Review: The Artist
2012-06-02 00:06:39
Advertisement
คลิก!!!

เก่าไปใหม่มา

ในยุค 2000 นี้ ที่เทคโนโลยีของโลกภาพยนตร์ได้ก้าวล้ำ และหนังสามมิติค่อยๆ เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้คอหนังได้เสพ เป็นช่วงที่นักทำหนังยังใหม่อยู่ต่อการใช้สามมิติเป็นสื่อในการสร้างภาพยนตร์ จึงมีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ใช้เทคนิคสามมิติได้เต็มศักยภาพของมัน (ในจำนวนนั้นก็คือ Avatar ของเจมส์ คาเมรอน กับ Hugoของมาร์ติน สกอร์เซเซี) และนักแสดงหนังเองก็ยังรู้ไม่แน่ชัดว่าหนังสามมิติจะเป็นอนาคตใหม่ของการชมภาพยนตร์หรือไม่ ท่ามกลางความตื่นเต้นเกี่ยวกับหนังสามมิตินี้ก็มีหนังใหม่เรื่องหนึ่งที่แหวกกระแสออกมาด้วยการสร้างเป็นหนังเงียบ มีความน่าสนใจและสนุกจนได้รับการชื่นชมจากทั้งนักวิจารณ์กับคนดู เป็นหนังที่พาเราย้อนไปสู่ยุคช่วงเปลี่ยนต่อจากหนังเงียบสู่ยุคหนังพูด ยุคที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวามากมาย แต่ใช้การทุ่มเทและความพยายามอย่างมากเพื่อสื่อให้คนดูเข้าใจโดยไม่มีเสียงพูด ยุคที่เป็นเริ่มแรกของภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ภาพยนตร์เรื่องที่ว่านี้ก็คือหนังตัวเก็งออสการ์ เรื่อง The Artist

เสน่ห์ของ The Artist ที่โดนใจผู้ชมมากมาย น่าจะมาจากการที่ผู้กำกับมิเชล ฮาซานาวิเซียส สร้างหนังเรื่องนี้เพื่อชวนให้เราหวนนึกถึงยุคของหนังเงียบ ด้วยเทคนิคเดียวกับหนังเงียบแทบทุกอย่าง ให้เราได้สัมผัสรสชาติแท้จริงของหนังเงียบ และฮาซานาวิเซียสก็ทำหนังเรื่องนี้ได้ถึงด้วย ทำให้เรารู้สึกเหมือนหนังของยุคนั้นได้ข้ามกาลเวลามาให้เราดูกันจริงๆ ตั้งแต่การถ่ายทำด้วยสัดส่วนจอภาพ 1:33:1 การตัดต่อที่ใช้เพียงคัทต่อคัท ไม่มีการซูมภาพ ไม่มีเทคนิคหวือหวาใดๆ การที่ใช้แผ่นบอกคำพูดของตัวละครเพื่อให้คนดูได้รู้ว่าตัวละครพูดอะไร ลงลึกไปถึงการแสดงที่ดูใหญ่ มีภาษากายชัดเจนของนักแสดงเพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจมากขึ้น ทุกอย่างที่หนังในยุคหนังเงียบมี หนังเรื่องนี้เลียนแบบมาเกือบหมด แต่ที่เหนือไปกว่านั้นอีกก็คือผู้กำกับได้เพิ่มความเก๋ไก๋เข้าไปในหนังตรงที่ได้เอาเทคนิคเหล่านั้นของหนังเงียบมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินเรื่อง เอามาพลิกแพลงเป็นมุขในการนำเสนอ และล้อเลียนตัวเองได้อย่างน่ารัก นอกจากนี้หนังยังมีเรื่องราวที่สนุก น่าติดตาม มีตัวละครที่มีเสน่ห์ให้คนดูหลงรัก กลายเป็นหนังที่โดนใจทั้งผู้อยากเสพศิลปะ และถูกใจผู้ที่อยากได้ความบันเทิง

