เปิดโรค “คลั่งเกาหลี” ทุ่มซื้อของแพง แรง! นั่ง First Class ประกบศิลปิน
2013-03-14 21:57:55
Advertisement
คลิก!!!

“เกาหลีฟีเวอร์” พูดกันจนชินปาก มีนักวิชาการหลายคนออกมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าคนที่คลั่งไคล้ศิลปินแดนกิมจิเหล่านั้น เขาฟีเวอร์กันขนาดไหน ล่าสุด มหกรรมคอนเสิร์ต "Fanta Present MBC Korean Music Wave In Bangkok 2013" ที่กำลังจะมีขึ้น ก็เหมากองทัพ K-Pop มาสนอง need แฟนคลับชาวไทย จัดกันที่สนามราชมังคลาฯ ซึ่งจุคนได้ร่วมแสน นี่ถ้าคนไทยไม่ชื่นชอบเกาหลีกันเยอะจริงๆ เขาคงไม่หอบศิลปินมายกแผง-เกือบเกลี้ยงค่ายกันขนาดนี้ 
        
       ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ความคลั่งไคล้ในตัวศิลปินต่างแดนที่เห็นๆ อยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงบนโลกออนไลน์ ตามไปให้กำลังใจหน้าเวที หรือลงทุนไปรับ-ส่งกันที่สนามบินอีกต่อไปแล้ว แต่เอ็กซ์คลูซีฟกันถึงขั้นแสดงความรักความห่วงใยต่อศิลปิน ด้วยการจองตั๋วเครื่องบิน บินกลับไปส่งถึงประเทศเกาหลีด้วยเที่ยวบินเดียวกัน!! รวมถึงกิจกรรมทุ่มทุนสร้างอีกมากมายซึ่งคนที่ไม่ใช่สาวก หรือไม่ได้คลุกวงในเป็นแฟนคลับ ไม่มีวันรู้... แต่กำลังจะถูกเปิดเผยที่นี่ ทุกอณูความคลั่ง!!
       
 
       
       คำสารภาพของสาวก
       “เดี๋ยวงานวันเสาร์นี้ก็ไปดูค่ะ ไปดูวง Exo K เสร็จแล้วก็บินไปเกาหลีเลย วางแผนไปเที่ยวที่นู่นแล้วก็ไปดูคอนเสิร์ตด้วย จองตั๋วบินไปพร้อมน้องๆ วง Exo เลยค่ะ ไฟลต์ด้วยกัน (หัวเราะแก้เขิน) ไปถึงที่นั่น ก็ไปดูคอนเสิร์ต Super Show ของ Super Junior พอดี แล้วก็ว่าจะไปดูละครเวทีของ Lee Teuk ที่ค่ายด้วยค่ะ (หนึ่งในสมาชิกวง Super Junior ที่กำลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารอยู่) กลับมาไทยอีกทีตอนปลายๆ เดือน ก็มีคอนเสิร์ต Super Joint พอดีค่ะ” 
        
       
       จุ๊บ (นามสมมติ) หญิงสาววัย 22 ปี สาวกเกาหลี แฟนพันธุ์แท้ Super Junior (SJ) และ Exo บอกเล่าแผนพักผ่อนคร่าวๆ ของเธอให้ฟังอย่างคล่องแคล่ว คล้ายกับว่าเธอสามารถจดจำทุกรายละเอียดเกี่ยวกับศิลปินที่ชื่นชอบได้ขึ้นใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเธออยู่กับกิจวัตรแบบนี้มาเกือบ 5 ปีแล้ว
         
       
       นอกเหนือจากเวลาว่าง ฟังเพลง เสิร์ชหารายการที่มีศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบดูอยู่บนยูทูปแล้ว จุ๊บยังหยิบเอาความรักที่มีต่อศิลปินมาเป็นแรงบันดาลใจ หยิบเอามาเขียนนิยาย หรือที่เธอเรียกสั้นๆ ว่า “Fic (ย่อมาจาก Fiction)” นั่นเอง และ Fic ของเธอก็ไม่ใช่รูปแบบธรรมดาๆ แต่เป็น “FicY” 
       หยิบเอาคู่ศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบในวง Super Junior (SJ) อย่าง “ฮันเกง (Hangene)” กับ “ฮีชอล (Heechul)” มาจิ้น (จินตนาการ) วาดฝันว่านักร้องหนุ่มทั้งสองมีใจให้แก่กันอย่างที่เธออยากให้เป็น เขียนเรื่องราวที่แต่งขึ้นบอกเล่าออกไปผ่านพื้นที่เล็กๆ บนเว็บไซต์เด็กดี (Dek-d.com) ซึ่งผู้อ่านจะรู้จักคู่จิ้นนี้ในนาม “ฮัน-ชอล” 
         
