วัยรุ่นฮิตกินยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลม แพทย์ชี้เสพมากอาจถึงตาย
2013-08-29 15:31:40
Advertisement
คลิก!!!

 

       ระบาดหนัก วัยรุ่นฮิตเสพยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลม เตือนผู้ปกครองควรเฝ้าระวังพฤติกรรมลูก ด้าน สสจ. สมุทรปราการ เร่งหามาตรการควบคุมยาแก้ปวดดังกล่าว

          วันที่ 27 สิงหาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสมหญิง (นามสมมติ) ผู้ปกครองของเด็กชายสมพงษ์ (นามสมมติ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร้องเรียนทางสาธารณสุขเพื่อร่วมกันหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาด กรณียาแก้ปวดผสมน้ำอัดลมมีฤทธิ์คล้ายยาเสพติด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของเด็กวัยรุ่นในสถานศึกษา

          ทั้งนี้ นางสาวสมหญิง เล่าว่า ตน สังเกตว่าพฤติกรรมของลูกชายเปลี่ยนไป คือ นอนมากกว่าปกติ ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว รับประทานอาหารน้อยลง จนกระทั่งวันหนึ่งตนพบลูกชายนอนน้ำลายฟูมปากอยู่ในห้อง เหงื่อท่วมตัว ลืมตาไม่ขึ้น พูดจาไม่รู้เรื่อง มีอาการเมา ตนจึงนำตัวลูกชายไปอาบน้ำ จนอาการดีขึ้น ลูกชายจึงรับสารภาพว่า ทานยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลม และซื้อยาดังกล่าวจากร้านขายยาแห่งหนึ่ง สามารถซื้อได้มากที่สุดจำนวน 90 เม็ด ราคาเม็ดละ 2-4 บาท โดย รุ่นพี่ชั้น ม. 4 โรงเรียนเดียวกันแนะนำให้ลองเสพ ซึ่งบอกว่าเสพแล้วจะมีความสุขเหมือนลอยตัวได้ และหากต้องการให้ยาออกฤทธิ์เร็วต้องกินผสมกับน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
 
          ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ยาแก้ปวดดังกล่าวจัดเป็นยาอันตรายกลุ่ม โอปิออยด์ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง โครงสร้างทางเคมีคล้ายมอร์ฟีน โคเดอีน จึงทำให้มีผู้นำยาแก้ปวดดังกล่าว ไปใช้ในทางที่ผิด คือ นำไปผสมยานอนหลับ หรือยาชนิดอื่น ๆ และน้ำอัดลม เพื่อหวังให้ยาออกฤทธิ์คล้ายยาเสพติด นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบผู้เสียชีวิตจากการเสพยาดังกล่าวในต่างประเทศด้วย

          ส่วน ผลข้างเคียงจากการเสพยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลม ได้แก่

             มึนงง เซื่องซึม

             หายใจติดขัด

             คลื่นไส้ อาเจียน

             ปวดศีรษะ

             เห็นภาพหลอน, ประสาทหลอน

             กล้ามเนื้อหดเกร็ง

             ช็อก อาจหมดสติ

             เสียชีวิต

          อย่างไรก็ตาม นพ.อัษฏางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ยาแก้ปวดชนิดนี้มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีอาการปวดขั้นรุนแรง เช่น ปวดประจำเดือน ปวดตามข้อ เป็นต้น จึงยังไม่ประกาศยกระดับเป็นยาควบ คุม แต่ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือให้เภสัชกรให้เฝ้าระวัง คัดกรองผู้ซื้อยาแก้ปวดชนิดดังกล่าวไม่จำหน่ายในปริมาณที่มากเกินควร และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ซื้อยาด้วย และทางสาธารณสุขจะลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง
 

 

 

 
 
 
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X