The Artist เปิดฉากด้วยการแนะนำเราให้รู้จักหน้าตาของหนังเงียบสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้สัมผัส ในลักษณะของหนังซ้อนหนัง แล้วต่อมาด้วยวิธีการฉายและจัดแสดง ผู้คนยุคนั้นดื่มด่ำกับมันยังไง ก่อนที่จะพาเราหายเข้าไปสู่เรื่องราวของตัวละครที่มีจอร์จ วาเลนติน (ญอง ดูจาร์แด็ง) พระเอกดาวจรัสฟ้าของยุคนั้นเป็นตัวเอก ผู้ที่มีทั้งความหล่อ สำอาง ขี้เล่นเหมือนเด็ก กรุ้มกริ่ม ที่ทำให้คุณอดนึกถึงพระเอกอมตะของอดีตไม่ได้ จอร์จมีภรรยาชื่อดอริส (เพเนโลปี แอน มิลเลอร์) ที่เจ้ายศเจ้าอย่างเหมือนนางอิจฉาในละครไทย และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ดูจะไปกันได้ไม่ดี ดูได้จากการที่จอร์จให้ความสนใจและเอ็นดูหมาน้อยแสนรู้ที่ชื่อแจ็คมากกว่าภรรยาด้วยซ้ำไป แล้วอุบัติเหตุเล็กๆ หลังจากการฉายหนังรอบปฐมทัศน์วันนั้นก็ทำให้จอร์จได้พบกับเพพพี มิลเลอร์ (เบเรนีซ บีโย) ตัวประกอบต๊อกต๋อยที่แอบปลื้มเขา จอร์จเหมือนจะเอ็นดูความเดียงสาและเป็นตัวของตัวเองของเพพพีตั้งแต่แรกเห็น แล้วช่วยให้เพพพีกลายเป็นที่สนใจให้นักข่าวอยากรู้ว่า “เธอเป็นใคร” ตั้งแต่วันนั้น

จอร์จได้พบกับเพพพีอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นที่เธอมาสมัครเป็นตัวประกอบในหนังของเขา เพพพีได้รับการคัดเลือกให้แสดงเป็นนักเต้นในหนังเรื่องใหม่ของจอร์จด้วยความสามารถด้านการเต้นรำของเธอเองบวกกับการช่วยเหลือจากจอร์จ จากนั้น ด้วยคำแนะนำที่มีประโยชน์จากจอร์จก็ทำให้เธอได้ไต่เต้าขึ้นมาจากนักแสดงประกอบจนกลายเป็นดาวดวงใหม่และกลายเป็นดาราดังในอีกไม่กี่ปีต่อมา กลายเป็น “อนาคต” ของวงการภาพยนตร์ขณะนั้นพร้อมกับการเข้ามาของหนังพูดที่เธอเองก็สามารถกลืนเข้ากับมันได้ดี ฮาซานาวิเซียสให้เพพพีเป็นตัวละครที่คล้ายกับเป็นตัวแทนของนักแสดงหนังเงียบที่เปลี่ยนตัวเองไปเล่นหนังพูดได้อย่างประสบความสำเร็จ เหมือนกับดาราอมตะอย่างเกรตา การ์โบ ซึ่งบทหนังได้แฝงให้เห็นด้วยการใส่บทพูดอันโด่งดังของการ์โบ ในหนัง Grand Hotel (1932) ที่ว่า “I want to be alone.” (ฉันอยากอยู่ตามลำพัง) ให้เพพพีได้พูดบทพูดเดียวกันนี้

ขณะที่เพพพีกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จอร์จกลับอยู่ในช่วงขาลง เพราะเขายังยึดติดอยู่กับหนังเงียบแบบเก่า และความที่เชื่ออย่างหัวชนฝาว่าหนังพูดไม่มีทางมาแทนที่หนังเงียบได้ หนังได้แอบบอกผ่านสัญลักษณ์ทางภาพต่อช่วงเวลานี้ด้วยการให้จอร์จกับเพพพีมาพบกันที่กลางขั้นบันไดขึ้นลงของบริษัทหนัง โดยที่จอร์จกำลังเดินลงไป ส่วนเพพพีนั้นก็กำลังเดินขึ้นไปพบผู้อำนวยการสร้าง