       
       จุ๊บเริ่มเขียนจากความชอบส่วนตัว ไม่ได้หวังผลกำไร กระทั่งบรรดาแฟนคลับผู้ที่มีรสนิยมเหมือนกันเข้ามาตามอ่านตามจิ้นร่วมกัน และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เธอมีโอกาสได้หยิบนิยายเหล่านั้นไปติดต่อโรงพิมพ์ ผลิตออกมาเป็นเล่มขาวดำง่ายๆ และขายให้แก่สาวกชาว K-Pop ที่นิยมจิ้นเหมือนๆ กัน เล่มละ 100-200 บาท ว่ากันไปตามเนื้องาน กลายเป็นงานอดิเรกที่สร้างเงินตอบแทนได้เล็กๆ น้อยๆ แต่เธอก็มีความสุขกับมัน 
         
       
       “ชอบคู่นี้มากค่ะ เวลาฮันเกงกับฮีชอลอยู่ด้วยกันแล้วรู้สึกว่าเขาน่ารักดี คือหนูไม่ได้จะให้เขาเป็นแฟนกันในชีวิตจริงนะคะ ก็รู้อยู่ว่าเป็นผู้ชายทั้งคู่ แต่ก็แค่อยากจิ้นน่ะค่ะ (หัวเราะ) ตอนที่เขียนบรรยายบุคลิกตัวละครก็อาจจะไม่ได้ตรงกับตัวจริงทุกครั้งทุกเรื่องที่เขียน แต่ยังไงก็ต้องใช้ชื่อสองคนนี้ค่ะ เขียนแล้วนึกว่าเป็นสองคนนี้ก็จะรู้สึกเขิน (ยิ้ม) มีความสุขที่ได้จิ้น จริงๆ แล้ว ถ้านิยายของแจ่มใสมาเปลี่ยนชื่อตัวละครให้เป็นชื่อสองคนนี้ หนูก็อ่านแล้วค่ะ แค่นั้นหนูก็จิ้นได้แล้ว (หัวเราะ)”
         
       ช่วงหลังๆ จุ๊บเริ่มลงทุนกับธุรกิจอีกตัว นำเข้าสินค้าเกี่ยวกับศิลปินเกาหลี ทั้งอัลบั้ม ผ้าเชียร์ ป้ายไฟ ฯลฯ เปิดร้านขายเป็นจริงเป็นจัง เรียกได้ว่าลมหายใจเข้า-ออกของจุ๊บและทุกกิจกรรมที่ทำ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับเกาหลีแทบทั้งสิ้น 
       
       
 
       เยอะกว่านี้มีอีกไหม?
       อ่านเรื่องราวชีวิตของจุ๊บแล้ว หลายคนอาจมองว่าเธอ “เยอะ” เกินไป อาการคลั่งหนักขั้นโคม่าแล้ว แต่เจ้าตัวยังคงยืนยันว่ามีอีกหลายคนที่หนักเกินกว่า เยอะยิ่งกว่าเธออีกมากมาย โดยเฉพาะแฟนคลับอายุคราวแม่ อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีรายหนึ่ง เธอจะลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบินเฟิสต์คลาส ไฟลต์เดียวกับศิลปิน และบินไปส่งให้ถึงแดนโสมทุกครั้ง 
       “ประมาณว่าถ้าไม่ส่งถึงเกาหลี นางก็จะยังไม่วางใจค่ะ เห็นคุณน้าเขาก็ไม่ได้ไปทำธุระอะไรนะ แค่ไปส่งแล้วก็บินกลับเลย แต่หนูว่าเขาคงไม่ลำบากอะไรค่ะ เพราะดูท่าทางมีสตางค์ ไม่เดือดร้อน” ถามว่าเหล่าแฟนๆ ไปล่วงรู้เที่ยวบินของศิลปินเกาหลีเหล่านี้ได้อย่างไร จุ๊บตอบว่าส่วนใหญ่มีเพื่อนของเพื่อนทำงานที่สนามบินและจะส่งข่าวบอกต่อกันทาง Twitter อีกที
        
