ผลวิจัย ชี้ ออกกำลังก่อนมีรอบเดือน เสี่ยงเจ็บเข่า
2012-11-15 12:50:19
Advertisement
คลิก!!!
ออกกำลังกาย

ออกกำลังก่อนมีรอบเดือน เสี่ยงเจ็บเข่า (ไทยโพสต์)

          นักวิจัยออกคำเตือนสาว ๆ ทั้งหลายที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ว่า ควร ออกกำลังแต่น้อยในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนจะมา เพราะผลการวิจัยพบว่า ออกกำลังกายในช่วงนี้จะเพิ่มความเสี่ยงข้อเข่าบาดเจ็บมากขึ้น

          ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัส-ออสติน เปิดเผยว่า เส้นใยประสาทบริเวณรอบ ๆ หัวเข่าจะส่งสัญญาณประสาทมากเป็นพิเศษในระยะ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าการส่งสัญญาณประสาทที่ผิดปกตินี้ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของข้อต่อ และมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ข้อต่ออ่อนไหวต่ออาการบาดเจ็บ
   
          ปกติแล้วนักกีฬาหญิงมักจะบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าบ่อยกว่านักกีฬาชาย โดยเฉพาะอาการเข่าบิดในกีฬาอย่างฟุตบอล นอกจากนี้ผลการวิจัยชิ้นก่อน ๆ ยังเผยว่า ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเอ็นฉีกและประสบปัญหาเจ็บปวดเรื้อรังมากกว่าด้วย
   
          ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทดลองเพื่อทดสอบว่า ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงมีประจำเดือน จะส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อหรือไม่ โดยศึกษาจากกลุ่มอาสาสมัครอายุ 19 ถึง 35 ปี ซึ่งเป็นทีมนักกีฬาหญิงจากมหาวิทยาลัยเทกซัส-ออสติน และมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา

          นัก วิจัยเริ่มต้นการทดลองโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของอาสาสมัครทุกเช้า เพื่อคำนวณวงรอบประจำเดือน เพราะโดยปกติแล้วร่างกายของผู้หญิงจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นภายหลังจากร่างกายตก ไข่ และอุณหภูมิร่างกายจะลดลงสู่ระดับปกติ ก่อนหน้าที่จะเริ่มวงรอบประจำเดือนอีกครั้ง ส่วนระดับฮอร์โมนก็ขึ้นลงผันผวนเช่นเดียวกันระหว่างผู้หญิงมีประจำเดือน โดยระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน จะลดลงในสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีประจำเดือน
   


ปวดเข่า


          ในการทดลอง นักวิจัยได้วัดระดับกิจกรรมการส่งสัญญาณประสาทใน 5 จุดบริเวณหัวเข่าของเหล่าอาสาสมัคร โดยการสอดใส่เส้นลวดอิเล็กโทรดเข้าไปในกล้ามเนื้อหัวเข่าและคอยอ่านค่า เมื่อให้อาสาสมัครทำท่ายืดเข่าธรรมดา ซึ่งผลจากการตรวจวัดในอาสาสมัคร 7 คนก็พบว่า มีการส่งสัญญาณประสาทในกล้ามเนื้อหัวเข่าเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของวงรอบประจำเดือน
   
          หัวหน้าทีมวิจัย แมทธิว เทแนน ได้สรุปการวิจัยว่า วงรอบประจำเดือนได้ไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีการตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่อัตราการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดียังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปว่า ผลลัพธ์ที่ได้สอดคล้องกับอัตราการบาดเจ็บเข่าที่แตกต่างออกไปในช่วงอื่น ๆ ของวงรอบประจำเดือนหรือไม่

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X