ชาวบ้านร้อง สวนกล้วยนายทุนจีน สูบน้ำใช้จนแม่น้ำอิงแห้ง สำรวจสวนสารเคมีหึ่ง!!
2016-03-28 19:21:44
Advertisement
คลิก!!!

นายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาได้มีเอกชนจากประเทศจีน เข้ามาประกอบการปลูกสวนกล้วยหอมในพื้นที่ 2 หมู่บ้านของ ต.พญาเม็งราย อ.พญาเม็งราย รวมเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ โดยใช้วิธีการเช่าจากเอกชนไทยอีกต่อหนึ่งสัญญาเช่านาน 9 ปี ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการเช่าไม่ใช่เจ้าของที่ดินจึงสามารถทำได้ โดยตลาดที่จะส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ประเทศจีนและไม่ได้นำมาขายในประเทศไทยเลย ปัจจุบันมีการสร้างโรงงานเตรียมบรรจุหีบห่อเอาไว้ภายในเรียบร้อยแล้ว 

 

 

นายภูเบศร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมาเกิดกรณีชาวบ้าน อ.พญาเม็งราย และ อ.ขุนตาล ได้ร้องเรียนว่าเอกชนรายดังกล่าวมีการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงจนทำให้แม่น้ำแห้งและส่งผลกระทบต่อการเกษตร ดังนั้นในฐานะฝ่ายปกครองจึงได้มีการจัดประชุมทุกฝ่ายตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้วแม้จะพบว่าสภาพของแม่น้ำอิงจะเหือดแห้งทุกฤดูแล้งและการสูบน้ำจากเอกชนรายดังกล่าวก็คงจะไม่มีผลมากนักก็ตาม แต่ก็พบว่ามีการต่อท่อ 6 นิ้วจากแม่น้ำเพื่อสูบน้ำไปเก็บไว้ในสวนกล้วยจำนวน 4 บ่อ ทำให้ทางอำเภอพิจารณาแล้วอาศัยอำนาจการเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนสั่งระงับการให้สูบน้ำดังกล่าว และได้แนะนำให้ใช้การขุดบ่อบาดาลแทนกระทั่งปัจจุบันเอกชนพึ่งจะทำการขุดเชื่อว่าจะสามารถนำน้ำมาใช้ภายในสวนกล้วยในเร็วๆ นี้ต่อไป

 

"ทางอำเภอพยายามแก้ไขปัญหาให้ทุกฝ่ายอย่างยุติธรรมเพราะจะไปเห็นแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่ก็ต้องแก้ไขความกังวลของชาวบ้านส่วนการแก้ไขปัญหาก็ต้องมองแบบภาพกว้างเนื่องจากโลกปัจจุบันคือการเชื่อมโยงกันด้านการค้าการลงทุน เมื่อเราเปิดให้เอกชนเข้าไปลงทุนแล้วเขาสนใจเข้ามาลงทุนจริงๆ กลับไม่ได้รับความสะดวกก็อาจเกิดปัญหาได้ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายปกครองก็มีหน้าที่ในการดูแลประชาชนก็ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ" นายภูเบศร์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ว่า แปลงปลูกกล้วยหอมของบริษัท Hongtar International Thailand จำกัด ซึ่งเป็นของนักธุรกิจชาวจีน ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ริมแม่น้ำอิงบริเวณวังดินแดง ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 2,700 ไร่ ทำการปลูกกล้วยหอมไปแล้วกว่า 1,000 ไร่ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าบริเวณที่ทางบริษัทขุดเจาะเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำอิงนั้น เป็นบริเวณท้องน้ำที่ลึกที่สุดของแม่น้ำอิง และอยู่ไม่ไกลจากเขตสงวนพันธุ์ปลาของชุมชน ทั้งนี้ ได้มีการถอดหัวสูบน้ำทั้ง 4 จุดออกไปแล้ว แต่ยังเหลือท่อน้ำขนาด 6 นิ้วที่ลำเลียงน้ำไปยังสวนกล้วย

