ข่าวดี “ใจกลางทางช้างเผือก”จะปรากฏทุกย่ำรุ่งตลอดเดือนกพ.ฟ้าทิศตะวันออก มองเห็นทั่วไทย
2016-02-06 16:59:50
Advertisement
คลิก!!!

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ในช่วงรุ่งเช้าตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป จะสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.30 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มีดาวศุกร์สว่างปรากฏบริเวณด้านซ้ายของใจกลางทางช้างเผือกอีกด้วย หลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยังจะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแนวทางช้างเผือกจะโผล่พ้นขอบฟ้าเร็วขึ้น ปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าขึ้นไปเรื่อยๆ แนวทางช้างเผือกจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางปรากฏเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า จนในช่วงปลายเมษายนจะสามารถเห็นแนวทางช้างเผือกได้ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน ทำให้มีเวลาชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น

“ใจกลางทางช้างเผือก(Galactic Center) คือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมายเช่น ดาวฤกษ์ กระจุกดาว รวมทั้งเนบิวลาอีกด้วย ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความสวยงาม เราจะเห็นทางช้างเผือกพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ นับเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเรามองจากโลก ใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ ไม่สูงมากนัก และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ ทำให้ทางตอนใต้ของไทย มีโอกาสสังเกตใจกลางทางช้างเผือกได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ จะมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ และสูงจากมวลอากาศบริเวณขอบฟ้า ทำให้ผู้คนในแถบภาคใต้สามารถสังเกตทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน”นายศุภฤกษ์ กล่าว

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ปลายเมษายน-ต้นตุลาคม เพราะสามารถเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ และอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน แต่ก็มักมีอุปสรรคในเรื่องเมฆฝน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน แต่หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนในช่วงเดือนดังกล่าวจะถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือก หลังจากนั้นในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อุปสรรคเรื่องเมฆฝนจะเริ่มน้อยลง จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ตลอดทั้งปี ปัจจัยหลักสำคัญได้แก่สภาพท้องฟ้า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี ไม่มีแสงรบกวนทั้งแสงจากดวงจันทร์ แสงไฟจากเมือง ก็จะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้คนในเมืองส่วนใหญ่มักไม่มีโอกาสได้ชมทางช้างเผือก เนื่องจากในตัวเมืองมีแสงไฟและฝุ่นละออง ควัน เป็นจำนวนมาก ทำให้ทัศนวิสัยของฟ้าที่ในเขตเมืองไม่เอื้อต่อการสังเกตเห็นทางช้างเผือก หากต้องการสัมผัสทางช้างเผือกก็จำเป็นต้องไปยังสถานที่ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X