จอร์จนั้นมีทิฐิและยึดติดแบบเดียวกับที่ครั้งหนึ่งชาร์ลี แชปลิน นักแสดงผู้โด่งดังแห่งยุคหนังเงียบเป็น ผู้ที่ยังคงยืนกรานสร้างหนังเงียบต่อไปตลอดในช่วงยุค 1930 ที่หนังพูดเข้ามายึดครองตลาดเกือบทั้งหมดแล้ว และก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันนั่นก็คือการไม่ได้รับความนิยมจากคนดู ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจของผู้กำกับฮาซานาวิเซียสที่อยากสะท้อนความคล้ายคลึงกันนี้ด้วยการเลือกเพเนโลปี แอน มิลเลอร์ ที่แสดงเป็นเอ็ดนา เพอร์เวียนซ์ ดาราเจ้าประจำในหนังประวัติของชาร์ลี แชปลิน ปี 1992 เรื่อง Chaplinให้มารับบทเป็นภรรยาของจอร์จให้เรื่องนี้

เมื่อจอร์จตกต่ำถึงขีดสุด ไม่มีงานแสดง ไม่มีรายได้ ถูกภรรยาทิ้ง ถูกยึดบ้าน เพพพีนั้นก็หาทางช่วยจอร์จอยู่อย่างลับๆ เพราะรู้ดีว่าจอร์จที่มีนิสัยหยิ่งทะนงนั้นไม่ยอมรับการช่วยเหลือจากเธออย่างตรงๆ แน่ และเธอเองก็รู้สึกผิดที่เคยพูดดูถูกว่าหนังเงียบนั้นล้าหลังไปแล้ว ซึ่งผู้ชมคงต้องมาลุ้นกันว่าจะลงเอยอย่างไร แต่จากลักษณะที่หนังออกไปในทางสุขนาฏกรรมปนน้ำเน่านิดๆ คงเดาได้ไม่ยากว่าน่าจะจบออกมาในรูปไหน

อย่างไรก็ดี การที่หนังใช้เทคนิคของหนังเงียบเกือบทั้งหมดก็กลายเป็นข้อเสียให้แก่หนังเองได้เช่นกัน แม้ว่าเราจะชื่นชมในความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ในเทคนิคการนำเสนอของหนังเรื่องนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับคนดูหนังยุคใหม่ การที่จะอินกับเทคนิคยุคเก่านั้นก็เป็นเรื่องยากอยู่พอสมควร การที่ทั้งดูจาร์แด็งกับบีโยแสดงได้ดูชัดเจนและเหมือนตัวการ์ตูนในบางครั้งเพื่อคงรายละเอียดด้านการแสดงของนักแสดงยุคหนังเงียบเอาไว้ก็อาจมีบ้างที่ทำให้ผู้ชมยุคใหม่ที่นิยมการแสดงอันเป็นธรรมชาติกว่าไม่รู้สึกซาบซึ้งไปกับบทบาทเท่าไรนัก และการที่เนื้อเรื่องมีความเป็นเมโลดราม่าสูง ตัวละครดูจะตกหลุมรักกันง่ายเกินไปก็ทำให้ผู้ชมยุคใหม่ที่นิยมความสมจริงเข้าถึงเรื่องราวได้ยากเช่นกัน ความตั้งใจที่หนังเรื่องนี้ต้องการให้เห็นเสน่ห์ของหนังเงียบ ก็อาจกลายเป็นการข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความเชยและล้าสมัยของมันเข้าไปอีกเมื่อแม้แต่ตัวละครเอกก็ยังใจอ่อนไปตามกระแสของหนังยุคใหม่ ยิ่งเมื่อสุดท้ายที่ลูกเล่นของหนังทำให้เห็นถึงพลังของเสียงพูดแล้วก็เท่ากับเป็นการย้ำว่า หมดยุคของหนังเงียบแล้วจริงๆ ซึ่งนั่นแปลว่าแม้หนังเรื่องนี้จะได้รับรางวัลออสการ์ และทำเงินตามมา ก็ไม่อาจทำให้นักสร้างหนังคนอื่นลุกขึ้นมาสร้างหนังเงียบตาม หรือปลุกให้กระแสหนังเงียบกลับมาอีกครั้งได้The Artist จึงทำได้เพียงมาเตือนว่าครั้งหนึ่ง รูปแบบความบันเทิงเช่นนี้เคยเฟื่องฟูและเป็นที่นิยมเมื่อราวร้อยปีก่อน และกลายเป็นบทหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกภาพยนตร์

jediyuth.wordpress.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X