 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำยังไม่เป็นที่ไว้ใจของชุมชน จึงได้มีการผลัดเปลี่ยนเวรยามไปสังเกตการณ์เป็นระยะ ขณะเดียวกันพื้นดินบริเวณสวนกล้วยยังคงชุ่มชื้นเนื่องจากภายในบริเวณดังกล่าวยังมีน้ำสำรองที่บริษัทขุดบ่อเอาไว้ โดยต้นกล้วยหอมเกือบทั้งหมดอยู่ในช่วงที่กำลังออกเครือและบางส่วนกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งน่าสังเกตว่า กล้วยหอมแต่ละเครือมีขนาดใหญ่โดยจำนวนหวีมากราว 8-10 หวี เนื่องจากมีลำต้นที่อุดมสมบูรณ์มากโดยมีใบสดเขียวขจีไปทั้งสวน โดยเมื่อเดินเข้าไปกลางสวนกล้วยได้กลิ่นสารเคมีและมีการทิ้งขวดยากำจัดศัตรูพืชกองไว้ในบางจุด นอกจากแปลงกล้วยที่กำลังออกผลแล้ว ยังมีแปลงเพาะปลูกกล้วยอีกผืนใหญ่ที่เพิ่งปลูกและต้องการน้ำสม่ำเสมอ

 

ด้านนายเลื่อน ผิวผ่อง กำนันตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่หนักกว่าปีก่อนๆโดยน้ำในแม่น้ำอิงแห้งลงไปมาก โดยเมื่อวันที่ 27 ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันซ่อมแซมฝายเพื่อกักเก็บน้ำไปใช้ และทุกๆวันจะมีรถมาสูบน้ำเพื่อไปใช้ทำน้ำประปาเพราะแหล่งน้ำจืดเดิมแห้งหมด แต่ที่ผ่านมาสวนกล้วยกลับสูบน้ำไปใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้น้ำในแม่น้ำอิงยื่งแห้งหนักขึ้นไปอีก ในที่สุดชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมและนายอำเภอได้เชิญทุกฝ่าย มาร่วมกันประชุมซึ่งที่ประชุมมีมติห้ามบริษัทฯสูบน้ำในแม่น้ำอิงขึ้นไปใช้

 

 

“ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่าทำไมน้ำในแม่น้ำอิงถึงแห้งขนาดหนัก ก็เลยช่วยกันไปไล่ดูตามจุดต่างๆ เราถึงได้รู้ว่าทางสวนกล้วยหอมสูบน้ำไปใช้อย่างหนัก ตอนแรกที่ได้ยินข่าวว่ามีการปลูกกล้วยหอม ชาวบ้านก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าคงเหมือนปลูกกล้วยทั่วๆไป จนกระทั่งมีคนมาเล่าว่าจีนไปลงทุนปลูกที่ฝั่งลาวกันมาก ใช้ยากันขนาดหนักจนกระทั่งบางแขวงห้ามปลูกกล้วยหอมอีก เขาเลยมาลงทุนที่นี่ ถือว่าเป็นแห่งแรกของไทยที่จีนมาปลูกกล้วยหอม เราก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้มีสารเคมีไหลลงแม่น้ำอิงหรือไม่ เพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐมาตรวจสอบ แต่ตัวแทนบริษัทบอกในที่ประชุมว่าไม่ได้ใช้ยาเยอะเหมือนฝั่งลาว เพราะฝั่งลาวแมลงเยอะ”นายเลื่อนกล่าว

 

นายเลื่อน กล่าวว่า พื้นที่ที่ปลูกกล้วยครั้งนี้แม้อยู่อีกอำเภอหนึ่งนอกเขตความรับผิดชอบของตน แต่ชาวบ้านบ้านต้าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญคืออยู่ท้ายน้ำต่อจากสวนกล้วย เพราะฉะนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบเพราะเท่าที่ฟังในที่ประชุมฝ่ายสาธารณะก็เล่าให้ฟังว่าพบผู้ที่ป่วยมีอาการระคายผิวและมือเป็นเชื้อราหลายรายโดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างของสวนกล้วยหอม ต้นกล้วยตายกับคนกำลังจะตายตรงไหนสำคัญกว่ากัน เราสูบน้ำไปใช้ในครัวเรือนทั้งสิ้น แต่เขาสูบขึ้นไปใช้รดต้นกล้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก ตอนนี้เห็นว่าจะขุดบ่อบาดาลสูบน้ำมาใช้รดกล้วยอีก เราก็ไม่เห็นด้วย เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านก็ได้อาศัยบ่อบาดาล หากเขาสูบไปใช้ก็เท่ากับดึงน้ำใต้ดินจากชาวบ้านไปอีก การขุดบ่อบาดาลจึงควรมีการควบคุม

 

ที่มา  ข่าวสดออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X