กระดูกคอเสื่อม ภาวะตามวัยที่คุณก็เลี่ยงได้
2012-10-23 13:02:25
Advertisement
คลิก!!!

 

ปวดคอ

 

กระดูกคอเสื่อม (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาซานานุภาพ

          กระดูกคอ หมายถึง ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอของคนเรา เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะมีการเสื่อมไปตามวัย เนื่องจากการสึกหรอของข้อกระดูกจากการใช้งานในการเคลื่อนไหวคอ ผู้ที่ตรวจพบจากการถ่ายภาพรังสีคอ ว่ามีความเสื่อมของกระดูกคอ ส่วนมากมักจะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่มีอาการ เช่น ปวดคอ คอเกร็งแข็ง การรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด ก็มักจะทุเลาไปได้ ส่วนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการกดทับรากประสาท เกิดอาการปวดร้าวลงแขน ก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

           ชื่อภาษาไทย : กระดูกคอเสื่อม

           ชื่อภาษาอังกฤษ : Cervical spondylosis

สาเหตุ

          เกิดจากกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ส่วนคอมีการเสื่อมตามอายุ ทำให้ผิวข้อกระดูกสันหลังมีหินปูน หรือปุ่มงอก (osteophyte) ประกอบกับหมอนรองกระดูกมีการเสื่อมและบางตัวลง ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อต่อแคบลง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย และอาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะรุนแรงจนถึงขั้นมีการกดถูกรากประสาท หรือไขสันหลัง ทั้งนี้ ผู้ที่เคยมีประวัติบาดเจ็บที่บริเวณคอมาก่อน อาจมีส่วนกระตุ้นให้กระดูกเสื่อมมากขึ้น

อาการ

          ผู้ป่วยที่มีกระดูกคอเสื่อมส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการถ่ายภาพรังสี ขณะตรวจเช็กสุขภาพ (การถ่ายภาพรังสีที่บริเวณคอในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักพบว่ามีการเสื่อมของกระดูกคอเป็นส่วนใหญ่) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยต้นคอเป็นครั้งคราว บางครั้งอาจปวดนานเป็นแรมเดือนแล้วค่อย ๆ ทุเลา ๆ ไป หรืออาจมีอาการปวดคอเรื้อรัง

          ในรายที่มีการกดถูกรากประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอ คอแข็ง และมีอาการปวดร้าว เสียว ๆ แปลบ ๆ และชาลงมาที่ไหล่ แขนและมือ ซึ่งมักจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง(ส่วนน้อยที่อาจเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) อาการจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหวคอในบางท่า เช่น แหงนหน้ามองที่สูง ก้มเขียนหนังสือ ใช้ภาษากายในการสื่อสาร (สั่นศีรษะ พยักหน้า) เป็นต้น และเมื่อปรับคอให้อยู่ตรง ๆ อาการปวดจะทุเลาหรือหายไป

          บางรายอาจมีอาการเดินโคลงเคลง เสียการทรงตัว หรืออาจมีอาการบ้านหมุนชั่วขณะเวลาเงยศีรษะไปข้างหลัง




กระดูกคอเสื่อม

การแยกโรค

          อาการปวดต้นคอ หรือคอเกร็งแข็ง เคลื่อนไหวลำบากอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

           คอเคล็ดยอก การเคล็ดยอกของกล้ามเนื้อคอ อาจเกิดจากการเคลื่อนไหวคอผิดท่า (เรานิยมเรียกว่า อาการตกหมอน) ผู้ป่วยจะหันคอไปข้างหนึ่งได้เป็นปกติ แต่จะหันไปอีกข้างลำบาก เพราะเกิดอาการปวดเกร็ง มักเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน ก็จะค่อย ๆ ทุเลาได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ยา หรือการนวดประคบให้กล้ามเนื้อคลายตัว

           เนื้องอกไขสันหลัง ถ้าเกิดที่บริเวณคอก็มักจะมีอาการปวดคอ และร้าวลงแขน แขนอ่อนแรง

           เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงตลอดเวลา อาเจียนบ่อย ซึม ก้มคอไม่ได้ (คอแข็ง) มักมีไข้สูงร่วมด้วย หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

           ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการ ส่วนน้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการปวดมึน ตรงบริเวณท้ายทอย มักจะเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง

การวินิจฉัย

          แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการปวดคอเรื้อรัง และจะชัดเจนขึ้นในรายที่มีอาการปวดร้าวลงแขนจากรากประสาทถูกกดทับ

          ในการยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง อาจจำเป็นต้องทำการถ่ายภาพกระดูกคอด้วยรังสี หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นอกจากนี้ อาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ถ่ายภาพรังสีไขสันหลัง โดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography) ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG)

การดูแลตนเอง

          เมื่อมีอาการปวดคอเรื้อรัง คอเกร็งแข็ง หรือมีอาการปวดร้าวลงแขน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ หากแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นกระดูกคอเสื่อมก็ควรให้การดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และถ้ามีอาการปวดคอ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

           กินยาแก้ปวดบรรเทาเป็นครั้งคราว

           ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ หรืออาบน้ำอุ่นทุกวัน

           ใส่ปลอกคอช่วยพยุงคอ อาจบรรเทาอาการได้

           หมั่นตั้งคอตรง

           ออกกำลังด้วยการเดิน (หลีกเลี่ยงการวิ่งเหยาะ หรือออกกำลังที่มีการสะเทือนต่อกระดูกคอ)



กระดูกคอเสื่อม

การรักษา

          แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรง

          ถ้าอาการไม่มาก อาจให้ยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล ไอบูโทรเฟน) และยาคลายกล้ามเนื้อ (ถ้ามีอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อคอ) ให้ผู้ป่วยใส่ปลอกคอ ฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง (แนะนำท่าบริหารโดยแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด) ประคบคอด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ออกกำลังกายด้วยการเดิน

          ในรายที่พบว่า มีการกดทับรากประสาท (มีอาการปวดร้าวลงแขน) ที่ไม่รุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการใช้น้ำหนักดึงคอ (traction) เพื่อลดแรงกดต่อรากประสาท นาน 1-2 สัปดาห์

          ในบางราย แพทย์อาจทำการฉีดยาสตีรอยด์เข้ารอบ ๆ ข้อและรากประสาท เพื่อลดการอักเสบและแก้ปวด ถ้าเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีการกดรากประสาทหรือไขสันหลังอย่างรุนแรง แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อขจัดการกดทับ และป้องกันมิให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน

          ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจมีการฝ่อตัวและการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณแขนและมือ ถ้าหากมีการกดทับของไขสันหลัง ก็อาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ทำให้ถ่ายหรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้

การดำเนินโรค

          ถ้าเป็นไม่มาก อาการปวดอาจทุเลาไปได้เอง หรือหลังได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

          บางรายอาจมีอาการปวดคอเรื้อรัง และถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมาได้ 

          ในรายที่เป็นมาก หลังการผ่าตัด อาการปวดจะทุเลา และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อน (เช่น แขนขาอ่อนแรง) หากเป็นอยู่นาน ก็อาจไม่ทุเลาหลังผ่าตัด



กระดูกคอเสื่อม
 
 
 
 
 
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

 


การป้องกัน

          แม้ว่าโรคกระดูกคอเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามวัย แต่เราก็อาจลดความเสี่ยงลงได้ ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

           ออกกำลังกายเป็นประจำ

           ถ้ามีอาการปวดคอ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีการกระเทือนต่อกระดูกคอ เช่น วิ่งเหยาะ

           ฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นคออย่างสม่ำเสมอ

           พักคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างขับรถ ดูโทรทัศน์ หรือเล่นคอมพิวเตอร์ (ไม่ควรให้ศีรษะอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันนาน ๆ )

           หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต้นคอ โดยการใช้เข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ

ความชุก

          ภาวะกระดูกคอเสื่อม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ เริ่มพบได้ในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการ (ทราบจากการตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี)

          มักมีอาการปวดคอ เมื่ออย่างเข้าสู่วัยกลางคน หรือสูงอายุ
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X