       
       ลองสังเกตดู สาวก K-Pop ที่สามารถตามติดชีวิตศิลปินได้ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นลูกผู้ดีมีอันจะกินกันทั้งนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมที่จะสนับสนุนความสุขของลูก หรือไม่ก็เป็นคนที่ทำงานแล้ว หาเงินเองได้ จึงขอเลือกความสุขให้แก่ตัวเองหลังเวลางานเพื่อคลายเครียด ส่วนบางคนที่ไม่มีเงินก้อนคอยสนับสนุนทั้งจากครอบครัวและน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง กลุ่มคนเหล่านี้จะใช้วิธี “แชร์” กันในทุกกรณีเพื่อให้สามารถใกล้ชิดกับศิลปินที่ชื่นชอบให้ได้มากที่สุด
        
       
       “คนที่ชอบมากๆ เขามีความอดทนมากนะคะ อย่างเพื่อนหนูหลายคนมีไปนอนรอเข้าคอนเสิร์ตหน้างานเลยค่ะ ขนาดซื้อบัตรแล้วนะ กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ชิดเวที ตอนซื้อบัตรคอนเสิร์ตก็ต้องต่อคิวยาวมาก กลุ่มไหนที่จริงจังมากๆ เขาก็จะเหมารถตู้กันไปเลยค่ะ แล้วก็ขับรถตามรถตู้ศิลปินไปตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ไปรับเขาที่สนามบิน พอเขาแวะไปกินข้าวที่ไหนก็ไปด้วย แวะไปอัดรายการที่ไหนก็ตามไปเชียร์ไม่ให้คลาดสายตา เขามาอยู่ไทย 3 วัน ก็เหมารถตามทั้ง 3 วัน แล้วก็หารค่ารถกันเอา ทุ่มทุนกันมากๆ” อ้น อดีตเกาหลีฟีเวอร์วัย 20 ต้นๆ บอกเล่าถึงพฤติกรรมของเพื่อนๆ ที่เธอเคยเห็นและได้รับรู้มา
        
       
       พฤติกรรมการ “แชร์” ไม่ได้สิ้นสุดลงในกิจกรรมเช่ารถตู้ตามติดชีวิตซูป'ตาร์เท่านั้น แต่ยังลามไปถึงในโซเชียลมีเดียด้วย กลุ่มคนเหล่านี้จะรวมตัวกันที่บ้านใหญ่ที่เรียกกันว่า “FanBaze” ความหมายเหมือน “แฟนคลับ” แต่แค่ชื่อเรียกต่างกัน ที่บ้านหลังนี้ คนที่คลั่งไคล้ในตัวศิลปินเกาหลีเหมือนๆ กันจะมารวมตัวกัน โดยจะมีห้องแยกออกเป็นบ้านเล็กบ้านน้อย ตามรายชื่อสมาชิกภายในวง เมื่อมีวันสำคัญเกี่ยวกับศิลปินอย่าง วันเกิด, วันครบรอบการตั้งวง หรือวันแถลงข่าว กลุ่มคนเหล่านี้จะช่วยกันคิด “โปรเจกต์” ขึ้นมา ระดมหัวคิดว่าจะให้อะไรเป็นของขวัญแก่ศิลปินดี และถ้างบประมาณดูท่าว่าจะบานปลาย ก็มักจะใช้วิธีแชร์กัน
        
       
       “ที่ผ่านมาก็มีซื้อ I-Pad ให้ค่ะ Mac Book, I-Phone มีหลายอย่างค่ะ บางคนก็ซื้อกระเป๋าหลุยส์ให้ ซื้อด้วยเงินตัวเองคนเดียวเลย ส่วนที่หารเงินกัน พวกเราก็ไม่รู้หรอกค่ะว่าเขามีของพวกนี้แล้วหรือยัง หรือว่าเขาจะชอบไหม แค่คิดว่าสิ่งที่เราให้ไปมันน่าจะเป็นประโยชน์กับเขา เขาน่าจะใช้ได้ค่ะ ก็จะใช้วิธีช่วยกันระดมทุน ตั้งเป็นโปรเจกต์ support ศิลปินค่ะ 
       ใครอยากลงขันเท่าไหร่ก็เท่านั้น เท่าที่มีค่ะ โอนเข้าบัญชีที่เขียนเอาไว้ ถามว่ากลัวถูกหลอกมั้ย โอนเงินไปให้ใครก็ไม่รู้ ก็กลัวนิดหน่อยค่ะ แต่เราก็อยู่กันด้วยความไว้ใจ และเท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครมาหลอกเอาเงินจากการอ้างว่าจะซื้อของให้ศิลปินนะคะ ที่เคยเข้ามาหลอกก็มีแค่คนที่มาหลอกขายบัตรคอนเสิร์ต โอนเงินแล้วสุดท้ายก็ไม่ได้บัตร แต่เราก็จะจำชื่อเขาไว้ค่ะ แล้วก็ช่วยกันระวัง” จุ๊บเผยเบื้องลึกเบื้องหลังให้ฟัง
       
