ศาลชี้ ขสมก. ผิดปล่อยควันดำรอบกรุง-จี้ตรวจรถทุก 3 เดือน
2012-10-31 10:51:30
Advertisement
คลิก!!!


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ศาล ปกครอง ชี้ ขสมก. ผิดคดีละเลยให้รถเมล์ และรถร่วมปล่อยควันดำรอบกรุง ส่งผลให้มลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน หลังจากที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ยื่นฟ้องนาน 10 ปี จี้ตรวจรถทุก 3 เดือน เล็งฟ้องรถตู้ต่อ เนื่องจากใช้รถเก่ามาวิ่ง และปล่อยควันพิษเช่นกัน

          วันนี้ (30 ตุลาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดพิจารณาคดีดำหมายเลข 915/2549 กรณีที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ข้อหาละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่ โดยปล่อยให้รถเมล์ของ ขสมก. และรถร่วมเอกชน ปล่อยควันดำสร้างมลพิษ ในเขตพื้นที่ กทม. โดยถือเป็นการเปิดศาลพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากใช้ระยะเวลาการไต่สวนตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

          ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีดังกล่าว นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ได้เรียกให้ผู้ถูกฟ้องร้องคือ ขสมก. ซึ่งไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าพิจารณาคดี, นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน, ตัวแทนมูลนิธิป้องกันควันพิษ และตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เข้าฟังคำแถลงคดี

          สำหรับตุลาการ ได้แถลงคดีดังกล่าว โดยสรุปว่า ตามที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยื่นฟ้อง ขสมก. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ที่ผ่านมา ว่า ขสมก. ละเลยต่อหน้าที่โดยให้รถเมล์และรถร่วมปล่อยมลพิษควันดำ นอกจากนี้ ยังได้ยื่นฟ้องต่อ คพ. ว่าละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้ดำเนินการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบภาวะมลพิษ ไม่ให้เกินมาตรฐานกำหนด

          แต่ทั้งนี้ ทางศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาคดีดังกล่าว เมื่อปี 2549 โดยระบุว่า ขสมก. มีความผิดจริง และมีคำสั่งให้ ขสมก. ดำเนินการตรวจสอบมลพิษจากรถเมล์ และรถร่วมเอกชน พร้อมส่งมอบการตรวจสอบกับทางศาลทุก 3 เดือน ส่วนทาง คพ. ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ซึ่ง ขสมก. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่  อ.914 - 917/2549 นั้น

          ล่า สุดในวันนี้ (30 ตุลาคม) ศาลปกครองสูงสุด ได้พิจารณาตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นแล้วว่า ขสมก. มีความผิด ละเลยปล่อยให้รถเมล์ และรถร่วมเอกชนปล่อยควันดำ ทั้ง ๆ ที่ ทาง ขสมก. ต้องติดตามและดูแลปัญหาดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ส่วนทาง คพ. ที่ถูกฟ้องว่าละเลยในการติดตามตรวจสอบปัญหาทางมลพิษ ทั้งทางด้านอากาศ น้ำเสีย และขยะ ตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พบว่า ทาง คพ. ไม่ได้ละเลยหน้าที่แต่อย่างใด จึงได้ยืนยันตามคำพิพากษาเดิม 

          ส่วนทางด้าน นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนพอใจกับการพิจารณาคดีในครั้งนี้ เพราะการที่ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม ก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสที่จะชนะคดีที่รอคอยมานานนับ 10 ปี ทั้งนี้ คาดว่าอีก 1 เดือน ทาง ขสมก. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบังคับคดีของศาลปกครอง กล่าวคือ ขสมก. จะต้องตรวจสภาพรถทุกคันไม่ให้มีควันดำออกสู่บรรยากาศ ทุก ๆ  3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเดิมเมื่อหลายปีก่อน คือ ขสมก. มีรถเมล์ราว 14,700 คัน คาดว่าขณะนี้น่าจะมีจำนวนมากขึ้นพอสมควร

          นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับ การปล่อยควันดำนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของ กทม. อย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับเรื่องการร้องเรียนกับปัญหารถเมล์ที่ด้อยคุณภาพ หรือการร้องเรียนในด้านอื่น ๆ ที่มีมากขึ้นด้วย ส่วนรายต่อไปที่ทางสมาคมฯ กำลังพิจารณาฟ้องร้องก็คือ รถตู้เอกชน และรถตู้ร่วมกับ บขส. เพราะมีปัญหาเรื่องรถตู้มีสภาพเก่าและปล่อยควันดำนับพันคันวิ่งเต็มพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เต็มไปหมด อีกทั้งยังพบว่า ปล่อยมลพิษแซงหน้ารถเมล์เสียอีก

          อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีฟ้องร้อง ขสมก. และ คพ. นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 หลังจากมีรายงานปัญหามลพิษควันดำจากรถเมล์ เนื่องจาก ขสมก. นำรถเมล์เก่ามาใช้วิ่ง และทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จนปล่อยควันดำออกมาสูง ส่งผลให้ค่าของฝุ่นละอองในเขต กทม. เกินค่าที่มาตรฐานเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม มาตรการแก้ปัญหาแรกก็คือการตั้งจุดตรวจควันดำ หากรถคันไหนที่มีควันดำก็จะพ่นสีใส่ตัวรถว่า "ห้ามใช้เด็ดขาด" หรือ "ห้ามใช้ชั่วคราว" แต่ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวได้ยกเลิกใช้ไปหลายปีแล้ว เนื่องจากทาง คพ. ไม่มีอัตราเจ้าหน้าที่ไปดูแลปัญหาดังกล่าว

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X