สงครามซามูไร
2015-06-20 13:35:13
Advertisement
คลิก!!!

เรื่องแนวคิดหรือจินตนาการในการครีเอทอาหาร คงไม่มีใครเกิน ชเล วุทธานันท์ เจ้าพ่อพาซาย่า เป็นแน่ อาหารแต่ละเมนูที่เขาจัดเตรียม เพื่อเลี้ยงแขกคนสำคัญ จึงต้องมีสตอรี่ชนิดที่คนกินนึกไม่ถึงเลยทีเดียว อาทิ สลัดรวมชาติ AEC, เป๋าฮื้อเทมปุระ, ซุปเฮยหลงเจียง, ซูชิโกโบริ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากจิตวิญญาณของคนที่ชอบจินตนาการเช่นเขา และวันนี้ผู้เป็นลูกชาย ไนล่อน–ปฏิกรณ์ วุทธานันท์ ก็พยายามเลียนแบบคุณพ่อบ้าง โดยนำเมนู สงครามซามูไร มาท้าประลอง

ราดด้วย "ซอสงาขาว"


ไนล่อนเล่าว่า เขาก็เหมือนเด็กที่ไปเรียนเมืองนอกทั่วๆไป ที่ต้องหัดทำอาหารให้เป็น เพื่อเป็นวิทยายุทธ์ช่วยไม่ให้อดตาย โดยเรียนรู้เอาจากคุณพ่อ ที่ทำอาหารเก่งมาก อย่างเมนู “สงครามซามูไร” ที่ผมนำเสนอวันนี้ ก็เกิดจากจินตนาการของคุณพ่อ เล่าให้ผมฟังว่า ทำไมถึงต้องเป็นสงครามซามูไร เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาตั้งแต่อดีตกาลกว่า 1,500 ปีที่แล้ว แต่จากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะและภูเขาสูง ทำให้การแพร่กระจายของวัฒนธรรมเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ทางตะวันตกของประเทศซึ่งเรียกว่าคันไซ หรือด่านตะวันตก ตั้งแต่เกียวโต โอซากา ถึงโกเบ เป็นศูนย์อำนาจเก่าที่เปิดรับอารยธรรมจากจีนที่หลั่งไหลเข้ามา

จี่เนื้อหมูสามชั้นโดยใช้ไฟอ่อนๆ


ส่วนคันโต หรือด่านตะวันออก เป็นเขตเจริญใหม่หลังสมัยคามาคูระ ซึ่งเริ่มขึ้นราว 800 ปีที่ผ่านมา โดยมีโตเกียวเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นในยุคนี้ปลีกตัวออกจากจีนและหันมาพัฒนา “ความเป็นญี่ปุ่น” ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างแท้จริง การต่อสู้ระหว่างขุนศึกตะวันออกและตะวันตกจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คันไซนั้นเป็นตัวแทนของอำนาจเก่าที่มีกลิ่นอายอารยธรรมจีน ในขณะที่คันโตมีความเป็นญี่ปุ่นที่ดิบๆ ดุๆ อย่างสมบูรณ์แบบเมนู “สงครามซามูไร” จานนี้ จึงมีที่มาดังกล่าวข้างต้น โดยด้านขวามือของจานจะเป็นตัวแทนของคันไซ ซึ่งแทนด้วยหมูสามชั้น (แบบที่คนจีนชอบ) ด้านซ้ายมือเป็นตัวแทนของคันโต เป็นหมูสันในต้มไม่ติดมัน หากต้องการเครื่องเคียงให้ใช้หัวไช้เท้าดิบขูดเป็นเส้นฝอย หรือหัวไช้เท้าดองเค็มก็ได้

จี่เนื้อหมูสามชั้นทั้งสองด้านจนสุก


เครื่องปรุงสำหรับ 2 ท่าน : เนื้อหมูสามชั้นหั่นชิ้นพอดีคำ หรือหมูสามชั้นรมควัน 100 กรัม / เนื้อหมูสันในไม่ติดมัน (สันนอกก็ได้ถ้าชอบเหนียวหน่อย) 100 กรัม / ผักโขมหรือผักปวยเล้ง กำเล็กไม่เกิน 100 กรัม / หัวไช้เท้าดิบขูดฝอย จำนวนไม่เกินถ้วยน้ำจิ้มต่อหนึ่งที่ / ซอสงาขาวญี่ปุ่นแบบข้น หรือ โกะมะดาเระ 2–3 ช้อนโต๊ะ : 1 จาน / โชยุหรือซีอิ๊วญี่ปุ่น ผสมวาซาบิ 2 ช้อนโต๊ะ : 1 จาน / ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ : 1 จาน

เนื้อหมูชั้นดี


วิธีทำ 1) จี่เนื้อหมูสามชั้นในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ ให้หอม ราดด้วย “ซอสงาขาว” ที่ใช้ทานกับชาบูชาบูญี่ปุ่น หากต้องการเครื่องเคียงให้ใช้ผักปวยเล้งต้มหรือผักโขมต้มบีบน้ำให้แห้งเหยาะซีอิ๊วจีน 2) นำเนื้อหมูสันในไปต้มให้สุกแล้วราดโชยุข้น ที่ใช้จิ้มปลาดิบซาชิมิ แล้วใส่วาซาบิให้เข้มข้น 3) เสิร์ฟในจานสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบญี่ปุ่น โดยจัดวางเนื้อหมูแต่ละอย่างไว้คนละด้านของจาน แล้วแบ่งเส้นคั่นสองฝั่งด้วยซอสมะเขือเทศ ประหนึ่งเป็นสีแห่งการสู้รบ ใช้ไม้จิ้มฟันปะด้วยกระดาษทำเป็นธงของแต่ละฝ่ายเมื่อท่านได้ชิมจะตัดสินได้เองว่า ใครเป็นฝ่ายชนะ คันโตหรือคันไซ??

 

ขอขอบคุณที่มา  ไทยรัฐออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X