       
       ป่วยเกาหลี... โรคติดต่อทางสังคม
       พูดถึงอาการคลั่งศิลปิน-ดาราทีไร ย่อมต้องมาพร้อมคำว่า “ป่วย” เสมอๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะถูกมองว่าสภาพจิตใจไม่ปกติ อย่างที่ พญ.วิรัลพัชร รัตนเสถียร เคยพูดถึงเอาไว้ว่าเป็นปรากฏการณ์ "Fan Club Mania" หรือ "อาการคลั่งดารา" นั่นเอง 
        
       
       “ภาวะ Fan Club Mania เกิดได้บ่อยในหมู่วัยรุ่น ถ้าเราจะพูดกันด้วยหลักทางจิตวิทยาพัฒนาการ ก็สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่วัยรุ่นรักหลงใครคนหนึ่งอย่างสุดหัวใจ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันเลยก็ได้ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการมองหาความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการหาอัตตลักษณ์ให้ตัวเอง 
       สำหรับเด็กชาย อัตตลักษณ์ของผู้ชายก็ต้องเข้มแข็ง อดทน แบบอาร์โนลด์คนเหล็ก แต่ถ้าอัตตลักษณ์ของต่างเพศ เด็กหญิงจะชอบผู้ชายที่นุ่มนวล น่ารัก เป็นมิตรกับผู้อื่น นิสัยดี อ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเด็กสาวๆ หลายคนถึงได้หลงใหล คลั่งไคล้ รู้สึกผูกพัน เดือดร้อนจนไม่เป็นอันกินอันนอนกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เขาชื่นชอบ
 
       แต่ถ้าพฤติกรรมนี้เริ่มเกินเลยนอกขอบเขตไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่ไปโรงเรียน มัวแต่ไปคอยดักตามเขาตลอดเวลา เข้าไปรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของคนที่คลั่งไคล้ หรือแม้กระทั่งรุนแรงจนกลายเป็น โรคของหลงผิดที่เรียกว่า "อีโรโตแมเนีย" (Erotomania) หรือ "โรคคลั่งคนดัง" 
 
       คิดไปว่าคนที่ตัวเองชอบ เขาก็มาชอบมาสนใจตัวเองด้วย หลงไปว่าเขายิ้มให้เป็นพิเศษ ส่งซิกแนลเพื่อนัดไปเจอกัน หรือคิดว่าเขาก็แอบหลงรักเราเช่นกัน แม้แต่คิดไปว่าเราควรจะเป็นของเขา และเขาก็ควรจะเป็นของเราเพียงคนเดียวเท่านั้นทุกชาติไป แต่จิตแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์บอกว่าโรคอีโรโตแมเนียในเมืองไทยเท่าที่ผ่านมา สามารถรักษาได้หายมากกว่าครึ่งแล้ว เพียงแต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการพาผู้ป่วยเหล่านี้มารับการรักษานั่นเอง
        
       
       ส่วนวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นคือ พ่อแม่ต้องยอมรับ เห็นใจ และเข้าใจลูกหลานของตัวเองให้ได้ก่อน จากนั้นให้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิด เป็นเพื่อนคู่คิดโดยยึดหลัก 5 ย. เพื่อให้ครอบครัวอยู่กันอย่างยั่งยืน นั่นก็คือ ต้องรู้จัก 1.ยกย่อง ซึ่งกันและกัน 2.ยินยอม บ้างในบางสถานการณ์ 3.ยืดหยุ่น บ้างตามโอกาส 4.รู้จัก แยกแยะ ถูกผิด และสุดท้าย 5.ยืนหยัด ในความถูกต้อง แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้”
        
