‘อียู’แจกใบเหลืองสินค้าประมงไทย ขีดเส้น 6 เดือนประเมินใหม่ หากถูกแดงกระทบส่งออก3หมื่นล้าน
2015-04-22 11:20:10
Advertisement
คลิก!!!

 

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ เรียกนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง และนายฉันทานนท์ วรรณเขจร ผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมด่วนรับมือกรณีสหภาพยุโรป(อียู) ออกประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการ ในเวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้อียู พิจารณาว่าสินค้าประมงไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม(ไอยูยู) ตามหลักเกณฑ์ของอียู


นายชวลิต กล่าวว่า สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำอียู ได้แจ้งให้รับทราบว่า อียูประกาศให้ใบเหลืองแก่สินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเข้าข่ายไอยูยู ตามหลักเกณฑ์ของอียู อย่างไรก็ตามการออกใบเหลืองอย่างเป็นทางการของอียูในครั้งนี้ จะยังไม่มีผลทันทีต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยไปตลาดอียู ซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 200,000 ตัน มูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากอียู จะให้เวลาประเทศไทยปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการทำการประมง เป็นระยะเวลา 6 เดือน 


“ในระหว่างนี้ อียูก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยเป็นระยะ ก่อนที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งในช่วงเดือนต.ค.นี้ ว่าจะประกาศถอดใบเหลือง หรือออกใบแดงห้ามไทยส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดไปอียู”


ทั้งนี้ ใบเหลืองที่อียูประกาศให้ไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากอียูไม่พอใจมาตรการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่เป็นผลจากการทำประมงของไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู ไปพร้อมๆกับแจ้งเตือนและทำความเข้าใจกับอียูอย่างต่อเนื่องใน 6 มตรการที่ไทยกำลังเดินหน้าอย่างจริงจัง ประกอบด้วย 1.การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 2.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) 4.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5.ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6. จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าไอยูยู


นายปีติพงศ์ กล่าวหลังการประชุมด่วนรับมือกรณีอียูออกใบเหลืองให้แก่สินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการว่า กระทรวงเกษตรฯ วางแผนเร่งรัด 6 มาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู ให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาให้ทันภายในเส้นตายระยะเวลา 6 เดือนที่อียูกำหนด หรือในช่วงประมาณเดือนต.ค.นี้ และเมื่อถึงเวลานั้นอียูจะพิจารณาไทยอีกครั้ง โดยอาจเป็นได้ 3 แนวทาง คือ การออกใบเขียว ยกเลิกการเตือนสินค้าประมง การออกใบแดงห้ามนำเข้าสินค้าประมงไทย ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือยืดเวลาให้ไทยแก้ปัญหาต่อไปอีก


“ผมสั่งการให้ใช้แผนเร่งรัดเดินหน้า 6 มาตรการ แก้ไขปัญหาไอยูยูที่ประกาศออกมาให้เร็วที่สุด และจะนำแผนเร่งรัดนี้รายงานให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบต่อไป นอกจากนี้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไอยูยู ที่มีรมวเกษตรฯ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรมช.คมนาคม ที่กำกับดูแลกรมเจ้าท่า ให้พิจารณาแนวทางการเร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยูร่วมกันต่อไป”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียูโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ระบุว่า ในปี 57 ไทยส่งออกสินค้าทะเลไปอียูปริมาณ 148,995 ตัน มูลค่า 26,292 ล้านบาท ในปี 56 ส่งออกปริมาณ 176,939 ตัน มูลค่า 31,072 ล้านบาท และปี 55 ส่งออกปริมาณ 189,904 ตัน มูลค่า 33,782 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ รมว.เกษตรฯ สั่งการให้มีการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงกรณีอียูออกใบเหลืองให้แก่ไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ด้วย

 

ขอขอบคุณที่มา  ข่าวสดออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X