ หูอื้อ แขนขาอ่อนแรง ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ โรคหูติดเชื้อไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากคุณพ่อคุณแม่ทราบวิธีการสังเกต เมื่อพบความผิดปกติ ก็สามารถพาลูกไปพบคุณหมอได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X