       
       อีกหนึ่งมุมมองจากอดีตคนเคยคลั่งศิลปินเกาหลีอย่างอ้น เธอบอกว่า “สังคม” มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้เธอคลั่งไคล้ศิลปินเกาหลีอยู่พักหนึ่ง “เริ่มจากตอน ม.ปลาย เต้นคัฟเวอร์กับเพื่อนค่ะ เราก็เลยตามข่าวศิลปินบ้าง ตามไปดูคอนเสิร์ตบ้างอยู่ช่วงหนึ่ง แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย เลิกเต้นแล้ว มีเพื่อนกลุ่มใหม่ ก็เลยเริ่มเอาตัวออกมา เลยไม่ได้เป็นแฟนคลับขนาดหนักอย่างที่เพื่อนบางคนเป็นอยู่ค่ะ หนูว่าหลายคนติดเกาหลีเพราะเพื่อนค่ะ จะว่าไปแล้วก็เหมือนเป็นโรคติดต่อเลย (หัวเราะ)”
        
       
       เช่นเดียวกับจุ๊บ ผู้คลั่งไคล้เกาหลีระดับฟีเวอร์ตัวจริง ยอมรับว่าที่กลายเป็นแฟนคลับตัวยงอย่างทุกวันนี้เพราะเริ่มมาจากเพื่อนนี่เอง “ตอนแรกไม่รู้จักเลยค่ะ แต่โดนเพื่อนหลอกไป (หัวเราะ) บอกว่าไม่มีเพื่อน ให้ไปงานเต้นคัฟเวอร์เป็นเพื่อน พอไปถึง คนอื่นพูดเรื่องเกาหลีกัน เราคุยกับใครไม่รู้เรื่องเลย ก็เลยลองกลับมาดู มีน้องส่งคลิปรายการมาให้ บอกว่าคนนั้นชื่อนั้นชื่อนี้ เราก็ดูแล้วก็จำ ก็เห็นว่าเขาน่ารักเป็นธรรมชาติดีค่ะ ก็เลยเริ่มชอบ แล้วก็เริ่มตามแบบจริงๆ จังๆ มาจนถึงตอนนี้ 
        
       
       คนอื่นอาจจะมองว่าเราเป็น ติ่งเกาหลี แต่หนูก็ไม่ได้อะไรค่ะ รู้สึกตลกดีที่ถูกเรียกอย่างนั้น แต่เรารู้ตัวดีว่าเราไม่ได้ติ่ง ไม่ได้ไร้สาระขนาดนั้น เรารู้ลิมิตของเรา ไม่ได้เจอศิลปินแล้วกระโดดเข้าชาร์จ เราแค่คอย support เขา ตามไปดูไปให้กำลังใจเขาค่ะ คนอื่นอาจจะมองว่าหนูป่วยหรือเปล่า แต่หนูก็ว่าหนูปกติดีนะ 
       
       บางทีทฤษฎีของหมอก็ไม่สามารถเอามาตัดสินทุกคนบนโลกใบนี้ได้หรอกค่ะ หนูก็เหมือนคนที่มีความชอบอย่างอื่นนั่นแหละค่ะ คนอื่นอาจจะยอมซื้อบัตรแพงๆ เข้าไปดูฟุตบอล ซื้อโทรศัพท์ ซื้ออะไรที่เป็นวัตถุสนองตัวเอง แต่พวกหนูก็แค่เปลี่ยนมาซื้อความสุขทางใจ บางทีถ้าหนูไม่ได้ชอบเกาหลี หนูว่าหนูคงไม่เก่งภาษาอังกฤษเท่านี้ แต่เพราะชอบก็เลยหัดอ่านหัดเรียนค่ะ ความชอบของหนูไม่ได้เดือดร้อนใครและหนูก็ทำประโยชน์ให้ตัวเองได้ เพราะฉะนั้น อย่ามาตัดสินกันด้วยเรื่องแค่นี้จะดีกว่า” 
       
 
       
       ล้อมกรอบ
       “ติ่งเกาหลี” มาจากคำว่า “ติ่ง” หมายถึงทรงผมของเด็กมัธยม เป็นคำพูดที่ใช้เรียกแทนเด็กวัยรุ่นที่ทำตัวไร้สาระ สร้างความลำบากใจให้แก่ผู้อื่น เมื่อนำมารวมกับคำว่า “เกาหลี” จึงหมายความถึง แฟนคลับผู้คลั่งไคล้ศิลปินเกาหลีจนทำตัวไร้สติ ไร้สาระ สร้างความรำคาญหู รำคาญตา ลำบากใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น 
 
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X